แม้การอุบัติของ มะเร็งผิวหนัง ในประเทศไทยค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับโรคผิวหนังหรือโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ แต่ถือเป็นอีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรปล่อยปละละเลย พญ.จันทณัชธน์ วิทวัสชัยกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านตจวิทยา จาก ศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลสุขุมวิท ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังว่า
“มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีความรุนแรงต่างกัน โดยมะเร็งที่พบได้บ่อย ๆ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ Basal Cell Carcinoma (เบซัล เซลล์ คาร์ซิโนมา), Squamous Cell Carcinoma (สเควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา) และ Malignant Melanoma (มาลิกแนนต์ เมลาโนมา) ซึ่ง 2 ชนิดแรกเป็นมะเร็งที่ส่วนใหญ่ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ชนิดสุดท้ายค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากเป็นชนิดที่ชอบกระจายไปต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่น ๆ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้”

ลักษณะของมะเร็งผิวหนัง ชนิดต่าง ๆ
Basal Cell Carcinoma (เบซัล เซลล์ คาร์ซิโนมา)
มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด มีลักษณะหลากหลาย ตั้งแต่เป็นตุ่มสีชมพู – แดง ไปจนถึงสีดำ บางครั้งอาจพบเป็นเพียงก้อนเนื้อสีชมพูกลม ๆ แต่บางรายก็เป็นตุ่มมีแผลแตก ค่อนข้างโตช้า ทว่าอาจใหญ่ถึงประมาณ 3-4 เซนติเมตร เนื่องจากมีลักษณะหลากหลายและโตช้า จึงทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตว่าเป็นมะเร็ง
Squamous Cell Carcinoma (สเควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา)
ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นปื้นสีแดง มีสเก็ดแตกเป็นแผลได้ บางครั้งอาจเป็นสีน้ำตาล – ดำ มีโอกาสพบน้อยกว่าชนิดแรก
Malignant Melanoma (มาลิกแนนต์ เมลาโนมา)
ชนิดนี้รุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มสีดำ – น้ำตาลเข้ม คล้ายไฝ ขี้แมลงวัน หรือกระ บางกรณีเกิดจากไฝที่มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป มีรูปร่างแปลก ๆ ขอบไม่เรียบ

สาเหตุของ มะเร็งผิวหนัง
- กรรมพันธุ์ หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็น มะเร็งผิวหนัง จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น นอกจากนี้ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง ยังอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย
- เชื้อชาติ การอุบัติของโรคมะเร็งผิวหนังมักพบในคนยุโรปมากกว่าคนเอเชีย
- อายุที่มากขึ้นทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น
- การโดนแดดสะสม หรือการโดนแดดจัด ๆ จนเกิดอาการซันเบิร์น มีตุ่มน้ำเกิดขึ้น
- การได้รับสารกัมมันตภาพรังสี หรือรังสีรักษา

ความผิดปกติบนผิวแบบไหนที่เข้าข่าย มะเร็งผิวหนัง หรือควรปรึกษาแพทย์
- กระ ไฝ หรือขี้แมลงวัน มีหน้าตาเปลี่ยนไป ขยายขนาดเร็ว ขอบไม่เรียบ หรือแตกเป็นแผล
- มีตุ่มหรือมีก้อนที่บริเวณผิวหนังเป็นบริเวณนาน มากกว่า 1 – 2 เดือนขึ้นไป
- มีประวัติเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือทำงานกลางแดดนาน ๆ ควรตรวจคัดกรองเป็นประจำ
Credit Photos : ©freepik, ©Aiony Haust / unsplash, ©stefamerpik / Freepik
อ่านเกี่ยวกับ HEALTH & BEAUTY เพิ่มเติม :
- ‘โรงพยาบาลสุขุมวิท’ ลงนาม MOU ยกระดับความเชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
- 4 สเต็ป ดูแลเล็บให้สวยสุขภาพดี จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- Reserve Spa Cenvaree บำบัดผิวด้วยสมุนไพรออร์แกนิก พร้อมชมวิวบนเกาะสวรรค์แห่งอ่าวไทย
- ค้นพบวิถีทางใหม่ในการดูแลสุขภาพที่ Banyan Tree Veya แห่งแรกและแห่งเดียวในโลก
- ไขความลับกิจกรรมทรงโปรดที่ช่วยให้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระวรกายแข็งแรง