หลังจาก Spencer เข้าโรงฉายเพียงไม่กี่ที่ในประเทศไทยมาได้เกือบสองสัปดาห์ ภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่องนี้ยังคงได้รับเสียงชื่นชมไม่ขาดสาย ทั้งจากความสวยงามของการถ่ายทำ ฉากที่แสนอลังการ ไปจนถึงการแสดงชั้นยอดของ ‘คริสเตน สจ๊วร์ต’ ผู้มารับบทเป็น ‘ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ ในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะผิดโผไม่ได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ แต่เหล่าแฟนคลับและนักวิจารณ์หลายคนก็เชื่อว่าการแสดงของคริสเตนใน Spencer จะส่งเธอเข้าชิงรางวัลออสการ์อย่างแน่นอน

สำหรับใครที่ได้ตบเท้าเข้าโรงไปชมความงดงามละเมียดละไมของภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้ว เราอยากชวนทุกคนมาคุยซ้ำถึงความจริงเบื้องหลังชีวิต ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ ที่หลายเรื่องไม่ได้ถูกพูดถึงบนหน้าประวัติศาสตร์ แต่ภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่องนี้ตัดสินใจหยิบมาเล่าอย่างละเอียดอ่อนและงดงามที่สุด

ความอึดอัดที่ปกคลุมทั้งเรื่อง
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราว 3 วันในช่วงคริสต์มาสที่เหล่าพระราชวงศ์อังกฤษรวมตัวกันฉลองเทศกาล ณ พระตำหนักซานดริงแฮม ในฉากเปิดเราจะได้เห็นประเพณี “การชั่งน้ำหนัก” ที่พระราชวงศ์ทุกพระองค์จะต้องชั่งน้ำหนักทันทีที่เสด็จมาถึง และจะต้องชั่งน้ำหนักอีกครั้งก่อนเสด็จกลับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกพระองค์ล้วนทรงพระเกษมสำราญและน้ำหนักเพิ่มขึ้นในช่วงที่มาพักผ่อน ณ พระตำหนัก โดยประเพณีนี้เริ่มขึ้นโดย สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในช่วงต้น 1900s เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นประเพณีที่สนุกและตลกในหมู่ราชวงศ์
สำหรับเจ้าหญิงไดอาน่าแล้ว ประเพณีนี้กลับเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สร้างความกดดันให้แก่พระองค์เป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงท้ายของชีวิตคู่ระหว่างพระองค์และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าหญิงแห่งเวลส์มีปัญหากับเรื่องน้ำหนักและการเสวยเป็นอย่างมาก ทำให้ทรงถูกจับตามองเรื่องการเสวยและน้ำหนักองค์เป็นพิเศษนั่นเอง

ปัญหาสุขภาพที่เจ้าหญิงไดอาน่าต้องเผชิญ
อย่างที่เล่าไปว่าเจ้าหญิงไดอาน่าทรงมีปัญหาเรื่องการเสวยและน้ำหนักองค์ นั่นก็เพราะพระองค์ต้องเผชิญกับ โรคบูลิเมีย (Bulimia nervosa) หรือโรคล้วงคอ ซึ่งจะมีอาการหลากหลายแบบต่างกันไป แต่ที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ Spencer คือเจ้าหญิงแห่งเวลส์มักเสวยไม่ค่อยลงเวลาร่วมโต๊ะกับเหล่าพระราชวงศ์ พระองค์ทรงเลือกที่จะแอบมาเสวยคนเดียวในห้องครัวตอนกลางคืน รวมถึงมักเสด็จไปเข้าห้องน้ำหลังเสวยเพื่ออาเจียนอีกด้วย
ซึ่งเจ้าหญิงไดอาน่าประทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคบูลิเมียอย่างเปิดเผยหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเคยมีรับสั่งถึงหนึ่งในสาเหตุที่พระองค์เริ่มควบคุมน้ำหนักว่า ในปี 1981 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงโอบพระกฤษฎี (เอว) ก่อนตรัสล้อว่าพระองค์ทรงมีน้ำมีนวล รวมถึงในบทสัมภาษณ์กับสื่อ Panorama เจ้าหญิงแห่งเวลส์มีรับสั่งถึงโรคบูลิเมียว่า “เราไม่ชอบตัวเองเลย เรารู้สึกละอายใจเพราะไม่สามารถจัดการกับความกดดันได้ เราเป็นโรคบูลิเมียอยู่หลายปี มันเป็นเหมือนโรคลับๆ เกิดขึ้นเป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ ซึ่งทำลายร่างกายของเรา”

