“อาจารย์ไม่เคยจัดนิทรรศการเอง มีแต่คนอื่นจัดให้ เพราะอาจารย์ไม่ชอบทำนิทรรศการ”
เป็นบทเริ่มต้นการสนทนากับ วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ศิษย์เอกของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินผู้ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2543 ถึงที่มาของการจัดทำโครงการ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ” การแสดงนิทรรศการครั้งแรกในรอบ 15 ปีของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันมีอัตลักษณ์ ในหลากหลาย แขนงมาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่สนับสนุนคำพูดของคุณวัลลภิศร์ได้ดีที่สุดคือจำนวนครั้งที่บันทึกการจัดแสดงผลงานศิลปะของอาจารย์จักรพันธุ์
พ.ศ.2515 – จัดแสดงผลงานเดี่ยวด้านจิตรกรรม ณ สมาคมฝรั่งเศส โดย ม.จ.ยาใจ จิตรพงศ์ คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ เป็นประธานเปิดงาน
พ.ศ.2533 – แสดงผลงานเดี่ยว เรื่อง “จักรพันธุ์ โปษยกฤต กับงานหุ่น” ณ ห้องประชุมอาคารเมืองไทยประกันชีวิต จัดโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ ๕ – ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓
พ.ศ.2534 – แสดงผลงานกลุ่ม เรื่อง “จิตรกรรมไทยประเพณี” ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรม แห่ง ประเทศไทย จัดโดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื่องในโครงการปีแห่งนิทรรศการเพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางศิลป วัฒนธรรมไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พ.ศ. 2546 – แสดงผลงานเดี่ยว “ศิลปกรรมเชิดชูเกียรติจักรพันธุ์ โปษยกฤต” เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีคณะ จิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร” จัดโดยคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
นับว่าน้อยมากสำหรับศิลปินที่เขียนรูปและทำงานศิลปะตลอดชีวิต ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจบการศึกษาเมื่อพ.ศ.2509 โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัล สร้างชื่อเสียงให้กับอาจารย์มากมาย
โครงการครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นที่เฝ้ารอของผู้ที่ชื่นชมฝีมืออาจารยฺ์จักรพันธุ์ เพราะเป็นครั้งแรกที่อาจารย์ ยอมเปิดบ้านที่เป็นที่ตั้งของมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต จัดแสดงนิทรรศการ โดยปรับพื้นที่ซ้อมหุ่นกระบอกเพื่อเป็นห้องจัดแสดงผลงาน ศิลปกรรมที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าชมผลงานของศิลปินแห่งชาติอย่างใกล้ชิด

มูลนิธิฯได้กำหนดรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้เป็นนิทรรศการหมุนเวียน โดยจัดแสดงครั้งละ 4 เดือน แต่ละครั้งจะรวบ รวมผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ทั้งด้านจิตรกรรมร่วมสมัย จิตรกรรมแนวไทยประเพณี ประติมากรรม และ ผลงานหุ่นกระบอกที่ผสานด้วยงานประณีตศิลป์ นาฏดุริยางคศิลป์ และผลงานวรรณกรรม มาจัดแสดง
“หลังจากจัดแสดงผลงานเดี่ยวครั้งสุดท้าย อาจารย์ก็วุ่นกับการทำหุ่นตะเลงพ่ายมาตลอดจนไม่มีเวลาทำงานอย่างอื่น แล้ว พออาจารย์ป่วยเข้าโรงพยาบาลทุกอย่างต้องหยุดหมด ตอนที่มูลนิธิฯคิดจะจัดนิทรรศการเราได้ปรึกษาอาจารย์ว่ามีคนเขาอยากให้ อาจารย์จัดนิทรรศการโดยไปเช่าศูนย์การค้าใหญ่ๆ เช่าหอศิลป์จัดงาน อาจารย์เอามั้ย อาจารย์บอกไม่เอา ผมเลยถามว่าแล้วถ้าจัด ที่บ้านอาจารย์เอามั้ย อาจารย์บอกเอา
“พออาจารย์เอาเราก็เรียกประชุมสถาปนิกว่าจะวางพื้นที่ในบ้านยังไง เพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัด แต่พอเริ่มกำหนดว่าจะทำ ก็ต้องเลื่อนไปทีละนิดๆ เพราะอาจารย์ยังไม่พร้อมทางด้านสุขภาพ จนครั้งสุดท้ายที่อาจารย์ออกจากโรงพยาบาล พอสุขภาพอาจารย์ ดีขึ้นหน่อย เราเลยตัดสินใจว่าเอาเดือนสิงหาคมดีกว่าเพราะเป็นเดือนเกิดอาจารย์

