ใกล้ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่เข้าไปทุกขณะ มีหลายคนที่ใช้โอกาสในช่วงปีใหม่ริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต รวมไปถึงรีโนเวท ตกแต่งบ้าน ที่อยู่อาศัย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบงาน งานหัตถกรรม และอยากสนับสนุนชุมชน HELLO! มีงานดีไซน์จาก 3 ศิลปินฝีมือดี ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อสร้างสรรค์งานคราฟต์ไทยสู่เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวยงามแปลกตา

ศรัณย์ เย็นปัญญา
ความแตกต่างและมีเอกลักษณ์อย่างสุดขั้วของ คุณศรัณย์ เย็นปัญญา ทั้งบุคลิก แนวคิด และการออกแบบคือตัวตนที่เราสนใจตั้งแต่แรกพบ เขาคือดีไซเนอร์ไทยที่เป็นขวัญใจใครหลายคน ด้วยฝีมือทางการออกแบบและเสน่ห์ที่น่รักของเขา เขากวาดรางวัลมามากมายตลอดระยะเวลาทำงานหลายปีที่ผ่านมา

■ Cheap Ass Elites Part 1
เมื่อหลายปีมาแล้ว ตั้งแต่เขากลับจากประเทศสวีเดน ที่ที่เขาไปศึกษาต่อเรื่อง Storytelling ใหม่ ๆ หลังจากที่จบปริญญาตรีสถาปัตยกรรม สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ ในตอนนั้นคุณศรัณย์เป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานน่าจับตามองในระดับสากล ผลงานของเขาจิกกัด ขบขัน เสียดสี สังคม และแนวคิดของมนุษย์ได้อย่างมีความหมายและรสนิยม เป็นเก้าอี้ขาทรงคลาสสิกที่ประกอบร่างกับชิ้นส่วนของลัง

Cheap Ass Elites 2 ■
ปัจจุบันคุณศรัณย์สร้างสรรค์ผลงานออกแบบผ่านโปรเจ็กต์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น FLVR Studio, Citizen of Nowhere และ One More Thing เป็นต้น โดยอธิบายถึงงานคราฟต์ในแบบฉบับของตัวเองว่า “งานคราฟต์ คือ Way of Living ครับ เราว่าถ้าเราเข้าไปสัมผัสกับชาวบ้านจริงๆ เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่ทักษะ แต่มันคือวิถีชีวิตของเขา อย่างเช่น บางทีไอ้นี่มันเหลือ ก็เลยเอามาทำไอ้นั่น หรืออย่างบางทีหน้านี้มันปลูกไอ้นี่แล้วก็มีเวลาว่างจากการทำทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นมันคือ ‘วิถี’ แล้วก็ ‘วิธี’ ซึ่งผมให้ความสำคัญกับคำนี้มาก คือมันมากกว่าคำว่า ‘ทักษะ’ หรือ ‘สไตล์’ ด้วยซ้ำ งานของผมมีความเป็นงานคราฟต์อยู่ในงานไม่มากก็น้อย แต่ไม่ใช่แกนของงานคราฟต์อย่างเดียว เป็นแกนของความยั่งยืนมากกว่า”

■ Noodle Stool
สิ่งที่มันสำคัญกว่า ‘ของ’ ก็คือ ‘คน’ เพราะชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ เขาควรต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น และมันมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไปช่วยเขาได้ อันนี้เป็นมิชชั่นของผม และยิ่งกว่านั้น ผมอยากสร้างคอมมิวนิตี้ของนักสร้างสรรค์ เราต้องไม่เก๋อยู่คนเดียว
– ศรัณย์ เย็นปัญญา –

ธีรพจน์ ธีโรภาส
“กลิ่นของหวายและไม้ไผ่โดยเฉพาะตอนรมควัน ตอนที่ได้สัมผัสและร่วมเรียนรู้กับช่างฝีมือเป็นครั้งแรก ทำให้เราย้อนเวลากลับไปนึกถึงความประทับใจ นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในงานหัตถกรรมของผมเลยครับ” คุณพีท – ธีรพจน์ ธีโรภาส กล่าวถึงความ รู้สึกต่อ งานหัตถกรรม ที่เขารักอย่างสนุกสนานให้เราได้ฟัง คุณพีทเรียนจบการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยตรงและมีผลงานการออกแบบฝากไว้กับแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย

■ Steel Bamboo ผลงานการออกแบบ bench หรือ ม้านั่งยาวที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของวัสดุอย่างไม้ไผ่และเหล็ก
ปัจจุบันคุณพีทเป็นเจ้าของแบรนด์ Kit.Ta.Khon ที่เขาก่อตั้งเมื่อราว 3 ปีที่แล้วโดยเขาได้ถ่ายทอดความรักในงานคราฟต์ของเขาผ่านงานออกแบบสนุก ๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ และได้รางวัลจากที่ต่าง ๆ ทั้งในไทยและระดับสากล เขาบอกกับเราว่าเขาพยายามเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นหลักในผลงานการออกแบบของเขา

