Home > Beauty & Health > Health & Wellness > แชร์เคล็ดลับดูแลตัวเองกับ ‘คุณมิ้นท์-อรรถวดี จิรมณีกุล’ สวยสมวัยเปี่ยมพลังจากสาวตระกูลดัง 3 เจเนอเรชัน

เรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงยุคใหม่ได้เป็นอย่างดีสำหรับสามสาวสามรุ่นของตระกูลดังจิรมณีกุล และธนาลงกรณ์ ที่ทั้งสวย เก่ง และดูแลสุขภาพกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ‘คุณมิ้นท์-อรรถวดี จิรมณีกุล’,’คุณชิ่น-ธนพร จิรมณีกุล’ และ ‘คุณดา-วิยะดา ธนาลงกรณ์’ ซึ่งทั้งหมดได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวดีๆ กันเสมอในวันว่างของครอบครัวที่ชักชวนมารับประทานอาหารด้วยกัน บทสนทนาในวันนี้จึงเหมือนเราได้ร่วมวงกับทั้งสามคนที่บ้านอย่างไรอย่างนั้น

‘คุณมิ้นท์-อรรถวดี จิรมณีกุล’

เริ่มจากอดีตนักร้องสาวเสียงดีของค่ายแกรมมี่อย่าง ‘คุณมิ้นท์-อรรถวดี จิรมณีกุล’ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Corporate Affairs & PR Director ให้กับ Minor International PCL ซึ่งเธอได้ร่วมงานกับบริษัทนี้มานานถึง 7 ปี “มิ้นท์เป็นคนเดียวที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจของครอบครัว สำหรับการทำงานกับไมเนอร์จะรับผิดชอบภาพรวมของทั้งกลุ่มโรงแรม อาหาร และไลฟ์สไตล์รีเทล โดยเฉพาะด้านโรงแรมที่ทำให้ได้เดินทางไปพบเจอกับสถานที่ใหม่ๆ ประเทศใหม่ๆ และได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมที่เราไม่เคยเจอมาก่อน แต่ถึงแม้จะได้รับความสุขจากการเดินทาง ก็มีความเหนื่อยล้าและความตึงของกล้ามเนื้อกลับมาด้วย สำหรับสาววัยสามสิบกลาง เรื่องที่ต้องเริ่มใส่ใจเป็นพิเศษคือการวางแผนทางการแพทย์เกี่ยวกับการมีครอบครัว เราอายุประมาณนี้แล้ว ถ้าอยากมีลูกในอนาคตก็ต้องหาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ สร้างทางเลือกให้กับตัวเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้หญิงสตรองที่นอกจากสวยหน้าตา แกร่งเรื่องสุขภาพ ยังต้องฉลาดในการใช้ชีวิต หมั่นพัฒนาตัวเอง ผู้หญิงสมัยนี้เป็น working woman กันมากขึ้น อาจจะมีครอบครัวช้าลงในบางคน เพราะใช้ชีวิตอย่างอิสระและเป็นตัวเองอย่างเต็มที่” 

​Experts Say:

ประเดิมด้วยกลุ่มผู้หญิงในวัยทำงานหรือ Working Woman ที่อยู่ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป พวกเธออาจใช้ชีวิตอย่างเต็มที่จนละเลยการตรวจสุขภาพและวางแผนครอบครัว นำมาสู่การมีภาวะครรภ์เสี่ยงไปจนถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับลูกในอนาคตที่เรียกว่าเด็กแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal Intensive Care Unit: NICU)

โดย ‘นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล’ สูติแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ได้ให้คำแนะนำดังนี้ “ปัจจุบันไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงทำงานหนักไม่แพ้ผู้ชาย เครียดและคิดจะมีลูกช้าลง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น สำหรับใครที่วางแผนจะมีบุตรควรเตรียมตัวและตรวจสุขภาพ โดยทั่วไปจะแนะนำให้ตรวจร่างกายทั่วไปว่าตัวเองมีโรคประจำตัวซ่อนอยู่หรือไม่ พื้นฐานคือความดัน น้ำตาล ไขมัน มะเร็งปากมดลูก ส่วนโรคอื่นที่เฉพาะเจาะจงไปก็แล้วแต่กรณี เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไทรอยด์ ก็ควรตรวจว่าเป็นหรือไม่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของคุณแม่ที่มาฝากท้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกิดครรภ์เสี่ยงได้มาก ส่วนสิ่งที่ทุกคนทำได้ก่อนคือเสริมวิตามินบี 9 หรือยาโฟลิกก่อนจะตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งเดือน”

‘พญ.พรภัทร์ พรลาดนันท์’ แพทย์ผู้ชำนาญการทารกแรกเกิด และ ‘นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล’ สูติแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ทางด้าน ‘พญ.พรภัทร์ พรลาดนันท์’ แพทย์ผู้ชำนาญการทารกแรกเกิด กล่าวเสริมอีกว่า “ในส่วนของเด็กทารกแรกเกิดวิกฤติ โดยส่วนใหญ่ที่เราพบบ่อยในช่วงนี้คือลูกคลอดก่อนกำหนด โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงที่อายุเยอะหรือมีโรคต่างๆ จะมีความเสี่ยงเรื่องเจ็บท้องก่อนกำหนดและทำให้ต้องคลอดเด็กก่อนเวลาที่ควรจะเป็น ยิ่งถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,000 กรัม ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น”

