Home > Art & Design > 4 ดีไซเนอร์ไทยผู้ต่อยอดจาก ‘ใยไหม’ สู่ ‘แฟชั่น’ บนรันเวย์

เป็นที่ทราบกันว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงส่งเสริมให้เกษตรกรทอผ้าพร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น ให้เป็นหน่วยงานที่ดูแลและสนับสนุนงานด้านหัตถกรรมการทอผ้าไหม ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เลี้ยงชีพที่มั่นคง และตระหนักรู้รักษามรดกของชาติไทยให้คงอยู่สืบไป

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความสำคัญของ ‘ผ้าไหมไทย’ ถูกมองเป็นของจับต้องยาก สวนทางกับกระแสแฟชั่นสมัยใหม่ กระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงได้ริเริ่มโครงการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยแบบ Ready to Wear ขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับนักออกแบบ ผู้ที่จะมาปลุกกระแสนิยมให้ฟื้นกลับมา ด้วยการรังสรรค์ผลงานดีไซน์จากผ้าไหมไทยให้เข้าถึงแฟชั่นนิสต้าทุกเพศทุกวัย นำโดยคุณประภากาศ อังศุสิงห์ ดีไซแนอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ HOOK’s by Prapakas, คุณเอก ทองประเสริฐ แห่งแบรนด์แบรนด์ Ek Thongprasert, คุณพลัฏฐ์ พลาฎิ จากแบรนด์ Realistic situation และคุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ฝีมือเฉียบแห่งแบรนด์ T-ra ที่พร้อมใจกันหยิบเอาผ้าไหมของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองจากภูมิภาคต่างๆ ของเมืองไทย มาผสานกับไอเดียสุดบรรเจิดของเหล่าดีไซเนอร์ ออกมาเป็นเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ เผยให้เห็นความงดงามของ ‘ผ้าไหมไทย’ อีกครั้ง จะงดงามแค่ไหนตามไปชมกันเลย

ประภากาศ อังศุสิงห์

หนึ่งในดีไซเนอร์ที่รังสรรค์ผลงานการออกแบบ สร้างสีสันให้กับวงการแฟชั่นไทยมาอย่างยาวนาน ภายใต้แบรนด์ HOOK’s by Prapakas ผู้ซึ่งคลุกคลีกับการทำงานดีไซน์จากผ้าไทยมาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ มองว่า นอกเหนือจากความงดงามอันประณีตบรรจงของผ้าไทย สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการสร้างทัศนคติที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดงานเกี่ยวกับผ้าไทย

“การทำงานเกี่ยวกับผ้าไทยมีทั้งความยากและง่าย ขึ้นอยู่กับโจทย์ของการดีไซน์แต่ละครั้ง แต่สุดท้ายแล้วดีไซเนอร์ต้องคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้งานออกมาดีที่สุด เพราะเรามีหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เป็นคนคลี่คลายให้ทุกคนเข้าใจว่า ผ้าไทยเป็นอะไรก็ได้ และการสวมใส่ผ้าไทยก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี”

สำหรับคอลเลกชั่นนี้ ประภากาศใช้เวลาในการทำงานเกือบ 2 เดือนเต็ม นำเสนอออกมาทั้งหมด 13 ลุค โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางท่องเที่ยว นำเสนอผ่านผ้าไหมไทยทอมือหลากชนิดที่เลือกมาจากผู้ผลิตผ้าไหมกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ก่อนนำมาประกอบและร้อยเรียงด้วยเทคนิค แต่งเติมรายละเอียดเฉพาะตัวของแบรนด์ HOOK’s by Prapakas ที่ผ่านประสบการณ์การออกแบบเสื้อผ้าสำหรับงานแสดงและคอนเสิร์ตมาอย่างยาวนาน ไมว่าจะเป็นการปัก ปะ ตัดต่อและการซ้อน ผสมผ้าหลายๆ ชนิดที่มีความแตกต่างของความหนาบางและผิวสัมผัสของผ้า ให้ออกมาแนบเนียนโยมีโจทย์ที่ว่า ‘ต้องสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน’

ในฐานะดีไซเนอร์ เราคิดแค่ว่า เราต้องออกแบบงานดีไซน์ เพื่อนำเสนอผลงานในหลากลหลายรูปแบบ ทำให้ทุกคนเห็นว่าผ้าไทยใส่ได้ในหลายโอกาส อยู่ที่ว่าใครจะชอบแบบไหน ? เพราะเราไม่สามารถบังคับความชอบของใครได้ แต่เราสามารถทำให้ผ้าไทยยังคงอยู่ และยังมีคนมองเห็นตลอดเวลา ไม่ให้หายไปไหน นี่แหละคือหน้าที่ของเรา คนทำงานดีไซน์

