Home > Beauty & Health > 4 สเต็ป ดูแลเล็บให้สวยสุขภาพดี จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

‘เล็บ’ เป็นส่วนเล็ก ๆ บนร่างกายที่สำคัญไม่น้อย เนื่องจากบ่งบอกถึงสุขภาพร่างกาย และสามารถเป็นสัญญาณของการเกิดโรคบางชนิดได้ ดังนั้นนอกจากหมั่นดูแลเล็บให้สะอาดสะอ้านสวยงามแล้ว จึงควรสังเกตความผิดปกติของเล็บด้วย ใน พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง ‘โรงพยาบาลสุขุมวิท’ กับ ‘วิทยาลัยแพทยสาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 โรงพยาบาลสุขุมวิท เมื่อเร็ว ๆ นี้ ‘พญ.สุเนตรา นิตยวรรธนะ’ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านตจวิทยา ศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลสุขุมวิท ได้ให้ความรู้ภายใต้หัวข้อ ‘เรื่อง ‘เล็บ’ ที่ไม่ควรมองข้าม’ พร้อมแนะนำเคล็ดลับ ดูแลเล็บ ให้สุขภาพดี

เล็บขาว ©hfocus
เล็บแบนและบุบ ©sistacafe

พญ.สุเนตรา นิตยวรรธนะ กล่าวว่า “เล็บเป็นอวัยวะเล็ก ๆ ที่สามารถบ่งบอกโรคทางร่างกายได้ บางคนขาด แร่ธาตุ หรือ วิตามิน ก็จะมีอาการทางเล็บก่อนที่จะมีอาการทางระบบอื่น ๆ 3 ลักษณะเล็บที่อาจเป็นสัญญาณของสุขภาพร่างกาย แบบแรก คือ ‘เล็บมีลักษณะเป็นสีขาว หรือแดงเกินไป’ บ่งบอกว่าอาจมีภาวะ ไต หรือ ตับ บกพร่อง, แบบที่ 2 ‘เล็บแบน’ เล็บแบนมีหลายลักษณะ หาก ‘แบนเล็กน้อย’ อาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก มีภาวะซีด บางครั้งพบในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาก หรืออยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน แต่หาก ‘แบนและมีร่องตรงกลาง’ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการมีเนื้องอกบริเวณใต้เล็บ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้จะมีอาการเจ็บร่วมด้วย สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

ดูแลเล็บ
เล็บเกิดเส้นสีน้ำตาล ©hellokhunmor

อีกลักษณะที่ต้องกังวลคือ แบบที่ 3 เกิดเส้นสีน้ำตาลบริเวณเล็บ มีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข็ม หากเป็นสีน้ำตาลอ่อน อาจเกิดจากไฝที่ขึ้นบริเวณโคนเล็บ เนื่องจากโคนเล็บเปรียบเสมือนโรงงานที่ผลิตเล็บขึ้นมา ดังนั้นหากมีไฝบริเวณโคนเล็บ ก็อาจทำให้เล็บออกมาเป็นเส้นสีน้ำตาลได้ ไม่ถือว่าผิดปกติ แต่หากเส้นสีน้ำตาลมีลักษณะหนาและใหญ่ มีทั้งสีเข้มและอ่อนสลับกัน หรือเลยมาถึงบริเวณผิวหนัง แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง”

ดูแลเล็บ
©cottonbro / pexels

สำหรับ 4 สเต็ป ดูแลเล็บ ให้สวยสุขภาพดี จาก พญ.สุเนตรา นิตยวรรธนะ มีดังนี้

งดการแคะ แกะ หรือ ตัดหนังบริเวณรอบเล็บ

เป็นปกติของสาว ๆ หลายคนที่ชอบไปทำเล็บ เป็นสิ่งต้องระวังเนื่องจากบางครั้งช่างตัดหนังรอบเล็บออกไปจนหมด ซึ่งหนังรอบเล็บเปรียบเสมือนประตูที่เราซีลไว้ ถ้าเกิดหนังรอบเล็บหลุดออกไปมากจะทำให้น้ำและเชื้อโรคเข้ามาบริเวณเล็บได้มากตามไปด้วย จนอาจเกิดเชื้อรา หรือแบคทีเรียบริเวณเล็บ เพราะฉะนั้นการตัดหนังบริเวณรอบเล็บจึงควรทำแต่พอดี

ดูแลเล็บ
©drazenzigic / freepik

เช็ดมือและเล็บให้แห้ง

ช่วงนี้หลายคนล้างมือบ่อย ทุกครั้งหลังล้างมือควรซับมือและบริเวณรอบเล็บให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บอับชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราในเล็บ

ดูแลเล็บ
©Racool_studio / freepik

บำรุงเล็บด้วย ครีม หรือ ปิโตรลาตัมเจล

ก่อนนอนใครมีเวลาว่างควรทาครีมหรือปิโตรลาตัมเจลบริเวณรอบเล็บ ช่วยให้จมูกเล็บนิ่ม และเล็บแข็งแรง

ดูแลเล็บ
©Gil Ndjouwou / unsplash

รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงเล็บ

หากไม่ได้มีปัญหาเรื่องเล็บ การรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน หรือกรดไขมันดี อาทิ อโวคาโด ถั่วต่าง ๆ น้ำมันรำข้าว จะช่วยให้เล็บแข็งแรงชุมชื้น แต่หากเล็บมีปัญหาอาจต้องพึ่งอาหารเสริมอย่าง ไบโอติน ซึ่งปริมาณไบโอตินที่ช่วยกู้เล็บให้กลับมามีสุขภาพดี ต้องได้รับประมาณ 5,000 – 10,000 ไมโครกรัมต่อวัน.

Credit Photo: hfocus , sistacafe , hellokhunmor , cottonbro/pexels , drazenzigic/freepik , Racool_studio/freepik , Gil Ndjouwou/unsplash


อ่านเคล็ดลับ HEALTH & BEAUTY เพิ่มเติม

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.