Home > Beauty & Health > Health & Wellness > ไม่ใช่แค่แม่ลูกอ่อน แต่ชาวออฟฟิศก็เป็น โรคเดอกาแวง ได้ด้วยนะ !

ใครว่า โรคเดอกาแวง จะเกิดกับ แม่ลูกอ่อน ที่ต้องอุ้มลูกบ่อย ๆ เท่านั้น ชาวออฟฟิศ อย่างเรา ๆ ก็เป็นโรคนี้ได้เหมือนกัน ถ้าเราไม่ใช้ข้อมือแบบถนอม และ ระมัดระวัง !

โรคเดอกาแวง (De Quervain’s Disease) หรือ “โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ” เป็นโรคเกี่ยวกับภาวะอักเสบเรื้อรังของเส้นเอ็น และ ปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนิ้วโป้ง เมื่อเราขยับนิ้วโป้ง หรือ ขยับข้อมือ จะรู้สึกปวดแถวโคนนิ้วโป้ง กำหมัดก็ปวด บิดข้อมือก็ปวด ในระยะแรกมักเป็น ๆ หาย ๆ แต่ถ้าปล่อยเรื้อรังไว้แล้ว ไม่รักษา อย่างถูกต้อง จะลุกลาม ปวดร้าวมาถึงข้อศอก จนเกิด อาการชา บริเวณแขนได้เลย

โรคเดอกาแวง
ภาพโดย @jcomp/freepik

โดยส่วนมาก โรคนี้มาจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มาจากการ ใช้ข้อมือมากเกินไป การประสบอุบัติเหตุข้อมือพลิก ล้มแล้วใช้ข้อมือยันพื้น การใช้ข้อมือในท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน การพิมพ์งานทั้งวัน การใช้สมาร์ทโฟน ต่อเนื่องหลายวัน รวมไปถึง คุณแม่หลังคลอดที่ฮอร์โมนสวิง และ ใช้ข้อมือในการอุ้มลูกมาให้นมบ่อย โดยไม่ได้หยุดพัก

อ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะพอเดาได้แล้วใช่ไหมว่า ทำไม ชาวออฟฟิศ ถึงมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ เพราะในแต่ละวัน เราใช้งานข้อมือของเรา อย่างหนักหน่วง ตั้งแต่การพิมพ์งาน ถือของ หยิบจับสมาร์ทโฟน เล่นเกมส์ ไปจนกระทั่งกิจกรรมจิปาถะ ในชีวิตประจำวัน เมื่อข้อมือไม่ได้หยุดพักให้ฟื้นตัว เส้นเอ็นต่าง ๆ ย่อมอักเสบ จนก่อให้เกิดโรคได้นั่นเอง

เรามาลองสำรวจตัวเองแบบจริงจังกันดีกว่าว่า ข้อมือที่ปวดอยู่ทุกวัน ปวดเรื้อรัง แบบไม่หาย ที่เป็น ๆ อยู่นี่ใช่อาการของเดอกาแวงรึเปล่า

โรคเดอกาแวง
ภาพโดย Christin Hume/unsplash

อาการของ โรคเดอกาแวง

1. ปวดบริเวณนิ้วหัวแม่มือ และ จะปวดมากขึ้นเมื่อบิดนิ้วไปทางนิ้วก้อย

2. เวลากางนิ้วมือ หรือ เหยียดนิ้วโป้งจะรู้สึกเจ็บถึงเจ็บมาก

3. รู้สึกปวดตุ้บ ๆ รู้สึกร้อนบริเวณนิ้วโป้ง

4. หยิบของหนักไม่ได้ รู้สึกปวดทุกครั้งที่ใช้นิ้วโป้งหยิบจับสิ่งของ

5. รู้สึกปวดหรือเจ็บ เมื่อกำนิ้วโป้งตัวเองไว้ แล้วหักข้อมือ ไปทางนิ้วก้อย

6. เริ่มมีอาการปวดร้าว จากข้อมือมาถึงข้อศอก บางครั้งมีอาการชาร่วมด้วย

7. ในระยะแรกจะเป็น ๆ หาย ๆ ต่อมาเริ่มปวดมากขึ้น จนกลายเป็นปวดทั้งวัน

โรคเดอกาแวง
ภาพโดย @Lifestylememory/freepik

สำหรับวิธีการรักษา และ วิธีการป้องกัน ขึ้นอยู่กับ ความรุนแรง ของอาการที่เป็น หากเริ่มเป็นในระยะแรก และ ยังไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมากนัก แนะนำให้ พักการใช้งานข้อมือไปก่อน หรือ พยายามใช้งานข้อมือให้น้อยที่สุด เพื่อให้ข้อมือมีเวลาพักรักษาตัวเอง หากมีอาการบวมร่วมด้วย ให้ประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการ เมื่อมีเวลาหมั่นกายภาพบำบัดด้วยการยืด เหยียด และ ขยับบริเวณนิ้วโป้งช้า ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว การกายภาพบำบัดเป็นประจำ จะช่วยให้เส้นเอ็นทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการอักเสบได้

ถ้าเริ่มมีอาการปวดมากขึ้น แนะนำให้ กินยาแก้ปวด และ ยาแก้อักเสบ เพื่อบรรเทาอาการ รวมไปถึงใช้ที่รัดข้อมือ เพื่อซัพพอร์ตข้อมือไว้ หากต้องทำกิจกรรม ที่ต้องใช้ข้อมือ แต่ถ้าใครที่เริ่มปวดจนกระทบชีวิตประจำวัน ปวดนาน ปวดหน่วงไม่หาย ปวดจนเริ่มหยิบจับอะไรไม่ได้ แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยแนวทางการรักษาเบื้องต้น จากนั้นนำกลับมาปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องเคร่งครัด

ในกรณีที่ทำตามแพทย์แนะนำทุกอย่างแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุด ให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้ง แพทย์จะพิจารณารักษาโดยการฉีดสเตียรอยด์ (Steroid) แต่ถ้ายังกลับมาเป็นซ้ำ ๆ เป็นเรื้อรังอีก แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยตกลงกันระหว่างแพทย์กับคนไข้เป็นกรณี ๆ ไป

อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ HELLO!

Feature Image by @krakenimages.com/freepik

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.