ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือ QSNCC รูปโฉมใหม่ กลับมาเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกันยายน 2565 พร้อมบรรดางานเอ็กซ์โปต่าง ๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใครที่เคยเข้าไปเยี่ยมชมศูนย์ประชุมฯ โฉมใหม่ คงมีโอกาสได้เห็น งานศิลป์ สุดตระการตาขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บริเวณชั้น LG ซึ่งเกิดจากการออกแบบ-สร้างสรรค์โดยศิลปินชื่อดังอย่าง มุก – เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ หรือ MookV ศิลปินชื่อดัง ผู้มุ่งมั่นสร้างผลงานภายใต้แนวคิด Zero Waste มาตลอดหลายปี ล่าสุด คุณมุกให้เกียรตินำชม พร้อมเผยแรงบันดาลใจและรายละเอียดผลงานทั้ง 2 ชิ้นด้วยตัวเอง

แนวคิดการสร้างสรรค์งานศิลปะ Woven Symphony และ Adam’s Bridge
คุณมุกเริ่มจากการเล่าถึงแรงบันดาลใจหลักในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ “มุกได้รับโจทย์มา 3 คำ คือ ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ เพื่อออกแบบให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานโดยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มุกจึงนำศิลปะ ‘โขน’ ที่พระองค์ทรง ‘สืบสาน’ มาเป็นไอเดียสำคัญสำหรับการออกแบบผลงานในชื่อว่า Woven Symphony (โวเว่น ซิมโฟนี) และ Adam’s Bridge (อดัมส์ บริดจ์) โดยงานทั้งสองชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยทำ เมื่อรวมกันมีขนาดเท่ากับสระน้ำมาตรฐานโอลิมปิก แต่ละชิ้นงานสูง 6 เมตรครึ่ง ยาว 25 เมตร
สอดรับกับชิ้นงานแกะสลักที่ทางศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้เก็บ ‘รักษา’ ไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม คืองานแกะสลักไม้ของ คุณจรูญ มาถนอม ศิลปินคนเดียวกับที่สร้างปราสาทสัจธรรมที่พัทยา โดยไม้ทั้งหมด 56 แผ่นประกอบกันออกมาแล้วมีความยาวเกือบ 23 เมตร เล่าเรื่องการสถาปนาพระอินทร์ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองทวยเทพ ซึ่งงานไม้แกะสลักนี้ใช้เวลาแกะสลักเพียง 4 เดือน และอบไม้ต่ออีก 2 เดือน แม้โดยทั่วไปจะต้องกินเวลาเป็นปีสำหรับอบไม้

Woven Symphony
สำหรับผลงานชิ้นแรกในชื่อ Woven Symphony หยิบยกแรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายในศิลปะแสดงโขนมาทำให้เป็นศิลปะร่วมสมัยที่ผสานกับฉากวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอนที่หนุมานพาพระรามไปช่วยนางสีดาซึ่งถูกทศกัณฐ์จับตัวไปยังกรุงลงกา จนต้องพุ่งรบกัน เกิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์จากการนำเครื่องแต่งกายโขนมาปะติดปะต่อ สื่อถึงความชุลมุนวุ่นวายในฉากรบ โดยมีฉากหลังเป็นสีเขียวเสมือนอยู่ในป่า
ตามปกติหากเป็นผลงานขนาดใหญ่เท่านี้ คุณมุกบอกว่าควรใช้เวลาทำจริงประมาณปีครึ่ง แต่เนื่องจากมีกำหนดระยะเวลาที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 58 วัน จึงต้องแบ่งชิ้นงานไปให้หน่วยงานและสถานการศึกษาต่าง ๆ ช่วยกันรังสรรค์แล้วค่อยนำกลับมาเรียงต่อกัน โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ease.studio คุณมุกจึงเปรียบผลงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจนี้ เหมือนวง ‘ซิมโฟนี’ ที่ต้องประกอบไปด้วยเครื่องหลาย ๆ ชิ้น

