Home > Art & Design > หนังไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลก! The Maestro: A Symphony of Terror

อีกหนึ่งผลงานของคนไทยที่กวาดรางวัลในเวทีหนังนานาชาติมาถึง 6 รางวัล และรวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอีกหลายที่จนได้รับการคัดเลือกในรางวัลแต่ละสาขา ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้หลาย ๆ ชาติมองเห็นถึงศักยภาพของคนไทยในการสร้างภาพยนตร์ที่ดีออกมา และการันตีด้วยความสำเร็จขนาดนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางโควิดที่เป็นอุปสรรคโดยเฉพาะการถ่ายทำภาพยนตร์ และนักดนตรีด้วย แต่ The Maestro: A Symphony of Terror ก็ได้ถ่ายทอดสิ่งที่ผู้กำกับอยากสื่อสารกับทุก ๆ คน

The Maestro: A Symphony of Terror
Cr. The Maestro

โดยในวันที่พฤหัสที่ 3 กุมภาพันธ์ ภาพยนตร์ The Maestro: A Symphony of Terror ได้เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์อย่างเป็นทางการ ณ โรงภาพยนตร์ SF World เซนทรัลเวิลด์ สำหรับรอบสื่อ และรอบผู้ชมทั่วไปในวันศุกร์ที่ 4 เวลา 19.30 น. และเสาร์ที่ 5 กับอาทิตย์ที่ 6 เวลา 15.00 น. และยังเป็นโอกาสที่ดีในทุกรอบที่ นายสมเถา สุจริตกุล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ยินดีต้อนรับทุกคนที่มาชมในทุกรอบฉาย

เรื่องย่อ

The Maestro: A Symphony of Terror
Cr. The Maestro

The Maestro: A Symphony of Terror เป็นเรื่องของคีตกวีอัจฉริยะที่ถูกยั่วยุและผลักดันไปถึงจุดวิกลจริตหรือไกลกว่านั้น ดร. อรุณ แสงสมนึก พยายามสร้างชื่อเสียงด้านดนตรีในยุโรป เขาประสบความผิดหวังครั้งแล้ว ครั้งเล่า แม้แต่งานอำนวยเพลงที่ตกลงกันแล้วเป็นมั่นเป็นเหมาะก็ถูกวาทยกรมีชื่อแย่งไป อรุณ ประสบความล้มเหลวในทุกกรณีในที่สุดต้องซมซานกลับมาใช้ชีวิตเป็นครูดนตรีเด็กไฮโซที่กรุงเทพฯ

ลูกศิษย์ของอาจารย์อรุณมาจากครอบครัวที่มีฐานะ ส่วนมากมีปัญหากับพ่อแม่ โดยเฉพาะลู้ค นักเปียโนผู้มีพรสวรรค์วัย 13 ปีที่บิดามุ่งหวังให้เป็นนักเปียโนเอกในอนาคตโดยใช้วิธีบังคับให้ฝึกซ้อมอย่างหนักเฉพาะเพลงที่พ่อเลือก พลังต่อต้านทำให้ลู้คมีอารมณ์รุนแรงผิดธรรมดา ความผิดหวังเรื่องงานบวกปัญหาร้ายแรงในวัยเด็กซึ่งตามหลอกหลอนมาเนิ่นนานมีอิทธิพลรุนแรงนัก วันหนึ่ง อาจารย์อรุณหมดอาลัยในชีวิตถึงขีดสุด ครั้นได้ยินเสียงไวโอลินที่ไพเราะจับใจจากทอย นักไวโอลินขอทาน จึงเกิดกำลังใจที่จะสู้ต่อไป

