โรคไต เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจากพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้ไตทำงานผิดปกติ และส่งผลกระทบ กับระบบการทำงาน ของร่างกายทั้งหมด ให้เสียสมดุลได้ ซึ่งหากปล่อยไว้จนเป็นระยะอันตราย ก็มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะไตวาย นำไปสู่การเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคไต จึงควรใส่ใจดูเลการกินอาหารต่าง ๆ ให้ดี และนี่คือคำแนะนำ สำหรับ อาหารลดโรคไต ที่ HELLO! อยากมาบอกกล่าว เล่าให้คุณฟัง

เป็นที่รู้กันดีว่า โรคไตนั้น เกิดจากการทำงานที่หนักเกินไปของไต ในการกำจัดปริมาณโซเดียม ออกจากร่างกาย สาเหตุหลัก ที่ผู้คนมักคุ้นเคยจึงเป็นการรับประทานอาหารที่เค็ม หรือมีปริมาณโซเดียม ที่เป็นของเสียมากเกินไป อย่างของสำเร็จรูปทั้งหลาย น้ำจิ้มต่าง ๆ ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ จนไตไม่สามารถขับออกได้ทัน และเกิดการสะสมอยู่ในกระแสเลือด ยิ่งโซเดียมเยอะ ไตก็ยิ่งทำงานหนักไปอีก แต่นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมของเราเองด้วย อย่างเช่น ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย ภาวะเครียดสะสม หรือเป็นผลข้างเคียงจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว การกินให้ได้สุขภาพดีที่สุด และสะดวกที่สุด อาจเป็นการปรุง อาหารลดโรคไต รับประทานด้วยตัวเองที่บ้าน เพื่อจะได้ควบคุมส่วนผสม ปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่แพทย์ และนักโภชนาการแนะนำให้ได้มากที่สุด ถ้าหากว่าการจำกัดปริมาณโซเดียมนั้น ทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร อาจใช้เครื่องเทศ และสมุนไพรในการปรุงรสเผ็ด หรือเปรี้ยวเพิ่มได้ เช่น กระเทียม หอมแดง มะนาว ตะไคร้ โหระพา ฯลฯ เพื่อเพิ่มกลิ่น และรสชาติให้น่ารับประทานมากขึ้น และควรกินอาหารให้ครบสามมื้อ รับสารอาหารให้ครบห้าหมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ไขมัน ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป จนเป็นภาระของไต และไม่น้อยเกินไปจนร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ

ลดปริมาณโซเดียม
สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว อาหารลดโรคไต ที่ดีควรเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ โดยจำกัดไว้เพียงแค่ 2-3 กรัมต่อวันเท่านั้น ซอสปรุงรสเค็ม ที่ใช้ในแต่ละวันไม่ควรเกิน 3 ช้อนชา หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป ที่ปรุงสำเร็จ อาหารแปรรูป ของดอง ของตากแห้ง ซอสปรุงรส หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปต่าง ๆ พวกเนื้อแปรรูปอย่าง เบคอน แฮม ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็มีปริมาณโซเดียมสูง ไม่ควรรับประทาน ถ้าร่างกายได้รับโซเดียมมากไป จะเกิดการบวมน้ำ และความดันโลหิตสูงขึ้น จึงควรตรวจสอบฉลากทุกครั้งก่อนจะซื้ออาหารอะไร

การเลือกเนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์ คือแหล่งโปรตีนหลักของร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว การได้รับโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกาย ไตเสื่อมไวขึ้นเพราะขับของเสียออกไม่ทัน แต่ถ้าน้อยเกินไป ก็จะขาดสารอาหาร ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือภูมิตกได้ แนะนำเนื้อสัตว์อย่างปลา ปลาทะเล เป็นพิเศษ เพราะมีไขมันต่ำ และมีกรดโอเมก้า 3 ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนเนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น ไก่ หมู ควรเป็นส่วนที่ไม่ติดมัน ไข่ไก่ควรแยกไข่แดงออก แล้วกินแต่ไข่ขาว ส่วนนมสดให้เลือกชนิดที่ไขมันต่ำ

อาหารประเภทแป้งและไขมัน
คาร์โบไฮเดรตนั้น เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีน และน้ำตาลปะปนอยู่ด้วย เลือกรับประทานอาหารประเภทแป้งที่ไม่มีโปรตีน เช่น วุ้นเส้น หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ และหลีกเลี่ยงข้าวเจ้า พาสต้าต่าง ๆ ส่วนไขมัน ให้เลือกกินไขมันชนิดที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันคาโนลา ระวังไขมันอิ่มตัวสูงจากพวกหนังสัตว์และน้ำมันจากสัตว์ รวมถึงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง มีไขมันทรานส์มาก เช่น ฟาสต์ฟู้ด จังค์ฟู้ดทั้งหลาย มันหมู กะทิ เนยเทียม เนยขาวในเบเกอรี่ ขนมอบ ขนมทอดต่าง ๆ ควรเลี่ยงหรืองดให้หมด
นอกจากการบริโภค อาหารลดโรคไต อย่างถูกสุขลักษณะ ตามคำแนะนำของแพทย์และนักโภชนาการแล้ว ผู้ป่วยโรคไตควรดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง ให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยการได้รับสารอาหารครบถ้วนที่จำเป็นต่อร่างกาย หมั่นออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน
อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ Hello!