“ทางทีมของเราจะมีแพทย์ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้นไม่ว่าเด็กจะมีอาการรุนแรงขนาดไหนก็สามารถดูแลได้ ทั้งที่อยู่ในครรภ์ครบกำหนดแต่มีภาวะวิกฤติในหลายๆ อย่าง เด็กที่เกิดก่อนกำหนด เด็กที่มีปัญหาเรื่องหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือมีปัญหาทางศัลยกรรมที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เราสามารถทำการรักษาได้ทันที”

 

‘คุณชิ่น-ธนพร จิรมณีกุล’

อีกหนึ่งสาวที่นั่งยิ้มรออยู่ใกล้ๆ คือ ‘คุณชิ่น-ธนพร จิรมณีกุล’ น้องสะใภ้คนสวยของคุณมิ้นท์ที่กำลังอยู่ในช่วงลาคลอดลูกคนที่สอง ซึ่งเธอกระซิบบอกว่ากำลังจะกลับไปทำงานเต็มตัวอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้ กับบทบาทจีเอ็มคนเก่งของเอส.ที. ไดมอนด์ ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายแบรนด์นาฬิกาและเครื่องประดับ Piaget และ Chopard “ตอนนี้ชิ่นอยู่ในช่วงลาคลอดลูกคนที่สอง (น้องเนล-ณิลิน จิรมณีกุล) แต่ถึงแม้อยู่บ้านเป็นหลักก็ทำงานไปด้วย คุยโทรศัพท์ ตอบอีเมลตลอด ยังสนุกสนานกับการทำงานแม้จะทำงานนี้มา 6 ปีแล้ว ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอนการทำงานและต้องใช้ทักษะการประสานงานที่สูงมาก 

เรื่องการดูแลตัวเองช่วงนี้อาจจะไม่ได้เต็มที่เหมือนช่วงก่อนจะเป็นคุณแม่ การออกกำลังกายก็ทำไปพร้อมลูกชายคนโต (น้องเคล-ณภัทร จิรมณีกุล) พาเขาไปวิ่งเล่น ว่ายน้ำ แม่ก็ได้ออกแรงไปด้วย ตอนนี้อายุ 3 ขวบกว่าแล้วก็จะเป็นห่วงเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ กังวลเวลาไปโรงเรียนอาจจะติดโรคจากเพื่อน ก็จะสอนให้ล้างมือบ่อยๆ ที่ผ่านมาก็มีป่วยบ้างตามประสาเด็ก ติดหวัดจากเพื่อน เคยป่วยไข้หวัดใหญ่ ส่วนลูกสาวอายุ 2 เดือนก็สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่คุณแม่แอบมีปัญหาปวดท้องบ้างเพราะลูกยังเล็ก ทำให้กินข้าวไม่เป็นเวลา แต่อย่างไรก็ต้องสตรองเข้าไว้ ไม่ว่าจะสวมหมวกใบไหน ผู้หญิงทุกคนสามารถทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในแบบของตัวเองได้”

​Expert Says:

‘นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์’ กุมารแพทย์ จากโรงพยาบาลกรุงเทพ

ด้าน ‘นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์’ กุมารแพทย์ จากโรงพยาบาลกรุงเทพ เลยออกมาแนะนำโปรแกรมการดูแลสุขภาพเด็กให้แข็งแรงสมวัย ให้กับคุณแม่มือใหม่ว่า “โปรแกรมจะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน ถ้าเป็นเด็กที่คุณแม่ฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาล โปรแกรมจะถูกสอดแทรกไว้อยู่แล้วในการมาตรวจตามนัดปกติ แต่ถ้าเป็นเด็กที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน เราจะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับเด็กที่มีอายุ 1 – 4 ขวบ ในช่วงนี้หลักๆ ที่จะดูคือเรื่องภาวะโลหิตจาง เพราะพบได้บ่อยพอสมควร เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีโภชนาการที่ไม่ดีนัก บางคนรับประทานเยอะแต่ไม่ครบถ้วน ฉะนั้นเราจะตรวจว่ามีภาวะซีดหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก หรือโรคบางอย่างที่คนไทยเป็นกันมาก เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งบางคนอาจเป็นพาหะแฝงได้ ในกลุ่มนี้จะมีการตรวจละเอียดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะให้พบกับกุมารแพทย์ที่ชำนาญเรื่องพัฒนาการของเด็ก ซึ่งจะดำเนินการตรวจกรองด้วยแบบประเมินที่เหมาะสมกับแต่ละวัย สุดท้ายที่เรามักจะลืมกันไปคือทันตกรรม ปกติจะแนะนำให้พบทันตแพทย์เด็กตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบขึ้นไป เพื่อประเมินสุขภาพของช่องปาก แนะนำการดูแลฟัน และเคลือบฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ”

