Home > Beauty & Health > Health & Wellness > หวงเวลาที่สูญหาย กับชีวิตที่ต้องเผชิญอาการซึมเศร้า ‘รมณี คบคงสันติ’

เหมือนว่าระยะหลังมานี้เราจะได้ยินคำว่า Depression หรือโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายคนก็ยังหาทราบไม่ว่า โรคนี้เกิดจากอะไร และมีอาการเป็นอย่างไร จะต้องได้รับการรักษาอย่างไร และกว่าที่ คุณเพียว-รมณี คบคงสันติ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบอิสระ จะออกจากอุโมงค์อันมืดมิดที่เป็นอันตรายต่อชีวิตทุกเมื่อได้ ก็ต้องใช้เวลา ความเข้าอกเข้าใจและกำลังใจจากคนรอบข้างมากมายเลยทีเดียว     

คุณเพียว-รมณี

เธอพบกับเราด้วยรอยยิ้มสดใส โดยเฉพาะแววตาที่เป็นประกาย ผิดกับตอนป่วย ที่แม้ยามถ่ายรูปเธอจะยิ้ม แต่นัยน์ตากลับไม่ยิ้มตามไปด้วย “พี่ป๊อกสามีเพียว (อรรถพร คบคงสันติ) บอกว่า เห็นรูปเพียวตอนป่วยยิ้มก็จริง แต่นัยน์ตาไม่ยิ้มไปด้วยเลย”  

เราขอให้คุณเพียวย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของโรค เมื่อเธอเป็นคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งคลอดลูกชาย “พอเพียวคลอดลูก แน่นอนว่าแม่ทุกคนจะต้องเหนื่อยและเพลียมาก และต้องอดหลับอดนอน แล้วตอนนั้นเราอาศัยอยู่ในคอนโด เพียวเกรงใจห้องข้างๆ ว่าห้องเราเสียงดัง ก็จะพยายามตลอดเวลาให้ลูกไม่ร้องมากจนเกินไป แล้วเลี้ยงแบบลองผิดลองถูกเองทุกอย่าง เพราะเราไม่ได้อยู่กับทั้งครอบครัวสามีหรือครอบครัวเพียว สามีพยายามจะช่วย แต่เพียวก็ปฏิเสธ เพราะเห็นเขาทำงานหนักแล้ว แม้จะมีคนช่วยหยิบจับ แต่เราก็ยังเป็นหลัก พี่เลี้ยงจะอุ้มก็ไม่ค่อยอยากให้เขาอุ้ม  

“จะเรียกว่าเราเลี้ยงของเราเองคนเดียวก็ว่าได้ และด้วยความที่เป็นแม่ที่สุดโต่ง ถึงจะง่วงก็ไม่ยอมหลับยอมนอน แล้วพอไม่ได้นอนมากเข้าๆ จนลูกอายุได้สิบเดือน อยู่ๆ เพียวก็ร้องไห้โดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นรู้สึกเศร้ามากแต่ไม่เข้าใจว่าเศร้าเพราะอะไร มันมืดหม่นไปหมด แล้วคิดว่าถ้าแค่เราออกไปนอกระเบียงทำให้มันจบ เราก็คงไม่ต้องมีความรู้สึกทุกข์โดยไม่เข้าใจว่าความทุกข์นี้เกิดจากอะไรอีกต่อไป” 

อดนอนจนเคมีในสมองเพี้ยน  

หลายคนอาจสงสัยว่าโรคซึมเศร้านั้นมีที่มาอย่างไร ก็ขอใช้คำอธิบายของคุณหมอที่เล่าให้คุณเพียวฟังได้อย่างเห็นภาพว่า ตามปกติแล้วสมองของคนเราประกอบด้วยเซลล์ประสาทเล็กๆ ที่ส่งผ่านข้อมูลถึงกัน เหมือนคนหลายคนที่จับมือกันไว้ แล้วส่งข้อมูลต่อๆ กัน จนไปปล่อยข้อมูลออกที่เซลล์ประสาทตัวสุดท้าย เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ  

แต่สำหรับคุณเพียว คุณหมอสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่าพอเธอไม่ได้นอนมากเข้าๆ ทำให้เคมีในสมองเพี้ยน ซึ่งทำให้เซลล์ประสาทเกิดการปล่อยมือระหว่างทาง แทนที่จะส่งต่อข้อมูลไปจนสุดทาง มันดันตีกลับ ทำให้เธอไม่สามารถหลุดพ้นจากความคิดทางลบที่เกิดกับตนเอง หรือกับอะไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับปมในอดีตของผู้ป่วยแต่ละคน  