สถานการณ์โควิดเปิดโอกาสให้ ดร.อรุณสร้าง ‘สวรรค์สำหรับนักดนตรี’ ที่บ้านร้างแห่งหนึ่ง ห่างไกลสิ่งรบกวนและมลพิษคอรัปชั่นจากโลกภายนอก ทอยกับลู้คทำหน้าที่ชักชวนเพื่อนนักดนตรีมาเป็นสมาชิก ในที่สุดรวบรวมได้หลายคนซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสามารถพิเศษในดนตรีประเภทต่างๆ สวรรค์ของ อ.อรุณคือโลกเสรีของนักดนตรีเยาวชนผู้มีความสามารถ ใครจะทำอะไรก็ได้ เล่นเพลงอะไรก็ได้ตามใจชอบ เด็กทุกคนใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานเต็มที่ ไม่มีใครคิดฝันว่าสวรรค์จะกลายเป็นนรกภายในเวลาไม่กี่วัน ดร. อรุณ ใช้เวลาแรมปีประพันธ์ซิมโฟนีอลังการ ‘The Tongues of Angels’ ความฝันอันสูงสุดของเขาคือการนำเสนอรอบปฐมทัศน์โดยเขาทำหน้าที่วาทยกรด้วยตนเอง การได้เด็กที่มีความสามารถและรักการดนตรีเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกซ้อมผลงานชิ้นเอกของอาจารย์ เพื่อเปิดแสดงรอบปฐมทัศน์โดยผู้ประพันธ์ทำหน้าที่อำนวยดนตรีด้วยตนเอง ความฝันของอาจารย์ดนตรีผู้อาภัพจะเป็นจริงหรือไม่ โปรดติดตามชมฉากอวสานของภาพยนตร์ The Maestro: A Symphony of Terror

แรงบันดาลใจของผู้สร้าง

เหตุมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ทั้งโลกรวมถึงคนไทยได้ตระหนักถึงมหัตภัยจากโรคติดต่อร้ายแรง โรงพยาบาลต้องทำงานอย่างหนัก มาตรการต่าง ๆ ถูกนำมาใช้ ชีวิตคนทั้งโลกได้เปลี่ยนไป การล็อคดาวน์ทำให้เกิดปัญหาต่อ ๆ กันมา โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง ที่เป็นธรรมดาของมนุษย์จะต้องเอาตัวรอด นี่คือจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยความร่วมมือของ สมเถา สุจริตกุล และ Paul Spurrier ที่ทั้งสองคนเคยร่วมงานกันมาแล้วในภาพยนตร์มินิซีรีส์ชุดฆาตกรรมต่อเนื่องอย่าง ‘Eullenia’ ที่ฉายบน Amazon Prime ซึ่ง Paul เป็นผู้กำกับการแสดง ส่วนสมเถาเป็นคีตกวี วาทยกร และนักเขียนภายใต้นามปากกา S.P. Somtow

Cr. The Maestro

ทั้งสองคนใช้เวลานั่งคุยถึงปัญหาที่กระทบกับนักดนตรีจากการแพร่ระบาดของไวรัส การแสดงดนตรีถูกยกเลิก นักดนตรีคลาสสิคตกงาน งานภาพยนตร์ก็ไม่มี เลยเกิดไอเดียว่าจะทำภาพยนตร์ที่มาถ่ายทอดความรู้สึกของนักดนตรีในยุคโควิด และหาหนทางในการช่วยนักดนตรีเหล่านี้ ได้ออกมาแสดงบ้าง “ผมมีไอเดีย” พอลเสนอความคิด “เรามาทำหนังด้วยกันสักเรื่อง หนังเกี่ยวกับนักแต่งเพลงสติเฟื่อง ล่อลวงนักดนตรีออร์เคสตร้าเยาวชนไปรวมตัวกันใช้ชีวิตอิสระเสรีในบ้านร้าง แบบสวรรค์ที่กลายเป็นฝันร้ายภายในไม่กี่วัน…” อัจฉริยภาพกับความบ้าคลั่ง แรงบันดาลจากจินตนาการของพอล ทั้งสองต่างตกลงเห็นด้วยกันทันทีจึงเกิดเป็น The Maestro: A Symphony of Terror

