Home > Beauty & Health > Health & Wellness > ‘เปิ้ล-จริยดี สเป็นเซอร์’ แชร์ประสบการณ์ทำอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุติดโควิด

แม้อาการของ โควิด – 19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้รุนแรงเหมือนกับสายพันธุ์ที่แล้ว ๆ แต่เมื่อติดเชื้อยังต้องเฝ้าระวังอาการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอด โดยเฉพาะเมื่อผู้สูงอายุติดโควิด ยิ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ‘คุณเปิ้ล – จริยดี สเป็นเซอร์’ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคโควิด หลังจากคุณพ่อและคุณแม่ ‘คุณจักรินทร์ – คุณขนิษฐา ธรรมวิทย์’ ซึ่งปัจจุบันพักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผลตรวจเป็นบวก

โควิด

คุณเปิ้ล เล่าผ่านอินสตาแกรมในวันที่ 9 เมษายน 2565 ว่า “มาเชียงใหม่ทริปด่วนๆตั้งแต่วันอังคารบ่ายค่ะหลังจากที่คุณยายโทรมาบอกว่าคุณตาติดโควิด… พอเปิ้ลมาถึงผลตรวจ PCR ก็ออกบอกว่าติดทั้งสองสามีภรรยา #? ทั้งคู่มีโรคประจำตัว… บ้านที่เชียงใหม่ก็อยู่บนเขาห่างจากตัวเมือง และทั้งคู่ไม่ยอมอยู่โรงพยาบาล ? เปิ้ลมาครั้งนี้ตั้งใจมาอยู่จนผลเหลือขีดเดียวและทุกอย่างโอเค… พ่อกับแม่คือที่สุดของเปิ้ลคะ จะอะไรยังไงเปิ้ลทำให้ได้ทุกอย่าง… ที่โพสต์วันนี้เพราะท่านทั้งสองอาการดีขึ้นแล้วค่ะ ✨ ต้องขอบคุณสามี @jayspencer ที่เข้าใจและเป็นกำลังใจให้เสมอ (ฝากเด็กๆด้วยน้า ?) เดี๋ยวคุณตาคุณยายหายสนิทแล้ว ให้สองแสบมาป่วนด่วนค่า”

โควิด

นอกจากนี้ คุณเปิ้ลยังแชร์ประสบการณ์ไว้เผื่อเป็นความรู้เมื่อผู้สูงอายุติด ‘โควิด’ ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง และสามารถเอายาจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่ที่บ้านได้ ดังนี้

  • ตรวจวัดอุณหภูมิเป็นประจำ (ถ้ามีไข้ทานยาลดไข้เลย)
  • วัดออกซิเจน (วันละ 3 ครั้งพอจะได้ไม่เครียด)
  • ดื่มน้ำและนอนพักเยอะ ๆ (สำคัญมาก)
  • ถ้าทานยาฟาวิฯ ต้องทานตามเวลาและตามที่หมอสั่ง (ห้ามทานควบฟ้าทะลายโจรนะคะ)
  • ถ้าอาการที่เหลือไม่ดี ไปโรงพยาบาลเลย! อย่ารอ!!

ปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจผู้ที่กำลังเผชิญกับการป่วย โควิด – 19 “ส่งกำลังใจสำหรับผู้ป่วยโควิดนะคะ ทางนี้ก็สู้เต็มที่ค่ะ ตั้งแต่มาถึงเปิ้ลทานข้าวคนเดียวทุกมื้อ… ขับรถลงเขาคนเดียว…อยู่อีกบ้านแยกกับคุณตาคุณยาย/ ส่งข้าวส่งน้ำให้ท่าน คุยกันก็ต้องผ่านกระจก ตรวจ ATK ทุกวัน ถามว่าเหงาไหม.. ยังโอเคอยู่ค่ะ (ความรู้สึกเหมือนสมัยเรียนที่อังกฤษที่อยู่คนเดียว ?)”

โควิด

ทั้งนี้ ‘คู่มือฉบับประชาชนกรณีรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักกันตนเอง’ (Outpatient with Self Isolation) จาก กรมการแพทย์ ระบุ แนวทางปฏิบัติหากตรวจพบ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด (ผลเป็นบวก) ดังนี้

  1. ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ดื่มน้ำมาก ๆ ป้องกันตนเอง กักตัวที่บ้าน 10 วัน ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยเด็ก ดูแลเรื่องระวังคอยติดตามอาการไข้สูง แล้วควรเช็ดตัวให้ไข้ลดลง หากเด็กเล็กให้ระวังน้ำมูกอุดตัน อาจต้องใช้น้ำเกลือล้างจมูกช่วยหรือไม้พันสำลี (คัตตอนบัด) เช็ดให้หายใจโล่งขึ้น
  2. ถ้าประเมินแล้วมีความเสี่ยงต่อ ภาวะรุนแรง แนะนำไปสถานพยาบาลตามสิทธิใกล้บ้าน แนะนำให้โทรนัดหมายก่อนเข้ารับบริการ หรือดำเนินการตามประกาศของแต่ละจังหวัด

