ไขข้อสงสัย…5 คำถามยอดฮิตที่เหล่าคู่แต่งงานใหม่ต้องรู้ พบคำตอบได้ที่ Conrady A.R.T. Clinic
สำหรับคู่ที่กำลังจะแต่งงาน หรือเพิ่งแต่งงาน ต้องมีการวางแผนที่จะมีลูก ซึ่งทุกคู่มีเงื่อนไขในการวางแผนแตกต่างกัน HELLO! ได้รวบรวม 5 คำถามยอดฮิตจากคู่แต่งงานใหม่ที่สงสัยในเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนมีลูก ตอบโดย ‘คุณหมอกิ๊ฟ-แพทย์หญิงจริยา หล่อวัฒนศิริกุล’ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เจริญพันธุ์
‘การเก็บไข่แช่แข็งเป็นการทำให้มั่นใจได้ว่า
คู่สามีภรรยามีไข่ที่คุณภาพดีสำหรับการวางแผนการมีลูกในอนาคต’

1. ต้องสังเกตอย่างไรว่าคู่ของตัวเองเข้าข่ายว่ามีลูกยากแล้ว?
โดยทั่วไป ถ้ามีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอในเวลาที่เหมาะสม ก็คือช่วงไข่ตกกลางรอบ ประมาณ 1 ปีแล้วยังไม่มีลูก ก็จะเข้าข่ายมีลูกยาก หากภรรยาอายุเกิน 40 ปีก็แนะนำให้ปรึกษาเพื่อหาสาเหตุของการมีบุตรยากเร็วขึ้น ถ้ารอนานไป การทำงานของรังไข่ลดลง สุขภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุมากขึ้น จะทำให้การรักษาภาวะมีบุตรยากซับซ้อนมากขึ้นค่ะ
2. ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอาจเกิดภาวะมีลูกยาก?
อายุเป็นปัจจัยที่สำคัญ รวมถึงความเครียด ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีข้อมูลชัดเจนว่าเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณและคุณภาพของไข่ก็จะลดลง ลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติมากขึ้นด้วย ปัจจัยต่อมาก็คือสุขภาพร่างกายของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แข็งแรงดีไหม มีโรคประจำตัว หรือต้องใช้ยาอะไรหรือไม่
สำหรับสภาพแวดล้อมที่จะมีผลอย่างมากเลยก็คือ ควันบุหรี่และมลพิษต่างๆ บุหรี่จะมีผลเสียตั้งแต่ทำให้ดีเอ็นเอในไข่และสเปิร์มเกิดการแตกหักได้โดยที่เราไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก แล้วยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงค่ะ
3. คู่สามีภรรยาอายุน้อยวางแผนที่จะมีลูกกันในอีก 5 ปีข้างหน้า คุณหมอคิดว่าการวางแผนเก็บไข่หรือตัวอ่อนมีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร?
อย่างแรกเลยก็คงต้องดูว่าอีก 5 ปีข้างหน้าอายุเท่าไหร่แล้ว เพราะคุณภาพของไข่อาจจะแย่ลง ถ้าอายุไม่เกิน 35 ปี สามารถเตรียมร่างกายให้พร้อมแล้วลองมีตามธรรมชาติได้ค่ะ แต่ถ้าอายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสที่มีลูกยากขึ้น สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือความผิดปกติทางโครโมโซมของเด็กก็จะมีโอกาสมากขึ้นด้วย การแช่แข็งไข่หรือตัวอ่อนก็จะเป็นการทำให้มั่นใจได้ว่าคู่สมรสมีไข่หรือตัวอ่อนที่คุณภาพดี (ในอายุแม่ที่เหมาะสม) เพื่อย้ายกลับเมื่อเราพร้อมที่จะตั้งครรภ์ค่ะ
อีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาใดๆ ก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้นกับไข่และสเปิร์มในอนาคต เช่น การใช้เคมีบำบัด รังสีรักษา หรือการผ่าตัดที่ทำให้การทำงานของรังไข่แย่ลงหรือหมดไป การเก็บไข่แช่แข็งก็อาจเป็นการทำให้มั่นใจได้ว่า คู่สามีภรรยามีไข่ที่คุณภาพค่อนข้างดีสำหรับการวางแผนการมีลูกในอนาคตค่ะ

4. ก่อนกระบวนการทำ IVF คู่สมรสต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
สำหรับในคู่สมรสที่เข้ารับการทำเด็กหลอดแก้ว แนะนำให้เตรียมพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจประมาณ 2 – 3 เดือน โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 8 – 9 ชั่วโมงต่อวัน รักษาน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3 วันต่อสัปดาห์ งดบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ วางแผนจัดการงานเพื่อลดงานที่เร่งรีบ หรือการเดินทางไกลในระหว่างการทำเด็กหลอดแก้ว แล้วก็ลดความเครียด ผ่อนคลาย เพื่อให้ร่างกายพร้อมและตอบสนองต่อการรักษาได้ดีที่สุด
5. คู่สมรสที่ภรรยาอายุ 40 ปี สามีอายุ 52 ปีอยากมีลูก คุณหมอให้คำแนะนำในการวางแผนมีบุตรอย่างไร?
ผู้ชายอายุ 52 ปี ถ้าสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ให้ลองตรวจคุณภาพของน้ำอสุจิดูนะคะ ถ้าคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ไม่น่ากังวล แนะนำให้ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อน ลดความเครียด แต่หากพบว่าอสุจิผิดปกติ ก็ต้องดูว่าผิดปกติมากน้อยแค่ไหน และจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
ส่วนผู้หญิงอายุ 40 ปี คาดว่าปริมาณและคุณภาพของไข่ก็อาจจะเริ่มลดลง แนะนำให้รีบปรึกษากับแพทย์เพื่อวางแผนมีบุตร โดยอาจจะเริ่มจากการพูดคุยซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจดูว่าการทำงานของรังไข่ โดยการตรวจฮอร์โมนต่างๆ และอัลตราซาวด์ และต้องมีการพูดคุยเพื่อประเมินปัจจัยอื่นๆ ทั้งในเรื่องของโรคประจำตัว น้ำหนัก ไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น นับวันไข่ตกเพื่อมีเพศสัมพันธ์ ทำการฉีดเชื้อผสมเทียม ถ้าไม่สำเร็จควรจะทำเด็กหลอดแก้วเมื่อไหร่ อัตราความสำเร็จเป็นอย่างไรค่ะ
คอนราดี เอ.อาร์.ที. คลินิก (Conrady A.R.T. Clinic) เลขที่ 152 อาคารเคี่ยนหงวนเฮ้าส์ 3 ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หรือ โทร. 0–2494–8320