‘โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า’ ธรรมะวาทะของพระพยอม ที่แม้หลายคนจะได้ยินจนคุ้นหู แต่ช่วงนี้คงต้องนำมาพูดทวนกันให้มากหน่อย เพราะทั้งสภาวะอากาศแสนร้อน หรือสภาพสังคมอันตึงเครียด ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเกิดความโกรธขึ้นง่ายๆ
วันนี้เราจึงขอแนะนำ ’10 เคล็ดลับห้ามความโกรธ’ สำหรับใครที่ ‘หัวร้อน’ บ่อยๆ จะได้ไม่ต้องไปกระทบกระทั่งกับใคร แถมยังได้สุขภาพจิตใจที่ดีกลับมาอีกด้วย!
1. คิดก่อนพูด
ในช่วงที่เรากำลังมีอารมณ์เดือดดาลอยู่นั้น เราอาจพูดจาอะไรที่ฟังดูรุนแรงออกไปได้ง่าย ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เราต้องมานั่งเสียใจทีหลังก็ได้ ฉะนั้นก็ใช้เวลารวบรวมความคิดสักครู่ก่อนจะพูดอะไรออกไป รวมทั้งให้คนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์มีโอกาสได้ทำแบบเดียวกับคุณด้วย
2. เมื่อรู้สึกสงบแล้วค่อยแสดงความโกรธ
ทันทีที่คุณคิดได้แล้ว ก็แสดงความขับข้องใจของคุณออกไปอย่างแน่วแน่ แต่ไม่ใช่ในแบบท้าตีท้าต่อย ระบุความกังวลและความต้องการของคุณออกไปให้ชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บ หรือพยายามจะควบคุมอีกฝ่ายให้อยู่ภายใต้ความเดือดดาลของคุณ
3. ออกกำลังกายบ้างนะ
กิจกรรมที่ได้ใช้ร่างกายนั้นสามารถช่วยลดความเครียด ที่อาจก่อให้เกิดเป็นอารมณ์โกรธขึ้นมาได้ ฉะนั้นถ้าคุณรู้สึกว่าอารมณ์กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นล่ะก็ ออกไปทำกิจกรรมที่ได้ออกกำลังหรือวิ่งซะ
4. ขอเวลาสงบอารมณ์
การขอเวลาสงบอารมณ์ไม่ได้ไว้ใช้กับเด็กที่ชอบอาละวาดเท่านั้นนะ ฉะนั้นก็ขอเวลาพักใจซะในช่วงที่ดูเหมือนจะมีเรื่องเครียดๆ เกิดขึ้น การได้สงบอารมณ์คนเดียวเงียบๆ อาจช่วยให้คุณรู้สึกพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ทำให้เกิดความบาดหมางหรือความโกรธ
5. หาวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้
แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกโกรธ ก็คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาในเรื่องนั้นจะดีกว่า เช่น ห้องนอนรกๆ ของลูกทำให้คุณเป็นบ้าใช่มั้ย? ให้ปิดประตูซะ หรือปัญหาอย่างการที่คนรักมาดินเนอร์กับคุณช้าเป็นประจำ! ก็ลองขยับเวลาดินเนอร์ออกไปให้ช้าอีกนิด หรือตกลงกันว่าต่างคนต่างกินในวันธรรมดา จงเตือนตัวเองเอาไว้เสมอว่า ความโกรธไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะทำให้อะไรๆ แย่ลง
6. ใช้คำว่า “ฉัน” ในการอธิบาย
หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์หรือการตำหนิ ซึ่งนั่นอาจทำให้สถานการณ์เต็มไปด้วยความรุนแรงมากขึ้น ใช้คำว่า “ฉัน” ในการชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาดีกว่า โดยควรจะอยู่ในขอบเขตของความยำเกรงและมีรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น การพูดว่า “ฉันรู้สึกโกรธที่คุณลุกออกจากโต๊ะกินข้าว โดยไม่เสนอตัวที่จะช่วยฉันล้างถ้วยล้างชามเลย” แทนที่จะพูดว่า “คุณไม่เคยช่วยทำงานบ้านอะไรเลย“
7. อย่าเก็บงำความโกรธเอาไว้
การให้อภัยคืออาวุธลับที่ทรงพลัง ถ้าคุณปล่อยให้ความโกรธหรือความรู้สึกทางด้านลบ มามีอนุภาพเหนือความรู้สึกทางด้านบวกล่ะก็ คุณอาจจะพบว่าคุณเองนั่นแหละที่ต้องนั่งระทมทุกข์อยู่กับความขมขื่น หรือความรู้สึกไม่ยุติธรรม แต่ถ้าคุณให้อภัยคนที่ทำให้คุณรู้สึกโกรธได้ คุณทั้งคู่ก็อาจจะได้บทเรียน และช่วยให้ความสัมพันธ์กระชับแน่นกันมากขึ้น
8. ใช้อารมณ์ขันสลายความเครียด
ความร่าเริงอาจช่วยลดความตึงเครียดลงได้ ใช้อารมณ์ขันในการช่วยให้คุณเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกโกรธได้ และอย่าได้คาดหวังให้อะไรๆ คลี่คลายแบบไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ก็หลีกเลี่ยงการใช้คำเสียดสี ซึ่งจะทำร้ายความรู้สึก และทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเข้าไปกันใหญ่
9. ฝึกทักษะการผ่อนคลาย
เมื่อความรู้สึกโกรธผุดขึ้นมา ก็ใช้ทักษะการทำให้รู้สึกผ่อนคลายยับยั้งเอาไว้ซะ โดยฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ หรือจินตการถึงฉากหลังที่ชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือท่องคำหรือวลีที่ชวนให้รู้สึกสงบซ้ำไปซ้ำมา เช่นท่องวลีทีว่า “ใจเย็นๆเอาไว้” นอกจากนี้ก็อาจใช้วิธีฟังเพลง เขียนบันทึก หรือเล่นโยคะซักสองสามท่า หรือทำอะไรก็ได้ที่ช่วยให้คุณรู้สึกสงบเยือกเย็นลงได้
10. รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ต้องขอความช่วยเหลือ
การเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์โกรธนั้นเป็นเรื่องท้าทาย แต่ถ้าความรู้สึกโกรธนั้นเกินจะควบคุมไหว คุณก็ต้องร้องขอความช่วยเหลือแล้วล่ะ เนื่องจากความโกรธที่เกินจะควบคุมนั้น อาจก่อให้คุณทำอะไรที่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง หรือทำอะไรให้คนรอบข้างต้องชอกช้ำระกำใจได้
………………………………………