Home > Art & Design > ‘Me And The Magic Door’ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยม

‘Me And The Magic Door’ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ล่าสุดที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยและหอการค้าไทย-อิตาเลียน รวมทั้งบริษัท แม็กซ์อิมเมจ จำกัด 

มร.ลอเรนโซ่ กาลานติ เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ราชอาณาจักรสยามได้สานสัมพันธไมตรีกับประเทศอิตาลี ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องถึงรัชกาลที่ 6 พระมหากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ ทรงสนพระทัยในศิลปวัฒนธรรมอิตาเลียน 

“จึงทรงมอบหมายโครงการก่อสร้างหลายโครงการในกรุงเทพมหานครที่โดดเด่น แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญชาวอิตาเลียน โดยได้สร้างสถาปัตยกรรมหลายแห่งที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของศิลปวัฒนธรรม ในการแลกเปลี่ยนความรู้และการเสริมสร้างความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศอิตาลีกับไทย” 

ตามหาราก

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักพระราชวังและกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีหน่วยปฏิบัติการวิจัย The Arc of Memory จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูล กำกับโดย มาร์โก้ กัตติ เขียนบทโดย ฟรานเชสก้า อันเดรอินิ นำแสดงโดย สเตฟาเนีย คิม การ์ดินี่, จูเลียตต้า คอนเซนติโน่ และซามูเอล ไน  

me and the magic door
ฝ้ายระหว่างค้นหาอดีตในสถาปัตยกรรมฝีมือช่างอิตาเลียนในราชสำนักไทย Photo: สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ IMAGEMAX

โดยเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครลูกครึ่งไทย-อิตาเลียน ‘ฝ้าย’ ที่เดินทางมาไทย เพื่อศึกษาผลงานของสถาปนิก วิศวกร และศิลปินอิตาเลียนรวม 35 คน ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการในอดีต 

เพื่อออกแบบและสร้างสถานที่ ซึ่งต่อมามีความสำคัญในฐานะมรดกของชาติ อันเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรภาพที่มั่นคงระหว่างประเทศไทยและประเทศอิตาลี อาทิเช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก และ Deva Manor เป็นต้น 

ประตูวิเศษสู่อดีต

แค่เปิดเรื่องมาผู้ชมจะได้ติดตามการเดินทาง และการค้นพบของ ‘ฝ้าย’ ตามสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งยังคงความงดงาม เป็นเอกลักษณ์สืบมานับศตวรรษ ผลงานเหล่านี้ยังคงได้รับการรักษา บูรณะ และสามารถพบเห็นได้ในยุคปัจจุบัน 

me and the magic door
ฝ้ายกับเทวรูปอันเป็นผลงานศิลปะที่ช่างอิตาเลียนพยายามท่ีจะรักษาศิลปะไทยแบบดั้งเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด Photo: สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ IMAGEMAX

‘ฝ้าย’ บินจากอิตาลีมาไทย พร้อมกับหนังสือ Italians At The Court Of Siam ที่เธอพกใส่กระเป๋าเดินทางมาด้วย ในนั้นบรรจุเรื่องราวของสถาปนิก นายช่าง และศิลปินชาวอิตาเลียนที่มาถวายการรับใช้ในราชสำนักสยาม ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้รับความสำเร็จอย่างสูงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 

เธอเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ โดยมีเพื่อนสาวลูกครึ่งไทย-อิตาเลียนอีกเช่นกัน เป็นผู้ปลอบประโลมจิตใจยามที่ ‘ฝ้าย’ พลาดหวังจากการพบพ่อ ซึ่งนัดเจอและพลาดนัดกันทุกครั้ง โดยมีวิญญาณนายช่างอิตาเลียนคอยติดตามเธอไม่ห่าง 

Me And The Magic Door 2022 

ภาพยนตร์สารคดีกึ่งนิยายเรื่องนี้ ได้ให้’ฝ้าย’พาผู้ชมค้นหาสถาปัตยกรรมอิตาเลียนในสยาม ซึ่งทุกวันนี้ยังตระหง่านให้ร่มเงาที่พักพิงแก่ชาวไทยรุ่นหลัง และยังคงมีมนต์ขลัง ในฐานะมรดกจากอดีต  

แม้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่อดไม่ได้ที่เราจะโยงถึงประวัติศาสตร์อิตาลีในช่วงนั้น ที่บรรดานายช่างอิตาเลียนละทิ้งบ้านเกิดในช่วงปลายยุคแห่งการต่อสู้เพื่อเอกราชในอิตาลี 

me and the magic door
เบื้องหลังการถ่ายทำ ซามูเอล ไน นักแสดงผู้สวมบทบาทช่างอิตาเลียนในยุครัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งตรงกับปลายยุคการต่อสู้เพื่อเอกราชของอิตาลี ที่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของอิตาลีในดินแดนห่างไกลแต่มากสีสันอย่างประเทศไทย จนถึงยุคปัจจุบัน Photo: สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ IMAGEMAX

อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนตระหนักถึงความไร้อุดมการณ์ และความชืดชาในชีวิตประจำวัน พวกเขาโดยมากมาจากภาคกลางตอนเหนือของอิตาลี แคว้นทัสกานี ลิกูเรีย ปิเอมองต์ และบางส่วนในแคว้นลอมบาร์ดี 

โลกตะวันออกอย่างสยามจึงเป็นหมุดหมายใหม่สำหรับพวกเขา ด้วยความที่มีสีสันเจิดจ้าสว่างไสว แม้จะมีความทุกข์ยากล้าหลังกว่าโลกตะวันตก แต่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชีวิต พวกเขาจึงคาดว่าการเดินทางมายังตะวันออกจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนได้

จุดประกายความรักในศิลปวัฒนธรรมไทย

ปรากฏว่านายช่างอิตาเลียนกลุ่มนี้มาตั้งหลักแหล่งอันมั่นคงในไทย จนถึงตอนที่นายคอร์ราโด เฟโรชี หรือนายศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงแก่กรรม 

me and the magic door
สเตฟาเนีย คิม การ์ดินี่ กับบทฝ้าย ลูกครึ่งไทย-อิตาเลียน ในเรื่องที่พยายามค้นลึกในประวัติศาสตร์ของสองประเทศ Photo: สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ IMAGEMAX

ศิลปินเหล่านี้ต่างก็ไม่ต้องการทำลายศิลปะและวัฒนธรรมไทย แม้จะสร้างงานแบบยุโรปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงว่าจ้าง แต่หากมีโอกาสก่อสร้างก็จะยังคงปฏิบัติตามขนบนิยมของไทย 

พวกท่านจะพยายามรักษาความเป็นไทยเอาไว้ให้มากที่สุด เพียงแต่คงขนาดอันใหญ่โตตามแบบยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเท่านั้น เพราะพวกท่านค่อนข้างอ่อนไหวกับค่านิยมทางสุนทรียะแบบไทย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์งาน 

ยกตัวอย่างเช่น กาลิเลโอ คินี ที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะไทยในการสร้างงานศิลปะ ภายหลังกลับถึงอิตาลีแล้ว ดูได้จากภาพร่างฉากโอเปรารอบปฐมทัศน์เรื่อง Turandot อันลือลั่น 

หรืออย่างพันตรี เจโรลาโม เอมิลีโอ เจรินี  ซึ่งหลังจากเข้ารับราชการทหาร ก็ได้อุทิศเวลาศึกษาวัฒนธรรมไทย และทิ้งเอกสารสำคัญไว้ให้แก่ชาวไทยรุ่นหลัง 

ผ่านพ้นยุคอาณานิคม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระทัยดีว่า ในการติดต่อกับราชวงศ์ยุโรปนั้น การแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมัยใหม่ท่ีนอกจากจะทรงงานหนักแล้ว ยังจะต้องทรงแสดงให้เห็นความยื่งใหญ่ของราชสำนักสยามอีกด้วย 

me and the magic door
การถ่ายทำตามงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ยังยืนหยัดท้าทายกาลเวลา Photo: สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ IMAGEMAX

ทรงทำให้บรรดาราชสำนักในยุโรป เกิดความรู้สึกที่เกือบจะเรียกได้ว่าอิจฉาเลยทีเดียว เพราะราชสำนักในยุโรปช่วงนั้นยังต้องเคารพระเบียบพิธีอันน่าเบื่อหน่ายของยุควิคตอเรีย 

รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็น และทรงปรารถนาที่จะพัฒนาสยามให้เป็นประเทศสมัยใหม่อย่างสง่าผ่าเผย ด้วยการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นอนุสรณ์ เพื่อช่วยฟื้นฟูเกียรติภูมิของราชอาณาจักร จึงทรงชักชวนศิลปินอิตาเลียนให้เข้ามาทำงานในไทย 

และศิลปินกลุ่มนี้ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันสนองพระราชดำริในโครงการใหญ่ จนบางครั้งไม่อาจแยกแยะได้ว่าส่วนไหนเป็นผลงานของผู้ใด นอกจากนี้ยังทรงเอาพระทัยใส่ติดตามการทำงานของพวกเขา และก็ได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ขณะที่พวกเขาก็สนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มกำลังความสามารถ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นโครงการทางวัฒนธรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยจัดฉายเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม และเพื่อการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์อย่างเว็บไซต์ เฟสบุ้ค ไอจี ทวิตเตอร์ และช่อง YouTube ของสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ซึ่งจัดฉายในงานวัฒนธรรม กิจกรรมทางวัฒนธรรมและทางการศึกษา ในสถานศึกษาอิตาเลียนและไทย เทศกาลภาพยนตร์ หรือนิทรรศการศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ผู้ที่สนใจสามารถขออนุญาตจัดฉายได้ โดยติดต่อสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยโดยตรง 

ที่มาบางส่วน : หนังสือ Italians At The Court Of Siam เขียนโดย Paolo Piazzadi         

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.