เอก ทองประเสริฐ

ด้วยภูมิหลังทั้งในด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และแฟชั่นดีไซน์ทำให้ ‘เอก ทองประเสริฐ’ ดีไซเนอร์แห่งแบรนด์ Ek Thongprasert ยังคงเอกลักษณ์ของงานลักษณะโครงสร้างและประติมากรรมบนเรือนร่างของมนุษย์ ความสนใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นจากทั่วทุกมุมโลกได้ทำให้เขาก้าวเข้าสู่การเริ่มต้นศึกษาและทำงานเกี่ยวกับผ้าไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาปฏิเสธมาโดยตลอด แต่เขากลับพยายามตีโจทย์เอกลักษณ์ของผ้าไทยที่โดดเด่นในเรื่องสีและลวดลาย จากรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมกระแสหลักกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ออกมาเป็นคอลเลกชั่นที่ใช้ชื่อว่า “บทสนทนาของคนต่างถิ่น”

“คอลเลกชั่นนี้ เกิดขึ้นจากการที่เราไปเดินเที่ยวตลาดไนซ์บาซ่าที่จังหวัดสุรินทร์ แล้วพบว่าไลฟ์สไตล์ของคนต่างจังหวัด ดูกลมกลืนกับผู้คนในเมืองมาก ทั้งๆ ที่แต่ละท้องถิ่นจะมีวัฒนธรรมแตกต่างและหลากหลาย แต่ทุกคนกับใช้ภาษากลาง รับประทานอาหารนานาชาติ ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมทุกคนถึงมีไลฟ์สไตล์ไม่ต่างกับคนเมือง จนเป็นที่มาของชื่อคอลเลกชั่น บทสนทนาของคนต่างถิ่นที่พยายามเชื่อมโยงวัฒนธรรมของชาวอีสานผนวกเข้ากับวัฒนธรรมคนเมือง เพราะเรายังไม่มีสะพานเชื่อมโยงความเป็นต่างจังหวัดกับเมืองให้เข้าใจกัน จะเห็นว่าวัฒนธรรมบางอย่างของคนต่างจังหวัด ชาวเมืองกรุงก็จะไม่เข้าใจ และบางส่วนก็ไม่ยอมรับ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่คนต่างจังหวัดจะพยายามปรับไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับความเป็นเมืองมากขึ้น เพื่อให้ได้รับการยอมรับ”

นอกจากนี้ยังมีการนำภาษาอีสานบางคำมาปักเป็นสีสันในละลุคด้วย ซึ่งเป็นคำที่คุ้นหูกันดี เช่น ‘เป็นจั่งได’ ‘สบายดีบ่’ หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมใหม่ที่ชาวอีกสานต่างยอมรับ นั่นก็คือโลโก้ของสโมสรฟุตบอลอย่าง ทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด สิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจนทุกคนเข้าใจและเข้าถึงได้โดยไม่ต้องตีความ

พลัฏฐ์ พลาฎิ

อีกหนึ่งนักออกแบบฝีมือดีจากแบรนด์ Realistic situation ผู้เคยร่วมงานกับห้องเสื้อชั้นนำ ‘ไข่บูติก’ ถ่ายทอดมุมมองการพัฒนาผ้าไทยให้ไม่หยุดนิ่ง ในฐานะเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแฟชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ‘พลัฏฐ์ พลาฎิ’ หลงใหลในอัตลักษณ์และคุณค่าของงานหัตถกรรมและภูมิปัญญาไทย ที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านพื้นถิ่น และได้ทำงานกับผ้าไทยมาโดยตลอดหลายปีในวงการแฟชั่น

“จริงๆ ผ้าไทยเป็นผ้าที่มีคุณค่า แต่ทำไมเราถึงไม่ได้หยิบมาใช้ในทุกๆ วัน หลายครั้งที่เราเห็น ผ้าไทยถูกเก็บไว้ในกล่องอย่างสวยงาม ด้วยความที่เราชอบผ้าไทยอยู่แล้ว จึงอยากให้ผ้าไทยมีสนุกกว่านั้น สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้ตัดเย็บเป็นชุดราตรี อีฟนิ่งเดรส ฯลฯ อยากจะตีโจทย์ของผ้าไทยให้กว้างกว่าเดิม อยากให้ทุกคนมองว่า การสวมใส่ผ้าไทยมีความผ่อนคลาย ไม่จำเป็นต้องงานทางการเท่านั้น”

ผลงานการออกแบบในคอลเลกชั่นล่าสุดนี้ พลัฏฐ์ได้นำเสนอชิ้นงานที่สื่อถึงวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันโดยถ่ายทอดผ่านผ้าไหม ที่ได้รับตรานกยูงพระราชทาน สีธรรมชาติเป็นหลัก สอดแทรกลวดลายตระการตาของผ้าไหมพิมพ์ลายจาก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มาใช้โดยก้าวข้ามขนบดั้งเดิมที่มีต่อผ้าไหมและการใช้ผ้าไหมผนวกกับ เอกลักษณ์ในด้านงานโครงสร้าง แพทเทิร์น และงานรูปแบบการตัดเย็บเทเลอร์สำหรับสุภาพบุรุษ ที่หลอมรวมไปกับลักษณะเสื้อผ้าของผู้หญิง อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Realistic Situation ออกมางดงามอย่างที่เห็นนั่นเอง