■ ตู้รุ่น Macro ผสมผสานวัฒนธรรมของตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน อย่างลงตัว

Hula ■ รายละเอียดจากมุมสูงของผลงานออกแบบสตูลที่มีทั้งความสวยงามและสนุกสนานของงานคราฟต์

■ โต๊ะรุ่น Chino นำภาษาของคอนโซลจีนมาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมจากตะวันตกและแอฟริกา
Kitt.Ta.Knon เริ่มต้นจากการอยากได้ชื่อที่ไม่ได้บ่งบอกถึงที่มาของคำหรือภาษา เพราะเราเชื่อว่างานคราฟต์เป็นสิ่งสากลที่ทุกวัฒนธรรมมีสวนร่วมซึ่งกันและกัน งานของเราจะเน้นเรื่องงานจักสานผสมผสานเทคนิคและลวดลายจากวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ไทย โมร็อกโก แอฟริกัน และเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญใน Accent Chair โดยเฉพาะ
– ธีรพจน์ ธีโรภาส –

รัฐ เปลี่ยนสุข
เราได้สัมภาษณ์ คุณรัฐ เปลี่ยนสุข จากบ้านที่ปารีส ผลงานการออกแบบของเขาผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกับงานศิลปะ เป็นงานกึ่งสะสมแบบลักซ์ชัวรีที่วางขายตามแกลเลอรี่ต่าง ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงโรงแรมหรูในประเทศไทย เอกลักษณ์อยู่ที่การนำองค์ความรู้โบราณกลับมาใช้ใหม่ในยุคปัจจุบัน ผ่านการออกแบบที่น่าสนใจ ทำให้เกิดมูลค่าต่อชิ้นงาน เขาทำงานออกแบบร่วมกับชุมชนมามากมายโดยเน้นการกระจายรายได้ที่เข้าไปถึงชุมชนจริง ๆ เพื่อให้ซุมชนต่าง ๆ เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี

■ โต๊ะข้างทองเหลือง Khing

■ โต๊ะข้างทองเหลือง Nenuphar สะท้อนความรู้สึกนึกคิดอันสวยงามราวบทกวีต่อธรรมชาติ
ปัจจุบันคุณรัฐก่อตั้ง Sumphat Gallery ร่วมกับ Philippe Moisan ช่างภาพชาวฝรั่งเศส และนอกเหนือจากการเป็นสถาปนิก นักออกแบบ และศิลปิน คุณรัฐยังนำความรู้ด้าน Branding, Marketing มาประยุกต์ใช้อีกด้วย มุมมองเขาจึงค่อนข้างกว้างและน่าสนใจ มีทั้งความเก่าและความใหม่ มีความตะวันออกและตะวันตกอยู่ในตัว
จุดเริ่มต้นของการทำงานคราฟต์กับชุมชน มาจากที่เราอยากช่วยชุมชนตั้งแต่แรก เราเริ่มทำงานนี้เพราะเราเห็น ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างท่านเป็นฮีโร่ของเรา เราอยากทำตาม สองอย่างที่ชัดเจน คือ การเข้าถึงพื้นที่ และการแก้ปัญหาจริง ๆ ด้วยวิธีที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ
– รัฐ เปลี่ยนสุข –

■ Kong-Ga-Pan' Bench ม้านั่งยาวที่นำความเชื่อของวัฒนธรรมไทยเรื่องการสักยันต์บนผิวหนังของมนุษย์มาตีความใหม่
นอกจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 คุณรัฐ เผยถึงอีกหนึ่งแรงบันดาลใจว่าคือ “หนังสือเรื่อง Ornament and Crime ของ Adolf Loos ซึ่งเป็นหนังสือพื้นฐานที่นักศึกษาสถาปัตย์จะต้องเรียนกัน ได้กลายเป็นหนังสือเปลี่ยนโลกของผม ผมเห็นปัญหาของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การลดความสามารถของช่างหัตถกรรม และการใช้แรงงานคุณภาพต่ำในการผลิตสินค้า เราไม่ต้องการแบบนั้น เราจะแข่งขันกับตลาดอย่างไร ให้แรงงานมี Quality of Living เวลาที่เราเข้าชุมชน เราต้องกลับไปที่ประวัติศาสตร์ ถ้าเราทำงานคราฟต์ เราต้องส่งต่อไปถึงชุมชนได้ แม้ว่ามันลำบากเราก็ต้องทำ เพื่อรักษาองค์ความรู้ และวิถีชีวิตอันสงบสุข”

Flare of Storm ■ ผลงานออกแบบซึ่งเล่นกับแสงและเงา ที่นำหนังใหม่มาทำเป็นของแต่งบ้าน
พบงานออกแบบของเหล่าศิลปินมากความสามารถ กับการนำความเป็นไทย มาถ่ายทอดทั้งในรูปแบบของบ้าน และงานดีไซน์ ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ได้ในนิตยสาร HELLO! Vol.17 No.11
ซื้อนิตยสาร HELLO! ได้ที่เว็บไซต์ ?shop.burdathailand.com