“ความคิดในวันที่นั่งพับเสื้อผ้าลูกแล้วน้ำตาไหลไม่รู้ตัว นั้นคือเราไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองถึงรู้สึกเศร้า สิ้นหวังจนคิดอะไรไม่ออกได้ขนาดนี้ เป็นความรู้สึกที่ทุกข์ทนมากๆ แม้ว่าเราจะมีลูกคนแรกที่น่ารัก ใจหนึ่งเรารักลูกมาก ทำได้ทุกอย่างเพื่อลูก แต่อีกใจหนึ่งกลับมองไม่เห็นหนทางที่จะสลัดอารมณ์เศร้าที่ลึกสุดๆ นี้ออกไป  

“ทั้งที่ลูกน่ารักมาก สามีก็ดีกับเราแต่ทำไมเราถึงร้องไห้ หมดหวังจนคิดได้แค่ว่าถ้าเราวิ่งออกนอกระเบียงไป ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะจบ คิดวนเวียนอยู่เป็นชั่วโมง แต่ด้วยความรักลูก เรารักมาก และความรักลูกก็เป็นตัวฉุดให้เรายังมีชีวิตอยู่ เราทิ้งเขาไปไม่ได้ เราต้องสู้ ต่อให้รู้สึกทุกข์กับอะไรก็ไม่รู้ก็ต้องไม่ร้องไห้ ต้องไปต่อ วันนั้นที่คิดจะจบชีวิตตัวเองจากระเบียงคอนโด เป็นวันที่รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติแล้วละ แต่ยังไม่รู้สึกว่าต้องปรึกษาใคร” 

“โรคนี้ทำให้เราเป็นคนที่รู้สึกผิดง่ายอยู่แล้ว ตำหนิตัวเองง่ายอยู่แล้ว แทนที่เราจะมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อยตามปกติ เรากลับคิดวนอยู่แค่เราผิด ผิดอีกแล้วๆ วนไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่สามารถสัมผัสความสุขที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้”  

จากนั้นความรู้สึกผิดดังกล่าวก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ และคุณเพียวเวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์เพียงคนเดียว เพราะเธอคิดเอาเองว่าไม่เป็นไร แค่คิดว่าตนเองตั้งรับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ทัน…ก็เท่านั้น จึงเลือกที่จะไม่ปรึกษาใคร จนกระทั่งความทุกข์ที่เก็บงำไว้มากเข้า ๆ ทำให้เธอไม่มีความสุขกับชีวิตตัวเองเอาเสียเลย  

“อาการอยากปลิดชีวิตตัวเองมีมาเรื่อยๆ เพราะเราสัมผัสความสุขก็ไม่ได้ ออกจากความทุกข์ก็ไม่ได้ ตอนนั้นคิดแค่ว่าสิ่งเดียวที่เราทำได้คือ ถ้าดับเครื่องไปเลยก็จบ เราไม่ไหวแล้ว อยากจบทำยังไงดี เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว จนลูกอายุได้ 3-4 ขวบ เรารู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดีเหมือนแต่ก่อน จากที่เคยเป็นคนตลก เป็นคนสนุกสนานยิ้มแย้มแจ่มใส เราเหวี่ยงใส่ลูก แล้วสุดท้ายเหวี่ยงใส่สามี  

“ก็เลยรู้สึกผิดเข้าไปอีกว่าทำไมเรื่องแค่นี้เราต้องเป็นขนาดนี้ เขาไม่สมควรมาเจอเราในสภาพนี้ ด้วยความรู้สึกผิดก็เลยทำร้ายตัวเอง นั่งจิกแขนตัวเองทั้งแขน ด้วยความรู้สึกว่าเราไม่สมควรมีชีวิตอยู่ แต่อีกฟากของความคิดก็บอกตัวเองว่า ไม่ได้…เราต้องมีชีวิตอยู่เพื่อลูก วนเวียนอยู่อย่างนี้แทบทุกสิบห้านาที  ซึ่งสามีรู้สึกว่าผิดปกติ ไม่ใช่เราคนเดิมแล้ว ก็เลยพาเพียวไปหาหมอ”                    

