‘มีลูกไม่ใช่เรื่องยาก!!!’…ทำความเข้าใจ 7 ขั้นตอนเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
สี่ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ประกาศความสำเร็จของ เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว (IVF Laboratory) ทำให้วันนี้เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลกที่เกิดเป็นคนแรกเมื่อปี 2521 กำลังมีอายุประมาณ 40 ปี จากปีนั้นเป็นต้นมาก็มีเด็กหลอดแก้วถือกำเนิดขึ้นมาอีกหลายล้านชีวิต ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ต้องเรียกว่าใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงทำให้เราต้องมาทำความเข้าใจในรายละเอียดที่มีอยู่มากมายของเทคโนโลยีนี้

และถึงแม้ผลลัพธ์เป็นความสมหวังของคู่สมรสหลายต่อหลายคู่ ทว่าความผิดหวังก็มีเปอร์เซ็นต์เสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะ HELLO! ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘แพทย์หญิงจริยา หล่อวัฒนศิริกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัด และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชวิทยา โดยยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ประจำ Conrady A.R.T. Clinic (คอนราดี เอ.อาร์.ที. คลินิก) ต้องการสร้างความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วใน 7 ขั้นตอน เพื่อรู้ให้ลึก…ก่อนตัดสินใจทำ!
“ในการรักษาภาวะการมีบุตรยากจริงๆ แล้วมีกันหลายวิธี แต่ที่เราต้องพูดถึงวิธีการทำเด็กหลอดแก้วก็เพราะเป็นวิธีที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีรายละเอียดเยอะมาก แล้วก็มีเรื่องของภาวะแทรกซ้อนที่ต้องพึงระวัง รวมถึงค่าใช้จ่าย และอัตราความสำเร็จที่ไม่เท่ากันในแต่ละคู่สมรส มันไม่ใช่ 100% เพราะฉะนั้นเราจึงอยากให้ข้อมูลเพื่อให้เข้าใจขั้นตอนการรักษา แล้วก็ให้รู้เป้าหมายของแต่ละขั้นตอนของการรักษาคืออะไรเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ทำให้เพิ่มอัตราความสำเร็จได้” แพทย์หญิงจริยาเริ่มต้นอธิบายในเทคโนโลยีที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงนี้

หนึ่ง…พูดคุยให้คำปรึกษา
“เป็นการซัพพอร์ตตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ ดูความต้องการของคู่สมรสคู่นั้นๆ หาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ไลฟ์สไตล์ที่ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งบางรายต้องเตรียมตัวล่วงหน้า 1 – 2 เดือน เพื่อให้คุณภาพของไข่กับอสุจิดีขึ้น แต่บางรายก็เริ่มต้นได้เลย และในขั้นตอนนี้จะมีการคุยเรื่องค่าใช้จ่าย ภาวะแทรกซ้อน โอกาสของความสำเร็จด้วย”
สอง…การกระตุ้นไข่
“เป็นการวางแผนโปรแกรมฉีดยาค่ะ หลังการฉีดก็จะมีการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ด้วยการเจาะเลือด วัดระดับฮอร์โมน อัลตราซาวนด์วัดขนาดฟองไข่ กระทั่งเมื่อไข่โตสมบูรณ์ดีก็ทำการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกเพื่อให้สำหรับเก็บไข่”
สาม…การเก็บไข่
“จะเป็นการใช้เข็มเล็กๆ แทงเข้าไปในฟองไข่แล้วดูดน้ำออกมาค่ะ โดยหมอก็ส่งน้ำดูดจากฟองไข่นี้ให้กับทางห้องแล็บเพื่อนำไปตรวจต่อไป” คุณหมอบอกว่าในขั้นตอนนี้จะต้องดมยาสลบที่เป็นลักษณะเหมือนหลับลึกโดยมีวิสัญญีแพทย์ดูแลเพื่อความปลอดภัย ขั้นตอนนี้ใช้เวลาราว 10 – 15 นาที

สี่…การช่วยปฏิสนธิในห้องแล็บ
“ขั้นตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ที่เพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะทำการเลี้ยงไข่ แล้วก็เตรียมอสุจิของฝ่ายชายด้วยการคัดเลือกที่แข็งแรงที่สุดมาทำการปฏิสนธิ โดยอาจทำ IVF ให้อสุจิผสมกับไข่เองเหมือนวิธีธรรมชาติ หรืออาจฉีดเข้าไปในไข่เลยหรือที่เรียกว่า ICSI จากนั้นเลี้ยงตัวอ่อนในตู้อบติดตามการเจริญเติบโตเป็นระยะๆ”
ห้า…การเลี้ยงตัวอ่อน
“นักวิทยาศาสตร์จะทำการเลี้ยงตัวอ่อนไปจนถึงระยะฝังตัวหรือที่เรียกว่า Blastocyst เป็นระยะตัวอ่อนพร้อมฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก (ระยะเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 6 วัน)

หก…ขั้นตอนทางเลือกสำหรับคู่สมรส
“สำหรับคู่สมรสบางรายอาจมีข้อบ่งชี้ในการตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อน เช่น ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ขึ้นไปมีโอกาสที่ลูกเกิดเป็นดาวน์ซินโดรมหรือโครโมโซมผิดปกติอื่นๆ หรือคู่เสี่ยงที่เป็นโรคทางพันธุกรรมก็สามารถถ่ายทอดไปให้ลูกได้ เช่น ธาลัสซีเมีย ฯลฯ ในขั้นตอนจึงจะเป็นขั้นตอนทางเลือกว่าคู่สมรสนั้นต้องการตรวจภาวะเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวหรือไม่นั่นเอง เพราะในบางคนอาจไม่จำเป็นต้องทำการคัดเลือกโครโมโซมก็ได้”
เจ็ด…การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
“จะเป็นขั้นตอนที่มีการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมกับการย้ายตัวอ่อนกลับไป ซึ่งจากวันที่สามารถย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว ประมาณสัก 8 วัน ก็สามารถตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์ได้ว่าเกิดการฝังตัวของตัวอ่อนหรือไม่ ถ้าสำเร็จก็เข้าสู่การดูแลภาวะการตั้งครรภ์ของว่าที่คุณแม่ต่อไป”
นี่คือ 7 ขั้นตอนของการทำเด็กหลอดแก้วที่แพทย์หญิงจริยากล่าวย้ำว่า “สำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยากในทุกขั้นตอนของคอนราดี เอ.อาร์.ที. คลินิก เราพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับทุกคู่สามี-ภรรยาเพื่อเอาชนะอุปสรรคแก้ปัญหาการมีบุตรยากภายใต้บริการแบบ Patient-Centric Care คือ มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการรักษา หมายความว่าผู้ป่วยและผู้รับบริการของเราจะมีส่วนร่วมในการรักษา เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นของตัวเอง ทราบทางเลือกเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ถามว่าบริการนี้ดีอย่างไร ดีตรงที่คนไข้ตัดสินใจเลือกวิธีหรือทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเขาจริงๆ ไม่ได้เลือกเพราะหมอบอกให้ทำ เกิดการมีส่วนร่วมที่ดีกว่า ทำให้ผลลัพธ์การรักษาเพิ่มความสำเร็จขึ้นได้ค่ะ”