ปัจจุบันพลัฏฐ์เองได้ร่วมงานกับหน่วยงานของกรมหม่อนไหม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นสากล และร่วมสมัยแก่ผ้าไทย เขาเล็งเห็นว่าการมอบตรานกยูงพระราชทานแก่ผู้ผลิตนั้น เป็นการให้คุณค่าแก่วิชาชีพของผู้ผลิต รวมถึงเป็นการปลูกฝังให้ผู้ผลิตให้ความสำคัญต่อคุณภาพของชิ้นงาน ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวยืนยันคุณภาพและมาตรฐานแก่ผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง อย่างไรนั้นผ้าไทยสำหรับพลัฏฐ์ ใม่ใช่เพียง “มรดกทางวัฒนธรรม” ที่หยุดนิ่ง และมีไว้หวงแหน หากแต่เป็นสมบัติของชาติที่เป็นของคนไทยทุกคน ในแง่ของการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในวิถีชีวิตปัจจุบัน และสามารถต่อยอดต่อไปได้อีกในอนาคต

ธีระ ฉันทสวัสดิ์

หากย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชื่อของ ‘ธีระ ฉันทสวัสดิ์’ เจ้าของแบรนด์ T-Ra ถูกพูดถึงและชื่นชมในผลงานการออกแบบเป็นอย่างมาก ถือเป็นดีไซเนอร์ฝีมือฉกาจอันดับต้นๆ ของวงการแฟชั่นไทยเลยก็ว่าได้ ทุกคอลเลกชั่นของเขาล้วนเป็นที่น่าจับตามอง ด้วยความโดดเด่นของลวดลายผ้าที่รังสรรค์ขึ้นเอง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร จึงไม่แปลกที่ผลงานของเขาจะได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น

 “เหมือนตอนนี้คนทั่วไป ยังมองว่าผ้าไทยมีราคาแพง จับต้องยาก ผ้าไทยเชย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่แตะผ้าไทยเลย ในฐานะคนทำงานดีไซน์ พยายามนำความสวยงามที่เรามีรากเหง้าอยู่แล้ว มานำเสนอใหม่ แต่จะเริ่มต้นอย่างไร ? เป็นคำถามที่ฟังดูยาก ฉะนั้นจึงต้องลงพื้นที่ไปเรียนรู้กับชาวบ้านที่ทำงานเกี่ยวกับผ้าไทยเลย ถึงจะได้คำตอบทุกอย่าง”

แม้หลายความคิดอาจจะไม่ตรงกัน แต่การที่ได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานเกี่ยวกับผ้าไทยตั้งแต่ต้น ทำให้ มองเห็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข “เราเริ่มต้นด้วยการปฏิวัติเรื่องของทัศนคติใหม่ ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำออกมา ขายไม่ได้นะ ซึ่งก็มีชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือกับเรา และร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกัน เราจึงช่วยแนะนำตั้งแต่การย้อมสี แนะนำเฉดสีให้กว่า 80 เฉด ออกแบบลายผ้าใหม่ให้ ล่าสุดได้ไปจัดแสดงในงาน Tokyo International Gift Show ซึ่งก็ได้รับออเดอร์กลับมามากมาย เขาเริ่มเชื่อใจ ที่เราพาเขาออกมาจากจุดที่ขายของไม่ได้

ส่วนคอลเลกชั่นนี้ ธีระก็ใช้แรงบันดาลใจจากการทำงานคลุกคลีกับกลุ่มผู้ผลิตผ้าต่างๆ มาครีเอตเป็นผลงาน โดยนำความท้าทายของการใช้สีสัน และออกแบบลายผ้า มาใช้ในการทำงาน เขาใช้ผ้าย้อมสีธรรมชาติ จากหลากหลายพื้นที่ ซึ่งรวมถึงผ้าย้อมสีธรรมชาติทอมือจาก Jutatip ที่จังหวัดขอนแก่น ในการนำมาตัดเย็บด้วยโครงสร้าง ที่เรียบง่ายผสมกับเทคนิคการจับผ้าแบบเดรปปิ้งมาเพิ่มรายละเอียด อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ T-Ra

 “ขอแค่อย่ากลัวที่จะออกแบบชุดจากผ้าไหม และอย่าอายที่จะสวมใส่ชุดผ้าไทย เพราะผ้าไทย มีความคลาสิกมาก เห็นได้จากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นต้นแบบในการสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีทั้งความสง่างาม และความโมเดิร์นอยู่ในตัว แม้เวลาจะผ่านมานานกี่สิบปี ฉลองพระองค์ยังคงงดงามและมีสไตล์มาจนถึงทุกวันนี้ และยังนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้เราชื่นชมจวบจนปัจจุบัน”

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.