คุณหมอสั่งยาขนานแรกให้เธอรับประทาน เพื่อปรับลดเคมีในสมอง และให้เธอได้พักผ่อน “ยาขนานแรกเป็นยาแรงที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นกล่องของขวัญผูกโบว์สวยๆ แต่ไม่มีอะไรข้างใน ว่างเปล่า ไร้อารมณ์ แล้วก็ง่วงทั้งวัน เพราะเขาต้องการให้เรานอน ให้สมองเราได้ปรับจูนเคมี เพื่อลดความคิดฟุ้งซ่านวนเวียน และผลข้างเคียงของยายังทำให้เธอรู้สึกง่วง จนบางทีถึงกับหลับไปเลยกลางครัน ยกเว้นตอนขับรถที่เธอจะพยายามมีสติอย่างที่สุด “บางทีนั่งๆอยู่แล้วน็อคไปเลย รวมทั้งเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง ทำให้เพียวตัดสินใจหยุดยาเอง ซึ่งอันตรายมากนะคะ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเลย 

คุณเพียว-รมณี

“เคยมีคนบอกนะคะ ว่าให้ลุกขึ้นมาแต่งตัว เวลามองตัวเองในกระจกจะได้มีความสุข ซึ่งการที่เราพยายามทำให้เปลือกนอกของเราดีขึ้น จากประสบการณ์ตรงคิดว่ามันเป็นการสร้างความสบายใจให้กับคนรอบข้างหรือคนที่เราพบเจอ ว่าเขาไม่ต้องเครียดกับอะไรมาก เรายังสู้อยู่ แต่สิ่งที่เพียวเพิ่งเห็นในวันที่หายแล้ว เมื่อกลับไปเปิดดูรูปถ่ายเก่าๆ ต่อให้แต่งหน้าสวยแต่งตัวสวย แต่รอยยิ้มของเรามันไม่ได้ยิ้มเลย พี่ป๊อกก็บอกว่าเหมือนไม่ได้ยิ้ม แต่ว่าวันนั้นเพียวไม่รู้สึกนะคะ มาวันที่หายแล้วและกลับไปดูรูปถึงได้เห็นว่า จริงด้วย…ฝืนยิ้มจนบางรูปดูประหลาด”   

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีเธอเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ 4 คนด้วยกัน “ส่วนใหญ่หมอจะเน้นให้กินยา เพื่อปรับเคมีให้ได้ก่อน ซึ่งเพียวต้องขอบคุณคุณหมอทุกท่าน เพราะเชื่อว่ายามีส่วนช่วยมากๆค่ะ อย่างน้อยก็ช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตได้ในรูปแบบที่เราไม่ทุกข์มากจนเกินไป จนมาเจอคุณหมอท่านที่สามถึงได้เริ่มค้นหาว่าปมของเราคืออะไร แต่ก็ยังไม่เจอ จนรู้สึกว่าเรามาสุดทางแล้ว เห็นแสงอยู่ข้างหน้า แต่เดินออกจากอุโมงค์นี้ไม่ได้  

“ด้วยความที่เพียวเขียนเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กตัวเอง แล้วรุ่นพี่ของพี่ป๊อกมาอ่าน ก็เลยแนะนำคุณหมอซึ่งเป็นนักจิตวิเคราะห์มาให้ และเป็นการหาหมอครั้งแรกที่ไม่ได้ไปพบหน้า แต่ใช้วิธีโทรคุย ฟังจากเสียงท่านอายุมากแล้ว น่าจะมีประสบการณ์มาก เราก็คุยท่านก็ฟัง เป็นการคุยประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่เราได้คลายล็อคทั้งหมด ว่าจริงๆแล้วสาเหตุไม่ได้มาจากการอดนอนจนเคมีในสมองเพี้ยนเพียงอย่างเดียว แต่มาจากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เราอาจไม่ชอบมัน แล้วพอสมองเราไม่สบายแล้วเนี่ย เรื่องพวกนี้กลับถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นแกนหลักที่ทำให้เราใช้วนเวียนลงโทษตัวเอง  

“เมื่อก่อนตอนที่สมองเรายังสบายดี เราสามารถนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก แล้วจบได้…ช่างหัวมัน ทีนี้พอสมองเราไม่สบาย ทำให้เราไม่สามารถจบได้ ก็เลยเป็นการขุดคุ้ย repeat ขุดคุ้ย repeat อยู่อย่างนี้ คุณหมอท่านนี้บอกว่า เคยได้ยินเรื่องอูฐที่เดินข้ามทะเลทรายไหม คุณน่ะเป็นเหมือนอูฐตัวนั้น อูฐที่ไม่สามารถเดินข้ามทะเลทรายอันร้อนระอุได้ แต่พอมีคนเอาแครอทไปห้อยตรงหน้า คุณกลับเดินด้วยความคิดว่า เราไปไกลกว่านี้ได้อีก อดทนมากกว่านี้ได้อีก พยายามมากกว่านี้ได้อีก จนข้ามทะเลทรายได้สำเร็จ โดยที่ไม่สามารถงับแครอทได้อยู่ดี เพราะมันไม่มีอยู่จริง  