งานนี้มุกเหมือนเป็นผู้กำกับโดยที่มีศิลปินหลายคนช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน มุกจะทำแพทเทิร์นตามไซส์จริงแยกส่งให้แต่ละมหาวิทยาลัย พร้อมผ้าและเครื่องมือต่าง ๆ แล้วไกด์คร่าว ๆ ว่าอยากได้ตรงไหนประมาณไหน แต่ไม่ได้บอกเป๊ะ ๆ เพราะเข้าใจว่าทุกคนที่เป็นศิลปินย่อมอยากทำผลงานที่เป็นลายมือของตัวเอง เราเพียงแต่คอยดูภาพรวม คอยกำกับให้ทุกอย่างมารวมกันได้อย่างลงตัว สิ่งที่ตื่นเต้นสุด ๆ คือมุกได้เพียงดูงานของทุกคนผ่านทางไลน์ เพราะเวลามันสั้นมากไม่สามารถจะไปตรวจงานของแต่ละคนได้ งานชิ้นนี้จึงเป็นการสะท้อนถึงความร่วมมือ แสดงให้เห็นว่าการทำสิ่งใดก็ตามต้องอาศัยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีทางที่บริษัทมุกบริษัทเดียวจะทำงานนี้เสร็จภายใต้ระยะเวลาเพียงเท่านี้แน่นอน”
มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์

ส่วน ‘วัสดุ’ คุณมุก เล่าว่า นอกจากใช้วัสดุจากเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับในการแสดงโขนแล้ว ยังมีการนำผ้าจากการสร้างสรรค์ผลงานทั้งงานศิลป์ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เก็บไว้ตลอดหลายสิบปีจำนวนกว่า 24 ลังมาใช้ ตามความตั้งใจที่ต้องการให้บริษัทของตัวเองเป็น Sustainability Economy ผลงานจึงประกอบไปด้วยผ้าที่มาจากผลงานเก่า ๆ รวมไปถึงเศษผ้า นอกจากนี้ยังมีผ้าขาวม้าและผ้าไหมจากโครงการประชารัฐที่ไทยเบฟฯ เข้าไปให้การสนับสนุนด้วย

Adam’s Bridge
อีกหนึ่งผลงานที่จัดแสดงคือ Adam’s Bridge ที่มีฉากหลังสีน้ำเงิน เป็นฉากที่หนุมานขนหินมาถมทะเลเพื่อทำเป็นสะพานพาพระรามและนางสีดาไปสู่ชีวิตใหม่ เปรียบเสมือนการ ‘ต่อยอด’ ศูนย์ประชุมฯ ในวันใหม่ บนฉากสีน้ำเงินผ่านการถักทอจากสิ่งของเหลือใช้รวมถึงเศษขยะที่คุณมุกและครอบครัว รวมถึงพนักงานช่างทอผ้าของบริษัทเก็บมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งกระป๋อง และขวดน้ำพลาสติก ถูกนำมาตัดเป็นเส้นแล้วถักทอ ผ้าทุกผืนมาจากผ้าเหลือใช้ที่รวบรวมมาจากโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ สอดคล้องกับแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) สร้างสมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า


หากสังเกตดูชิ้นงานนี้จะมีความปูด ๆ คล้ายก้อนหินทับถมกันเป็นสะพาน ซึ่งจริง ๆ แล้วสะพานนี้มีอยู่จริงในชื่อ Adam’s Bridge เป็นสะพานที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติเชื่อมจากประเทศศรีลังกาไปประเทศอินเดีย แต่ถูกพายุไซโคลนพัดจนหายไปเมื่อหลายปีก่อน มุกจึงนำภาพสะพานที่ถูกไว้โดยดาวเทียมมาเป็นแบบในการสร้างรรค์ผลงานชิ้นนี้”
มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์

สำหรับผู้อยากเห็นความงดงามอลังการของผลงาน Woven Symphony และ Adam’s Bridge สามารถเยี่ยมชมไดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (เดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออก 3 โดยมีทางเชื่อมเข้าศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชั้น LG) ซึ่งคุณมุกแนะนำปิดท้ายว่า ผลงานทั้งสองชิ้นเหมาะสำหรับชื่นชมความงดงามทั้งแบบภาพรวมในระยะไกล และแบบลงรายละเอียดในระยะใกล้ นอกจากนี้ด้วยความที่ผลงานประกอบไปด้วยหลายเลเยอร์ ดังนั้นมาชมผลงานแต่ละครั้งก็จะได้มุมมองที่แตกต่าง ตีความได้หลากหลาย สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยี่ยมเยือนศูนย์ประชุมฯ ตลอดจนการจัดแสดงแน่นอน