วิธีการดูแลตนเองเมื่อมีอาการต่าง ๆ จากโรคโควิด

  • อาการไข้ วิธีการดูแลตนเองเมื่อมีไข้คือ ประคบผ้าเย็นที่บริเวณศีรษะ พิจารณาทานยาลดไข้ หากมีภาวะไม่สุขสบายจากอาการไข้สูง (ไม่แนะนำให้ทานยากลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน บรูเฟน) อาการไข้สูงจะเป็นอยู่ไม่นานเกิน 2-3 วัน หากเกินกว่านั้นแนะนำให้รีบพบแพทย์ ถ้าเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ปีอาจเกิดภาวะไข้สูงแล้วชักได้ มักเกิดในวันแรก ๆ ให้สังเกตหากเด็กมีอาการหนาวในขณะที่มีอาการไข้และตัวซีดลง จับมือแล้วมือเย็น เสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้ การรักษาคือ หากเด็กมีอาการไข้ให้ใช้ผ้าเย็นประคบที่ศีรษะเพื่อลดอุณหภูมิและหากมีอาการชักให้รีบพบแพทย์
  • อาการน้ำมูก รับประทานยาลดน้ำมูก ในเด็กเล็กใช้ลูกยางหรืออุปกรณ์เฉพาะเพื่อดูดน้ำมูกออกจมูก
  • อาการคัดแน่นจมูก ใช้กลิ่นหอมระเหย เช่น เปราะหอมแดง ใส่ผ้าขาววางไว้รอบห้อง เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหย สามารถช่วยลดอาการไอคัดแน่นจมูกตอนกลางคืน
  • อาการไอ แนะนำให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยในการละลายเสมหะขับเสมหะออกง่าย น้ำขิงใส่มะนาว หรือน้ำผึ้ง ก็ช่วยลดอาการได้ หลีกเลี่ยงอาหารระคายคอ ของทอดของมัน รับประทานยาแก้ไอตามคำแนะนำของแพทย์
  • อาการเจ็บคอ บรรเทาอาการเจ็บคอด้วยยาแก้เจ็บคอ หรือใช้ยาสมุนไพร
  • อาการท้องเสีย จำเป็นต้องดื่มน้ำมาก ๆ และผสมน้ำเกลือเพื่อให้ได้สารน้ำและเกลือแร่ชดเชย (ในเด็กอาจจะทำผสมน้ำเกลือแร่และผสมน้ำหวานทำเป็นไอครีมแช่แข็งก็ช่วยให้กินได้ ให้ระวังถ้าเด็กมีอาการซึมลงให้ รีบปรึกษาแพทย์)
  • อาการเบื่ออาหาร เป็นเรื่องปกติของความเจ็บป่วย ขอเพียงสังเกตอาการว่าเด็กมีอาการอ่อนเพลียมากหรือไม่ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่อาการดีขึ้นจะกลับมากินได้ ภายใน 2-3 วัน
  • อาการอาเจียน แนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่ หรือ น้ำข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก อาหารรสจัด

การปฏิบัติตัวขณะรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน

  1. งดออกจากบ้านไปยังชุมชนทุกกรณี (ยกเว้นการเดินทางไปโรงพยาบาล)
  2. เว้นระยะห่างจากคนในครอบครัวและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  3. แยกห้องนอนจากผู้อื่น ถ้าแยกไม่ได้ให้นอนห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 3-5 เมตร และต้องเป็นห้องที่เปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยจัดให้ผู้ติดเชื้อนอนอยู่ใต้ลม
  4. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น ถ้าแยกไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำผสมผงซักฟอก หรือ น้ำยาล้างจาน หรือ น้ำยาฟอกขาวเจือจาง เพื่อทำลายเชื้อ ทุกครั้งหลังใช้งาน
  5. แยกข้าว แยกสำรับ ไม่กินข้าวร่วมกับผู้อื่น
  6. ล้างมือให้สะอาดถูกวิธีโดยเฉพาะหลังไอ จาม หรือขับถ่าย
  7. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  8. ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ
  9. มารดาให้นมบุตรได้ แต่ต้องสวมหน้ากากและล้างมือก่อนสัมผัสบุตรหรือให้นมบุตร
  10. หลังจากครบกำหนดการกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว สามารถประกอบกิจกรรมทางสังคมและทำงานได้ปกติตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่าง

Courtesy Information and Photos : plespencer’s IG และ covid19.dms.go.th

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.