Cr. The Maestro

ทั้งสองตกลงแบ่งงานกันโดยพอล สปูร์เรียลทำหน้าที่กำกับการแสดง ผู้อำนวยการรับผิดชอบงานถ่ายภาพและตัดต่อ ส่วนสมเถา สุจริตกุล เป็นผู้อำนวยการผลิต เขียนบทภาพยนตร์และประพันธ์ดนตรีประกอบ รวมทั้งแสดงบทนำซึ่งมีเค้าชีวิตจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับดนตรีคลาสสิกที่สมเถาถนัด บรรเลงโดยสยาม ซินโฟนิเอตต้า ออร์เคสตร้าเยาวชนไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

การถูกพูดถึง

ถึงแม้แรกเริ่มจะเป็นภาพยนตร์ประเภท “กึ่งตลกมืด” ตามนิยามของพอล สปูร์เรียล นิตยสารระดับเด่นดังของลอนดอนยังกล่าวถึงว่าเป็นหนังเพลงสลับฆาตกรรมนอกจากนั้น ระหว่างที่เป็น ‘เพชรในตม’ ที่ยังไม่มีใครค้นพบ ภาพยนตร์ไทยยุคโควิดเรื่อง The Maestro: A Symphony of Terror ยังได้รับความสนใจและกล่าวขวัญถึงในวงการภาพยนตร์นานาชาติอย่างกว้างขวาง

The Maestro: A Symphony of Terror
Cr. The Maestro

กระแสข่าวจากนิตยสารต่างลงความเห็นว่าเป็นเรื่องของโรคระบาดในสังคมปัจจุบัน ปัญหากับพ่อแม่และการค้าประเวณี นอกจากได้รับเชิญไปเปิดตัวเป็นรายการเด่นในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโอลเดนเบิร์ก เยอรมนี นักแสดงและนักดนตรีเยาวชนไทยวง สยาม ซินโฟนิเอตต้า ยังได้รับเชิญไปบรรเลงร่วมกับวงเยาวชนท้องถิ่นในพิธีเปิด/ปิดเทศกาลประจำปี 2564 ซึ่งเป็นเกียรติที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การแสดงศักยภาพของศิลปินเยาวชนกับภาพยนตร์ไทยรอบปฐมทัศน์โลก ณ ใจกลางทวีปยุโรปน่าจะมีส่วนช่วยประเทศชาติให้ฟื้นตัวจากปัญหาด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งเสริมสร้างรากฐานในโลกภาพยนตร์ตลอดจนภาพลักษณ์ด้านดุริยางคศิลป์

นิตยสาร ‘เสียงคลาสสิกแห่งซาน ฟรานซิสโก’ กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “ตราบใดที่มีจินตนาการกับความมุ่งมั่น นักดนตรีก็สามารถเอาชนะได้แม้แต่ล็อคดาวน์โรคระบาด” ในที่สุด การถ่ายทำก็ผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อยสิ่งที่ตามมาอย่างไม่คาดฝันคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลากหลาย รวมทั้งได้รับรางวัลอันเป็นเกียรติสูงสุดตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

AWARDS รางวัล

  • Oldenburg Film Festival: Winner, Spirit of Cinema Award
  • Thai International Film Festival: Winner, Best Creative Vision Award
  • Singapore World Film Carnival: Outstanding Achievement Award Winner: SF and
    Genre
  • Ediplay International Film Festival (France): Best Original Music
  • Multi-Dimension International Film Festival: Best Feature Film, Best Music Score, Best
    Composer
  • Beyond the Curve Film Festival (France): Best Horror Film

PLACEMENTS ระดับที่ได้คัดเลือก

  • 4th Dimension International Film Festival: Finalist
  • Asian Cinematogaphy Awards: Semi-Finalist
  • Gold Movie Awards: Semi-Finalist
  • International Symbolic Art Film Festival: Categories: Best Feature, Best Original Score:
    Honorable Mention

OFFICIAL SELECTIONS ได้รับคัดเลือกเป็นทางการ

  • Anatolia International Film Festjval: Official Selection
  • Cinefantasy São Paulo: Official Selection
  • 5th Music Film Festival Los Angeles: Official Selection
  • Golden Bridge Festival Istanbul: Official Selection
  • International Sound and Film Music Festival: Official Selection
  • Iconic Images Film Festival: Official Selection
  • Sound on Sound Music Film Festival (Cape Town)
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.