“เหมือนคุณหมอบอกว่า เราต้องไม่มีคำว่า ‘ดีกว่านี้’ ในชีวิตเรา เพียวโตมาโดยคิดเพียงว่าต้องทำดีกว่านี้ได้อีกๆ ถ้าดีอยู่แล้ว ก็ยังหาข้อเสียจนเจอ แล้วตำหนิตัวเอง ว่าคราวหน้าต้องดีกว่านี้ให้ได้ เพราะเราต้องการให้คนรอบข้างเห็นว่า เราดีกว่านี้ได้ อย่าผิด ห้ามผิด ซึ่งคุณหมอบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือคนรอบข้างบอกว่าดีกว่านี้ได้ ก็ให้ช่างหัวมัน เธอดีอยู่แล้ว ถ้าเราแก้ไขความคิดนี้ ก็จะค่อยๆคลายล็อคเรา โดยที่คุณหมอไม่ได้จ่ายยา อาจมีนอนไม่หลับบ้าง ก็ไปออกกำลังกาย ทำโน่นนี่ให้นอนให้ได้ หรือถ้าไม่นอนก็ต้องไม่หมกมุ่นกับการไม่นอน  

“สิ่งที่ยากที่สุดหลังจากการรักษาครั้งสุดท้าย ก็คือการที่เราต้องต่อสู้กับความคิดของเราเอง โดยไม่กินยา เพื่อจะเดินออกไปสู่แสงสว่างตรงปลายทางให้ได้ การคุยครั้งนั้นแม้จะเป็นแค่ครั้งเดียว แต่เพียวรู้สึกว่าเราเห็นปลายทางชัดเจน เราน่าจะเดินออกไปเองได้แล้ว” 

กำลังใจจากสามีและครอบครัว 

“สามีดีมากเลยค่ะ” คุณเพียวกล่าวถึงคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างกันเสมอ พร้อมด้วยรอยยิ้ม “เขาไม่ใช่คนที่จะมาคอยโอ๋ หรือเอาอกเอาใจเราตลอดเวลา เพราะเขารู้ว่าเพียวไม่ชอบให้คนมายุ่งกับเพียวมาก ถ้าเราไม่ได้ร้องขอ แต่ถ้าเพียวต้องการความช่วยเหลือ เราจะขอเอง แล้วเขาจะดูแลทันที  

“คือเขาจะให้สเปซเรา ให้เราได้บำบัดตัวเอง และจะคอยถามอยู่เรื่อยว่ากินยาหรือเปล่า หาหมอหรือยัง เราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ เพียวไม่ต้องการให้ใครมาบอกว่า เฮ้ย…เธอซึมเศร้า ซึ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมให้เรารู้สึกผิดเข้าไปอีกค่ะ” 

สำหรับลูกชาย เธอบอกว่าเขาพยายามทำความเข้าใจตามที่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะพึงทำได้ และขอให้เขาพยายามให้อภัยเธอ…ผู้เป็นแม่  

“เพียวพยายามอธิบายให้ลูกฟังว่าแม่ไม่สบายนะ เพราะเขาอยู่ใกล้เราที่สุด และมีสิทธิ์ที่เขาจะได้รับบาดแผลทางอารมณ์จากเรา เพราะบางทีเราควบคุมตัวเองไม่อยู่จริงๆ ก็จะบอกเขาว่า เรารักเขาที่สุด แต่ที่ทำอะไรลงไปก็เพราะแม่ป่วย แล้วแม่กินยาอยู่ แม่พยายามอยู่นะและแม่จะต้องหาย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แม่ขอโทษจริงๆ ก็พยายามอธิบายให้เขาฟังเท่าที่เขาจะรู้เรื่องค่ะ  

