หลังห่างหายไปนานกว่า 2 ปี มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เตรียมกลับมาเปิดม่านการแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ โดยล่าสุด จัดให้มีการทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่เพื่อรับบทบาทตามความสามารถใน 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ, ละครนาง, โขนพระ, โขนลิง และโขนยักษ์ ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ. อ่างทอง

ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญ ร่วมคัดเลือกอาย่างเข้มข้น ได้แก่ คุณประเมษฐ์ บุณยะชัย คณะกรรมการและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) ประจำปี 2563, ดร.อนุชา ทีรคานนท์, ดร.สุรัตน์ จงดา, ดร.เกิดศิริ นกน้อย, คุณรัตติยะ วิกสิตพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) ประจำปี 2560, คุณรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) พุทธศักราช 2554, คุณไพฑูรย์ เข้มแข็ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์-โขน) ประจำปี 2564, คุณสมศักดิ์ ทัดติ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนยักษ์) และ คุณวิโรจน์ เข้มแข็ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนลิง)

ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ในฐานะคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เผยว่า “เป็นเวลา 2 ปีแล้วที่การแสดงโขนห่างหายจากเวที แฟนโขนก็คงคิดถึงการแสดงโขนมูลนิธิฯ อีกทั้งปีนี้ยังเป็นปีมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา จึงถือว่าการแสดงโขนครั้งเป็นการสนองพระราชดำริในการที่จะฟื้นฟู ทำนุบำรุงการแสดงโขนให้คงอยู่สืบไป อีกทั้งเมื่อปี 2561 การแสดงโขนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ จึงถือเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนที่ต้องธำรงรักษาให้โขนสืบทอดไปสู่คนต่อไป และไม่เพียงนักแสดงที่ร่วมสืบทอดศิลปะโขนแล้ว แม้แต่ผู้ที่มาชมการแสดงโขน ยังถือว่าได้ทำหน้าที่ในบทบาทเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้ร่วมกันอีกด้วย”

ด้าน ดร.เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเวที การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” กล่าวถึงการทดสอบความสามารถของนักแสดงรุ่นใหม่ว่า “เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด – 19 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาในการออดิชั่นเพื่อคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมเป็นนักแสดงในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงต้องปรับรูปแบบเป็นการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายในของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในเขตภาคกลาง เพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่มีทักษะการแสดงมาร่วมแสดงกับศิลปิน อาจารย์ และนักแสดงฝีมือดี ในโขนมูลนิธิฯ ประจำปี 2565
การทดสอบความสามารถนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปจาก 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อ่างทอง และลพบุรี โดยการทดสอบแบ่งตาม 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ จำนวน 6 คน ละครนาง จำนวน 10 คน โขนพระจำนวน 8 คน โขนลิง จำนวน 14 คน และโขนยักษ์ จำนวน 20 คน รวมถึงนักแสดงรุ่นเยาว์จากโรงเรียนต่าง ๆ ร่วมทดสอบการแสดงในบทมัจฉานุ จำนวน 7 คน รวมทั้งหมด 65 คน โดยนักแสดงที่เข้ารับการทดสอบจะได้รับการบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ ตามความสามารถ ทั้งนี้ในปีหน้าหากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และผู้มีใจรักในการแสดงโขนจากทั่วประเทศเข้าร่วมออดิชั่นเพื่อคัดเลือกนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในการแสดงโขนมูลนิธิฯ เช่นเดิม”

สำหรับ การแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” เป็นตอนที่มีฉากผจญภัยมากมาย ที่มาพร้อมความสนุกสนานจากเรื่องราวการต่อสู้ของ หนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม และ ไมยราพ พญายักษ์เจ้าเมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์สะกด ได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม จึงลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่าน ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่ โดย โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีกำหนดจะเปิดการแสดงในช่วงปลายปีนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย.