ร้านโปรดของเจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าชายวิลเลี่ยม และเจ้าชายแฮร์รี่
อย่างที่เห็นในตอนท้ายของ Spencer ว่าในที่สุดเจ้าหญิงไดอาน่าทรงหนีออกจากพระตำหนักซานดริงแฮมได้สำเร็จ ทั้งยังพาพระโอรสทั้งสองอย่าง เจ้าชายวิลเลี่ยม และ เจ้าชายแฮร์รี่ กลับกรุงลอนดอนไปด้วยกัน และสถานที่แรกที่ทรงพาพระโอรสไปคือร้านฟาสต์ฟู้ด KFC ที่นั่นพระองค์สามารถเสวยได้อย่างเกษมสำราญและไม่ต้องอาเจียนหลังเสวย
ไม่ใช่แค่ร้านไก่ทอดเคนทักกีเท่านั้นที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์โปรด แต่ในฉากที่พระองค์ทรงเปิดพระทัยคุยกับนางกำนัลคนสนิท เจ้าหญิงไดอาน่าทรงเผยว่าพระองค์โปรดชีวิตที่เรียบง่าย เสื้อผ้าวินเทจ และอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งขัดกับสิ่งที่ราชสำนักอยากให้พระองค์เป็น

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงไดอาน่า และควีนเอลิซาเบธที่ 2
สุดท้ายคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงไดอาน่าและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถึงแม้ว่าใน Spencer ทั้งสองพระองค์จะดูเย็นชาและทรงแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน แต่เมื่ออิงจาก Diana: Her True Story – In Her Own Words หนังสือของ แอนดรูว์ มอร์ตัน นักเขียนชีวประวัติของพระราชวงศ์ เล่าถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ว่าค่อนข้างเป็นทางการเสียมากกว่า ในช่วงแรกเจ้าหญิงไดอาน่าทรงมักเกร็งเวลาพบกับสมเด็จพระราชินีนาถ และทรงถอนสายบัวทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อชีวิตแต่งงานระหว่างเจ้าหญิงแห่งเวลส์และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์สิ้นสุดลง สมเด็จพระราชินีนาถทรงก้าวเข้ามาเป็นแรงสำคัญที่ทำให้เจ้าหญิงไดอาน่าก้าวผ่านไปได้ ด้วยการให้คำแนะนำที่เข้าอกเข้าใจและมุมมองที่ช่วยสร้างกำลังใจให้แก่พระองค์

เจ้าหญิงไดอาน่าโปรดที่จะพูดคุยกับสนมรับใช้
จากในภาพยนตร์เราจะได้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 3 วันที่ทรงพำนัก ณ พระตำหนักซานดริงแฮม เจ้าหญิงไดอาน่าทรงแทบไม่พูดคุยกับเหล่าพระราชวงศ์มากเท่าไหร่นัก ในทางกลับกันพระองค์มักทรงพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับเหล่าสนมรับใช้ ซึ่งเทียบจากคำสัมภาษณ์ของอดีตสนมรับใช้ ดาร์เรน แม็กเกรดี้ แล้ว เธอเล่าว่าหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถและเหล่าพระราชวงศ์เสด็จออกจากห้องเสวยแล้ว เจ้าหญิงแห่งเวลส์จะไม่เสด็จกลับไปยังห้องบรรทม แต่เลือกที่จะเสด็จลงมาในครัว ทรงพูดคุย เดินรอบๆ และสังเกตว่าแต่ละคนกำลังทำอะไร

หลายเหตุการณ์ในหนังเป็นเพียงสัญญะ
ใครที่รับชมภาพยนตร์ไปแล้วคงจะรู้สึกตกใจกับหลายฉากหลายเหตุการณ์ อย่างเช่นซีนที่เหล่าพระราชวงศ์เสวยคริสต์มาสดินเนอร์ร่วมกัน โดยเจ้าหญิงไดอาน่าทรงดูอึดอัดและทุกข์ใจเป็นอย่างมากที่ต้องทรงสร้อยพระศอไข่มุก เนื่องจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงซื้อสร้อยแบบเดียวกันนี้ให้กับ ดัชเชสคามิลล่า ด้วยเช่นกัน พระองค์จึงทรงกระชากสร้อยพระศอจนไข่มุกกระเด็นตกเต็มโต๊ะ รวมถึงหล่นลงไปในชามซุป ก่อนเจ้าหญิงแห่งเวลส์จะเสวยเข้าไปพร้อมกัดไข่มุกจนแตก
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามหน้าประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เล่าถึงความอึดอัดขับข้องใจของเจ้าหญิงไดอาน่ากับการอยู่ในราชวงศ์อังกฤษ ทั้งยังทรงถูกบังคับกลายๆ ให้ยอมรับเรื่องราวระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และดัชเชสคามิลล่า

หรืออย่างเรื่องที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์โปรดเรื่องราวของ แอนน์ โบลีน เพราะรู้สึกว่าทรงมีชีวิตที่เหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้วไม่มีบันทึกระบุไว้ว่าเจ้าหญิงไดอาน่าทรงกลัวที่จะมีชะตาชีวิตเช่นเดียวกับ แอนน์ โบลีน ที่โดนสั่งประหารตัดหัวจากโทษมีชู้ โดยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นคนกล่าวหาพระนางทั้งที่ตนเองมีคนรักใหม่ เรื่องนี้จึงเป็นเพียงอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในภาพยนตร์ที่ช่วยถ่ายทอดความอึดอัดทุกข์ใจของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
ข้อมูล : Radio Times / รูปภาพ : Pablo Larraín and iMDB