“นิทรรศการที่จัดมีรูปเขียนกับหุ่นเป็นหลัก ที่ต้องจัดแสดงแบบหมุนเวียนเพราะว่าอาจารย์มีรูปเขียนเยอะมาก หุ่นก็เยอะ ทุกอย่างไม่สามารถจัดแสดงทีเดียวได้ โดยอาจารย์ยังเป็นคนเลือกภาพที่จัดแสดงเอง เพราะทุกอย่างอาจารย์ยังแม่นยำอยู่”
ในนิทรรศการผู้เข้าชมจะได้ชมผลงานชิ้นเอกหรือมาสเตอร์พีซฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต หลายชิ้น เช่น
-ภาพจิตรกรรม พรานบุณจับนางมโนราห์ สีฝุ่นบนผ้าเนื้อละเอียด ผลงานสมัยเป็นนักศึกษา พ.ศ.2508 ขนาด 80.5×65.7 เซ็นติเมตร ที่เมื่ออาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ผู้สอนวิชาจิตรกรรมไทยเห็นงานแล้ว ถึงกับเรียกอาจารย์จักรพันธุ์มาพบและบอกกับ อาจารย์ว่าให้เขียนภาพไทยต่อไป อย่าได้ทิ้ง
-ภาพจิตรกรรม พระแม่คงคา เป็นผลงานสีน้ำมันบนไม้อัด พ.ศ.2553 ขนาด 40×50 เซ็นติเมตร
-ภาพจิตรกรรม พระลอเสี่ยงทาย สีน้ำมันบนผ้าใบ พ.ศ.2551 ขนาด 61.2×81 เซ็นติเมตร
และภาพเขียนด้วยเทคนิคอื่นๆ ทั้งสีน้ำบนกระดาษ ภาพวาดเส้นปากกาบนกระดาษ สีปาสเตลบนกระดาษ เป็นต้น



นอกจากนี้ ยังมีหุ่นกระบอกชุดสำคัญ เช่น หุ่นที่อาจารย์ทำตั้งแต่เริ่มเล่นหุ่นครั้งแรก เป็นหุ่นโบราณจากเรื่องพระอภัยมณี หุ่นจากรามเกียรติ์ตอนนางลอย หุ่นชุดสามก๊กที่จัดแสดงขึ้นเมื่อ พ.ศ.2532 โดยจัด แสดงฉากที่เล่าปี่อพยพ พลเมือง มีหุ่นสำคัญคือ จูล่ง บิฮูหยิน เล่าปี่ เตียวหุย หุ่นกระบอกเรื่องล่าสุด ชุดตะเลงพ่ายที่จัดแสดงฉากแรกของเรื่องไว้ให้ชมอย่างตระการตา

รวมถึงประติมากรรมต้นแบบทศกัณฐ์ จากเรื่องรามเกียรติ์ และพระพุทธรูปสำคัญ “พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตร สังคามวิชัย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ที่ใช้เป็นพระประธานในการแสดงหุ่นกระบอกชุดตะเลงพ่าย อีกทั้งงานประณีตศิลป์ เช่น ม่านปัก ลายโคมระย้า ที่อาจารยออกแบบ และผลงานต้นแบบหรือแบบร่างอื่นๆที่หาชมได้ยาก ซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน รวมถึงภาพเขียนสีชอล์กด้วยมือซ้ายของอาจารย์ด้วย
“ถ้าจะให้เชิญชวนคนไปชม ผมว่านิทรรศการนี้คงเหนือคำเชิญชวน เพราะฝีมืออาจารย์ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว จากชื่อเสียง จาก ผลงานของอาจารย์ อาจารย์เป็นมนุษย์พิเศษ เขียนรูปได้ เขียนหนังสือได้ เชิดหุ่นได้ แม้จะเล่นดนตรีไม่ได้ แต่รสนิยม ทางดนตรีอาจารย์ดี สามารถฟังไห้หมด วิจารณ์ได้หมดว่าอันนี้เพราะ ไม่เพราะยังไง ฟังหมดทั้งเพลงไทย เพลงสากล
“แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเราคิดอยากจัดนิทรรศของอาจารย์ขึ้น อย่างที่ผมพูดกับใครๆอยู่เสมอว่า มูลนิธิฯไม่ได้ต้องการแสดง ความเก่งของอาจารย์ แต่ต้องการให้เห็นว่าคนที่มีความสามารถขนาดนี้ มีร่องรอยการทำงานยังไง มีวิธีการยังไง ให้คนที่สนใจ คนที่ชอบศิลปะ เด็กๆที่กำลังเรียน ได้ดู ได้ศึกษา ได้ซึมซับ ให้มีสติปัญญา เก็บเอาสิ่งที่ได้ไปเพื่อจะได้งอกเงย จะได้มีวิชา จะได้เก่ง
“เราต้องการให้คนรู้สึกว่า ทำไมศิลปินคนนี้ถึงได้มีความสามารถขนาดนี้ แล้วอาจารย์เป็นคนชอบสอน เป็นคนที่เป็นครูตลอด การจัดแสดงงานของอาจารย์จึงเป็นเหมือนแหล่งความรู้ให้ศิลปินท่านอื่นที่เป็นรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ที่มาชม มาศึกษาแล้ว มีฝีมืองอกเงยขึ้น เหมือนต้นไม้ที่ต้องมีหน่อ มีเมล็ดพันธุ์เพื่อ แตกแขนงออกไป
“เพราะอาจารย์เป็นบุคลากรของประเทศ ของโลกที่ไม่มีใครเหมือนจริงๆ”
นิทรรศการหมุนเวียนครั้งที่ 1 เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม ถึง วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2561 เปิดทุกวัน (ไม่มีวันหยุด) ตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น. บัตรเข้าชมราคา 100 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ที่แต่งเครื่องแบบ 50 บาท
เข้าชมได้ ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เลขที่ 49/1 ถนนสุขุมวิท 63 (ซอยเอกมัย) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร 02-392-7754 หรือ 087-332-5467