“ส่วนเขาจะพูดถึงสิ่งที่เราเป็นในแบบที่เขาไม่ได้ชื่นชอบ ซึ่งเราเข้าใจได้ว่าไม่มีใครชอบหรอกที่แม่ตัวเองเป็นแบบนี้ แต่หลังจากเพียวหายแล้ว เราต้องคอยบอกเขาอยู่เรื่อยว่าแม่หายแล้วนะ ถ้าแม่โมโหก็หมายความว่าแม่โมโหตามที่แม่คนหนึ่งควรจะเป็น แต่ว่าร่องรอยของอาการซึมเศร้ายังพอมีบ้าง เพราะบางทีเราควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่พอมีคนรั้ง เราหยุดได้ ไม่เตลิดเปิดเปิงเหมือนแต่ก่อน และน่าดีใจที่เมื่อไม่นานมานี้ลูกชายมาบอกว่าแม่ดีชึ้นเยอะแล้ว”       

สำหรับบุพการี ตลอดจนถึงเพื่อนฝูงของเธอเล่า มีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อทราบว่าเธอป่วย “เพียวค่อยๆบอกทีละคนนะคะ คือเราจะรู้ว่าใครรับได้มากแค่ไหน แต่กับคุณพ่อคุณแม่ของเพียว อาจจะมีประสบการณ์เรื่องนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะมีคนในครอบครัวเคยเป็น แล้วเสียชีวิตไป เขาก็ยังคิดว่าเราเป็นคนบ้า รับไม่ได้ บังคับให้เราไม่เป็น ทำให้ต้องค่อยๆ พยายามอธิบาย พี่ชายก็ช่วยคุย จนกระทั่งท้ายที่สุดทุกคนเปิดใจยอมรับ แล้วพยายามทำความเข้าใจโรคที่เราเป็น พยายามทำตามคำขอของเราว่าอย่าโฟกัสว่าเราป่วย อย่าอายถ้าเราต้องบอกใครๆ ว่าเป็นโรคซึมเศร้า  

“เพื่อนที่โตมาด้วยกันก็ดีมาก เขาจะรู้ว่าเพียวเป็นคน independent ถ้าไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไร เขาจะไม่พูด จะไม่ยุ่ง ยกเว้นว่าเพียวเริ่มหลุด หรือเพียวต้องการระบายความในใจ เขาจะตั้งใจฟังกันโดยไม่ออกความคิดเห็นที่ทำให้เรารู้สึกแย่ลง เขาจะแสดงความเข้าใจ เพียวโชคดีที่คนรอบข้างเข้าใจว่า เราไม่ได้บ้า แค่ฟังๆ มันหน่อย เดี๋ยวก็หาย” 

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  

“เพียวรู้ตัวว่าหายก็ในวันที่เรารู้สึกมีความสุขกับสิ่งเล็กๆน้อยๆ แล้วเรายิ้มจากข้างใน ไม่ใช่ฝืนยิ้มเพราะอยากให้คนรอบข้างสบายใจ” คุณเพียวบอกกับเราด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน    

คุณเพียว-รมณี ยังบอกเราอีกว่า ทุกวันนี้สุขภาพจิตดีขึ้นมาก ไม่ได้รู้สึกมืดหม่น ถ้าโกรธก็รู้ว่าเป็นอารมณ์โกรธของคนปกติ หรือถ้าเศร้าก็เศร้าอย่างคนปกติ ถ้าตำหนิตนเองก็จะหยุดตำหนิ สามารถปล่อยวางความทุกข์ลงเพื่อทำภารกิจอื่นต่อได้ โดยกลับไปเป็นคนเดิมแม้ว่าจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม  

ความรู้สึกอยากจบชีวิตของเธอ ก็ค่อยๆ หมดไปจากความคิดเธอนับตั้งแต่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอท่านสุดท้าย และด้วยความที่เป็นคนชอบเขียนและชอบวาดรูป การเขียนทำให้มีการเรียบเรียงความคิด และการวาดรูปทำให้เธอได้บำบัดจิตใจได้เป็นอย่างดี  

“หลังจากคุยกับคุณหมอท่านสุดท้าย เพียวก็เอาสิ่งที่ได้จากท่านมาใช้ในการวาดรูป ด้วยความคิดว่ามันไม่มีอะไร ‘ดีกว่านี้’ เพราะก่อนหน้านั้นเพียววาดไม่ได้ รู้สึกว่าเส้นมันไม่สวยพอ วาดแล้วก็ตำหนิตัวเอง เพียวก็เลยหันมาวาดรูปโดยใช้วิธีจุดเอา ถ้าจุดแล้วผิด ก็ให้มันจบลงตรงนั้น แก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่มีสวยกว่านี้ เก่งกว่านี้ เหมือนเป็นการย้อมใจตัวเองให้จำ จนสุดท้ายคำว่า ‘ดีกว่านี้’ ไม่ทำให้เราเศร้าอีกต่อไปแล้วค่ะ”                     

 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.