ในช่วงการแพร่ระบาดหนักไปทั่วโลกของสถานการณ์ Covid 19 ที่ผ่านมา จนอุบัติการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า New Normal (ความปกติใหม่) เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ หลายองค์กรบริษัทได้ประกาศนโยบายให้พนักงานทำงานแบบ Work from Home (ทำงานที่บ้าน), Work from Anywhere (ทำงานที่ไหนก็ได้), Hybrid (สลับเวลาการเข้าออฟฟิศและทำงานที่บ้าน), Staycation (การเที่ยวในละแวกใกล้บ้านที่อาจจะหอบงานไปทำด้วย) ทั้งหมดนี้อาจทำให้ในสังคมการทำงานมีแนวความคิดที่ว่า ในเมื่อทุกคนมีอิสระแล้วก็ย่อมต้องเตรียมตัวให้ ‘ตื่นตัวและพร้อมเสมอตลอดเวลา’ และคาดหวังการตอบสนองอย่างรวดเร็วที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จริงอยู่ที่เราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการสื่อสารทางไกลได้แต่ก็ไม่มีอะไรทดแทนทักษะการเจรจาพูดคุยของมนุษย์ได้ดีกว่าวิถี Face to Face โดยในความเป็นจริงผู้คนก็ต้องการใช้สมาธิและไม่ได้ว่างอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดสภาวะ Urgent Culture (วัฒนธรรมเร่งด่วน) ขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว HELLO! จะพาคุณไปค้นหาความหมาย ที่มาของปัญหา และวิธีการป้องกันก่อนที่จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนทำงานและผลร้ายต่อองค์กร ก่อนที่ Work-life Balance จะพังทลาย และกลายเป็นสภาวะเบิร์นเอ้าต์ (BURNOUT) ในที่สุด
Urgency Culture “วัฒนธรรมเร่งด่วน” คืออะไร?
ทุกคนคงคุ้นเคยกับประโยคจากหัวหน้างานหรือบนหัว Email ที่ระบุว่า “ด่วน! ด่วนมาก! ด่วนมากที่สุด! Urgent! งานนี้ขอเย็นนี้เลยนะ รบกวนเร่งให้หน่อยนะ” ซึ่งเคยทราบกันหรือไม่ว่าเคยมีการวางมาตรฐานในองค์กร โดยเรียงลำดับ Priority หรือจำแนกหรือไม่ว่า งานแบบไหน ลักษณะใดที่เรียกว่าด่วนหรือสามารถส่งตาม Time Line ได้ทันตามที่เราวางแผนที่กำหนดไว้ เพราะทุกคนมักจะได้รับงานที่ด่วนไฟลุก เร่ง รีบ กันทั้งนั้น โดยที่เราไม่รู้ว่าเกิดจากความต้องการของทางลูกค้าหรือหัวหน้างานระดับบริหาร ส่งผลให้พนักงานใต้บังคับบัญชาเกิดความว้าวุ่น ลนลาน สับสน เร่งรีบ เรียงลำดับความสำคัญของงานไม่ได้ จริงอยู่ว่าการกระตือรือร้น Alert ในการทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเกินขอบเขตและมากไปก็จะเกิด Toxic Culture (วัฒนธรรมที่เป็นพิษ) เป็นการสร้างความเร่งด่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งมีมาก่อนหน้าอยู่แล้วแต่พึ่งจะชัดเจนขึ้นในช่วงที่มีการ Work From Home มากขึ้นนั่นเอง
จะทราบได้อย่างไรว่าเรามีภาวะ “Urgency Culture” แล้วหรือยัง?
ลองตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองว่า คุณเคยทำงานล่วงเวลาหรือไม่, หยิบโน้ตบุ๊คขึ้นมาทำงานในวันหยุด, เข้าไปเคลียร์งานออฟฟิศทั้งๆที่เป็น Day Off ประจำสัปดาห์, พะวงว่าจะมีข้อความสั่งงานเข้ามาใน Group LINE, กังวลว่างานจะหลุดผิดพลาดต้องกลับแก้ใหม่, วิตกจริตต้องหมั่นเช็ค Email ตลอดเวลา, กังวลว่าหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานจะโทรเข้ามาไม่ได้รับสาย, ไปเที่ยวแต่ยังต้องหอบงานไปทำด้วย, ก่อนนอนและตื่นเช้ายังนึกถึงแต่เรื่องงาน ทั้งหมดคือการที่ปริมาณงานได้กลืนกิน ‘เวลาส่วนตัว’ ของคุณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้สร้างความเร่งด่วนที่ไม่จำเป็นบั่นทอนความสำคัญของความเร่งด่วนที่แท้จริง เกิดผลลบต่องาน ความเครียดสะสม ที่ต้องเร่งรีบตลอดเวลา กระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับงานอยู่บ่อยๆ นำไปสู่ความเหนื่อยหน่าย กดดัน ไม่มีสมาธิ คุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานงานถดถอย ความสัมพันธ์ทางสังคมและชีวิตส่วนตัว
แนะนำวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
1. หยุดการเชื่อมต่ออุปกรณ์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค ตั้งโทรศัพท์ในโหมดห้ามรบกวน ปลดภาระงานลงเมื่อถึงบ้าน
2. ให้เวลากับสมาชิกในครอบครัว รับประทานอาหาร ทำกิจกรรมร่วมกัน เล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรดหรือรดน้ำต้นไม้หลังบ้าน
3. กำหนดขอบเขตระหว่างชีวิตการทำงานและเวลาส่วนตัวให้ชัดเจน ผ่านการสื่อสารในทีมงานให้ถูกต้อง เช่น หลัง 18.00 น. หรือหลังเลิกงานไปแล้ว ขออนุญาตไม่รับโทรศัพท์หรืออ่านไลน์กลุ่ม เป็นต้น ซึ่งผู้อื่นต้องเข้าใจและเคารพขอบเขตนั้นของคุณด้วย
4. พูดคุย ประชุมภายในทีม แบ่งรายละเอียดและระบุให้ความหมายที่ชัดเจนตรงกันถึงคำว่า ความเร่งด่วนของงาน จัดแจง First Priority ลำดับการทำงานก่อนหลังส่วนไหนที่สำคัญมากกว่าควรเป็นลำดับแรก และสมาชิกภายในทีมต้องเข้าใจรับทราบไปในแนวทางเดียวกัน
5. ชี้แจงให้เห็นถึงผลกระทบต่อคนอื่นจากการกระทำทั้งหมด ว่ามีผลดีและข้อเสียอย่างไร
6. มองหา Long-Term Thinkers ผู้โฟกัสที่ผลระยะยาวอย่างความสุข ความสบายใจ ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ชอบมองภาพกว้าง เพื่อสร้างจุดสมดุล
7. ฝึกวิธีคิดแยกความรู้สึกด่วนออกจากสิ่งที่ต้องทำจริง ผ่านการประเมิน วิเคราะห์ แยกแยะ โดยรับฟังความเห็นจากคนในทีม เรื่องอะไรที่ต้องทำก่อน เรื่องไหนที่รอได้
8. หมั่นสำรวจอารมณ์ของคุณ หากรู้สึกอึดอัดไม่พอใจกับงานที่ทำ ลองวางลงสักครู่ ตั้งสติ แยกแยะอย่างถี่ถ้วน หากิจกรรมที่ชอบทำ สร้างแรงบันดาลใจ หาทางออก พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานหรือนั่งสมาธิ
จากสุภาษิตไทย ‘‘ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” น่าจะนำมาใช้กับสถานการณ์ Urgent Culture นี้ได้ดีที่สุด ความเร็วเป็นสิ่งที่ดีในการก้าวกระโดดและล้ำหน้ามากกว่าคนอื่นในยุคที่สังคมมีการแข่งขันกันอย่างสูงเช่นนี้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะรีบเพราะความต้องการของลูกค้าหรือหัวหน้างาน สุดท้ายแล้ว การก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อาจไม่ใช่ก้าวที่มั่นคงและไม่ได้หมายถึงความสำเร็จที่ยั่งยืนเสมอไป…
อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ Hello!
First published on Lifestyle Asia Thailand
Hero and Featured images: Unsplash, istock by Getty Images