 

‘คุณดา-วิยะดา ธนาลงกรณ์’

และสุภาพสตรีที่รอจะปิดท้ายการสัมภาษณ์ในครั้งนี้คือ ‘คุณดา-วิยะดา ธนาลงกรณ์’ คุณน้าของคุณมิ้นท์ที่ยังคงความสวยอ่อนเยาว์ไว้ได้ในวัย 61 กะรัต เธอยังคงสนุกสนานกับการดูแลโครงการ Ananda Home Place ในย่านบางนา และร้านอาหาร Home Cake Cafe ที่ซอยสาทร 11 “สำหรับตัวเองในวัยนี้ก็อยากจะพักผ่อนแล้ว แต่คิดว่าถ้าได้ทำอะไรบ้างน่าจะดีกว่า ทำงานสักวันละประมาณสามชั่วโมงไปดูแลลูกค้า เวลาเจ้าของธุรกิจเข้าไปดูแลการทำงานบ้าง ลูกน้องจะมีกำลังใจ บวกกับมีคนรอบข้างเป็นอัลไซเมอร์เยอะมาก การทำงานน่าจะช่วยให้สมองได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดูแลตัวเองในช่วงอายุย่างเข้า 62 ปี ก็มีทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจ เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วงเช้าเข้ายิมประมาณ 40 นาที เดินอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ซึ่งมีไอดอลที่ดีทั้งคุณแม่และพี่สาว ทำให้เราออกมาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง รู้สึกว่ามันดีขึ้นจริงๆ สุขภาพแข็งแรงขึ้น ส่วนเรื่องอาหารจะดูแลเรื่องไขมันเป็นพิเศษ เลือกกินอาหารที่ให้พลังงานต่ำ เน้นกินปลา อยากจะทำอาหารประเภททอด ก็ไม่ละเลยที่จะใช้เครื่องทอดแบบไม่ใช้น้ำมัน นอกจากเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย จิตใจสำคัญมาก ต้องคิดบวก คิดดี พูดดี ทำดี เมตตาคนรอบข้าง จะสวดมนต์ทุกวันเช้าเย็นและไปวัดอยู่เรื่อยๆ ความสบายใจจะช่วยทำให้ระบบในร่างกายทำงานได้ดี ตัวเองมีความเชื่อแบบนี้  ส่วนนิยามของผู้หญิงสตรองของตัวเอง คือต้องอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง ถ้าทำได้จะรู้สึกปล่อยวางกับทุกสิ่งทุกอย่าง ใจเราจะเบาลงทันที”

​Expert Says:

สุดท้ายแต่ไม่ได้มีความสำคัญน้อยแต่อย่างใดนั่นคือกลุ่มผู้หญิงอาวุโสที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าท่านจะเป็นคุณแม่หรือคุณย่าคุณยายของใครหลายคน เราไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพของท่าน โดยเฉพาะเรื่องผู้หญิงๆ ซึ่ง ‘พญ.หยิงฉี หวัง’ แพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้คำแนะนำว่า “ในกลุ่มผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง ส่วนใหญ่ช่องคลอดจะแห้งเพราะไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน นอกจากช่องคลอดแห้ง ยังมีปัญหาปัสสาวะเล็ด หลายปีที่แล้วเรามักจะให้ฮอร์โมน ทั้งแบบกิน แบบทา หรือแบบเหน็บ แต่ช่วงหลังฮอร์โมนแบบเหน็บค่อนข้างมีภาวะแทรกซ้อนเยอะ ปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพจะนำเสนอคนไข้ในเรื่องการใช้ยา แต่คนไข้บางกลุ่มก็มีข้อห้ามในการใช้ยา เลยเปลี่ยนมาเลือกใช้การทำเลเซอร์แทน ซึ่งจำนวนครั้งที่ทำก็จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่โดยเฉลี่ยคือ ปีละสามครั้ง หลังจากนั้นอาจจะมาเมนเทนปีละครั้งหรือสองครั้ง นอกจากจะช่วยเรื่องปัสสาวะเล็ด ยังช่วยคืนความรู้สึกสดชื่นสดใสให้กลับมาสู่คนไข้ เพราะการเลเซอร์จะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ช่วยคืนความยืดหยุ่นอ่อนเยาว์ให้กับความเป็นผู้หญิงให้เขาได้ 

‘พญ.หยิงฉี หวัง’ แพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจภายใน ซึ่งผู้หญิงที่อายุมากมักมองข้าม คิดว่าคงไม่มีปัญหามากแล้ว ในความเป็นจริงยิ่งอายุมาก ยิ่งต้องตรวจมากกว่าช่วงที่เป็นสาวเสียอีก เพราะเราไม่ทราบได้เลยว่าเราจะเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่และเป็นเมื่อใด การเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง” 

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.