Home > Art & Design > ย้อนวันวานไปกับนิทรรศการ ‘ใบปิด’ มนต์เสน่ห์แห่งวงการโปสเตอร์หนังไทย

นับตั้งแต่สถานการณ์ โควิด – 19 เริ่มคลี่คลาย วงการภาพยนตร์ค่อย ๆ กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่นอกเหนือจากการชมภาพยนตร์แล้ว สุดสัปดาห์นี้หากใครยังไม่มีแพลนไปไหน HELLO! อยากชวนไปสัมผัสกับอีกหนึ่งมิติของวงการภาพยนตร์ใน นิทรรศการ ‘ใบปิด’ ซึ่งพาย้อนเวลากลับไปสู่ยุคทองของวงการโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทย หนึ่งในงานศิลปะที่มีความโดดเด่นมายาวนานตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1930 ซึ่งแม้ปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่เสน่ห์ของการตีความและการสร้างสรรค์โปสเตอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยังดึงดูดความสนใจจากนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก จนมีมูลค่าหลายหลัก

นิทรรศการ ‘ใบปิด’

ด้วยมนต์เสน่ห์อันโดดเด่นดังกล่าว วูฟ แพค โปรเจคส์ จึงร่วมกับ ด็อค คลับ แอนด์ ผับ และ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดงาน นิทรรศการ ‘ใบปิด’ โดยรวบรวมงานต้นฉบับที่หาชมได้ยาก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ของศิลปินช่างเขียนใบปิดจากทั่วฟ้าเมืองไทยมาให้ผู้ที่สนใจได้ชม เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้กับศิลปะในการสร้างสรรค์ใบปิดที่อยู่คู่วงการหนังไทยมานานกว่า 50 ปี ซึ่งกว่าจะรวบรวมผลงานมาจัดแสดงในครั้งนี้ก็ใช้เวลาเกือบปีทีเดียว

นิทรรศการ ‘ใบปิด’

ใบปิด คือ

‘ใบปิด’ ชื่อใช้เรียกโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทย… หนึ่งในงานศิลปะที่มีความโดดเด่นมายาวนาน ยุคแรกของการผลิตใบปิดเริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ.1930 ซึ่งจะใช้เทคนิคภาพตัดปะเพียงสองสีเท่านั้น โดยหนึ่งในใบปิดภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ๆ คือ ‘แก่นกะลาสี’ (1936) สร้างสรรค์โดย ‘ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง’

นิทรรศการ ใบปิด
ภาพสเก็ตช์การสร้างสรรค์ผลงาน ‘ใบปิด’

ในอดีต ใบปิดเกิดจากการวาดมือของศิลปิน ทำให้ใบปิดแต่ละเรื่องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามรูปแบบของศิลปินท่านนั้น ๆ อาทิ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือที่รู้จักในนาม ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ บุคคลที่ทำให้วงการการเขียนใบปิดเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1950 เป็นผู้ริเริ่มใช้สีโปสเตอร์ในการวาดใบปิดด้วยมือ หลังจากการเขียนใบปิดในปี ค.ศ.1953 นอกจากนี้ ทนง วีระกุล ยังเป็นผู้ริเริ่มการใช้สีชอล์คมาผสมกับสีโปสเตอร์ สำหรับการเขียนใบปิดเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดขึ้น

ใบปิดหนังฝรั่ง
ผลงาน ใบปิดหนังฝรั่ง จากศิลปินทั่วฟ้าเมืองไทย

ปัจจุบันการออกแบบใบปิดถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้สำหรับการโฆษณาในระดับมาตรฐานสากล เสน่ห์ของการตีความและการสร้างสรรค์โปสเตอร์ จึงแตกต่างไปจากใบปิดในยุคสมัยก่อน ศิลปินช่างเขียนหลาย ๆ ท่านยังคงผลิตผลงานใบปิดทั้งแบบต้นฉบับและผลิตซ้ำอยู่ บ้างหันไปประกอบอาชีพอื่น แต่ทว่าผลงานของพวกเขายังทรงคุณค่าไม่เสื่อมคลาย

อย่างไรก็ตาม ใบปิดยังคงสะท้อนให้เห็นถึงยุคทองของวงการโปสเตอร์หนังไทย และความเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวนี้ทำให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจจากนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าทางศิลปะมหาศาลในปัจจุบัน

นิทรรศการ ใบปิด
ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง ‘น้ำพุ’ / ©หอภาพยนตร์
นิทรรศการ ใบปิด
ใบปิดหนังฝรั่ง ©หอภาพยนตร์
นิทรรศการ ใบปิด
ใบปิดหนังไทย ©หอภาพยนตร์

สำหรับการจัดแสดง นิทรรศการ ‘ใบปิด’ ได้รวบรวมผลงานของศิลปินช่างเขียนทั่วประเทศ อาทิ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เปี๊ยก โปสเตอร์), พัชร์ อนรรฆวิบูล (ริ้ม), ชวนะ บุญชู, บรรณหาร ไทธนบูรณ์, ทองดี ภานุมาศ และ อนุวัต ฉายรัศมีวงศ์ (กวาว) เป็นต้น มาจัดแสดงให้ดื่มด่ำมากกว่า 60 ผลงาน ใครที่สนใจสามารถไปชมได้ที่ Woof Pack Gallery ชั้น 2 อาคาร Woof Packศาลาแดงซอย 1 เปิดตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ไปจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 เดินทางสะดวกด้วย BTS สถานีศาลาแดง และ MRT สถานีลุมพินี ที่สำคัญคือ เข้าชมฟรี!

นิทรรศการ ใบปิด
ใบปิดหนังไทย เรื่อง ‘บางระจัน’

อ่านข่าวเกี่ยวกับ Art & Desigh เพิ่มเติม

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.