Home > Beauty & Health > Health & Wellness > Mindfulness > Empathy Fatigue คืออะไร เอาใจใส่มากเกินไปก็เหนื่อยได้เหรอ

เราทุกคน ต่างก็รู้ดีว่า ความเห็นอกเห็นใจ นั้นคือคุณสมบัติที่พึงมี ในการอยู่ร่วมสังคมกับผู้อื่นบนโลกใบนี้ และเป็นสิ่งที่ใครต่างก็ยอมรับว่าเป็น ส่วนประกอบของการเป็นคนดี คนน่ารัก น่าคบหา ช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากเรารับเอาความรู้สึกของคนอื่นมาแบกไว้มากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดความทุกข์เสียเองได้ นั่นจึงเป็นต้นกำเนิดของ Empathy Fatigue หรือภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ที่เกิดจากการเอาใจใส่ผู้อื่นมากเกินไปนั่นเอง

Empathy Fatigue

Empathy Fatigue คืออะไร

ความเหนื่อยล้าจากการเอาใจใส่มากเกินไป เป็นคำที่ใช้เรียก สภาวะเหนื่อยล้า ที่ส่งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจาก การที่ต้องดูแลผู้คน และนำเอาตัวเองลงไปสวมแทน ในความคิด ความรู้สึกของคนอื่น และรับเอาความรู้สึก ความเจ็บปวดเหล่านั้น เข้ามาในตัวเอง จนทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล สิ้นหวัง และอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบกับตัวเองได้ ซึ่งเป็นอาการที่มักพบมากในหมู่ผู้ที่ทำอาชีพซึ่งต้องคอยดูแลคนอื่น และพบกับเรื่องสะเทือนใจมากมาย เช่น พยาบาล ครู นักบำบัด นักข่าว ผู้ที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพ ฯลฯ

Empathy Fatigue มีสาเหตุมาจากอะไร

ในขณะที่ผู้คนในสังคม ต่างอยู่ร่วมกันโดยมีความเห็นอกเห็นใจ และการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เป็นตัวเชื่อมที่คอยปลอบประโลมให้สังคมของเราขับเคลื่อนต่อไปด้วยความสงบสุขได้ เราอาจไม่รู้ตัวเลยว่า สิ่งนี้สามารถกลับกลายมาเป็นปัญหาได้ เมื่อการ รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก้าวข้ามเส้นไปเป็นการ เอาตัวเองลงไปแทนที่ในความรู้สึกของผู้อื่น และรับเอาอารมณ์ ความรู้สึกเชิงลบ ที่ทำให้ตัวเองดำดิ่งลงไปในก้นบึ้งของความโศกเศร้า มาไว้กับตัวเองได้ ยิ่งนานวันเข้า ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะสะสม กลายเป็นความเหนื่อยล้า และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรา ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังส่วนนึงของชีวิตได้

Empathy Fatigue

สัญญาณเตือนภัย ภาวะ Empathy Fatigue

เกิดสภาวะเครียด สับสนทางอารมณ์

ความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป ส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจและอารมณ์ จนกลายเป็นความเครียด สับสน ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน รู้สึกอ่อนไหวกว่าปกติ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ง่าย รู้สึกฉุนเฉียวง่ายขึ้น เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างไม่มีสาเหตุมากขึ้น

เกิดความรู้สึกด้อยค่าในตัวเองมากขึ้น

มีความมั่นใจในตัวเองน้อยลง ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวตนหรือความสามารถที่เคยทำได้ เกิดความผิดหวังในตัวเอง มีความคิดโทษและตำหนิตัวเองที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ แบกรับเอาความเจ็บปวดของผู้อื่นมาลงไว้ที่ตัวเอง รู้สึกสูญเสียความมั่นคงจากสิ่งต่าง ๆ ที่เคยยึดถือ

รู้สึกเฉยชา มีความเห็นอกเห็นใจน้อยลง

เมื่อความเห็นอกเห็นใจที่มีทำให้เกิดการรับเอาความรู้สึกแง่ลบเข้ามามากเกินไป จนเอ่อล้นออกมา ทำให้กลายเป็นความด้านชา มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ไม่อยากรับรู้เรื่องราวหรือความรู้สึกใด ๆ อีกต่อไป

เกิดภาวะหลีกหนีจากสังคม

ไม่อยากมีส่วนร่วมกับสังคม ขาดการมีส่วนร่วม หรือมีปฎิสัมพันธ์กับผู้คนอื่น ๆ อีกต่อไป รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเข้าสังคมหรือพบปะใคร ๆ อยากหลีกหนีออกมาใช้เวลากับตัวเองคนเดียว ไปจนถึงกลายเป็นคนเก็บตัว ปิดตัวเอง รู้สึกโดดเดี่ยว สิ้นหวัง

รู้สึกอ่อนล้า หมดแรง ไม่อยากทำอะไร

ด้วยความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ทำให้สภาพจิตใจอ่อนล้า จมดิ่งอยู่ในความคิด ความรู้สึกแง่ลบ ไม่สามารถดึงตัวเองออกมาได้ ส่งผลกระทบให้เกิดความท้อแท้ อ่อนล้า ไม่อยากทำอะไร อาจเกิดความรู้สึกหดหู่ จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้

เกิดผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ยากที่จะจดจ่อกับอะไรสักอย่าง ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่เคย เกิดความเหนื่อยล้า หมดแรง หมดกำลังใจ ไม่อยากทำอะไร ไม่รู้สึกสนุกหรือมีความสุขกับสิ่งที่เคยทำอีกต่อไป และอาจส่งผลกระทบต่อไปยังร่างกาย ไม่อยากอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดหัว กระสับกระส่าย นอนหลับไม่สนิท

Empathy Fatigue

จะทำอย่างไรเมื่อตกอยู่ในสภาวะ Empathy Fatigue

หมั่นสำรวจและทำความเข้าใจกับตัวเองอยู่เสมอ

เพราะบางครั้งตัวเราอาจไม่รู้สึกถึงสัญญาณเตือนบางอย่างที่เกิดขึ้น นอกจากการเอาใจใส่ผู้อื่นแล้ว อย่าลืมหันมาเอาใจใส่ความรู้สึกของตัวเองด้วย ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจและอารมณ์ของตัวเอง แยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสติ และทำความเข้าใจว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่รับมานั้นไม่ใช่เรื่องของเราเอง

ปล่อยให้ตัวเองได้พักผ่อนให้เพียงพอ

เมื่อสำรวจตัวเองและรับรู้สถานะของตัวเองแล้ว ก็ควรรู้ว่าเมื่อไรที่ตัวเราควรได้พักบ้าง อะไรที่ควรปล่อยวางได้ให้ปล่อย อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ทั้งร่างกายและจิตใจของคนเราต่างก็มีขีดจำกัด รู้จักปล่อยวาง และเติมพลังให้ตัวเองบ้าง โดยเฉพาะการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน

รู้จักขอความช่วยเหลือ

เมื่อรับรู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หัดยื่นมือออกไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่แบกรับปัญหาทั้งโลกไว้คนเดียว แบ่งเบาความกังวลใจให้บรรเทาลง หรือพาตัวเองออกไปสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เปิดโลกให้กว้างขึ้น เปิดรับมุมมองใหม่ ๆ ทำให้อาจไได้แง่คิดที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อนก็ได้

ตัดการเชื่อมต่อกับโลกเสียบ้าง

ในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างหมุนเปลี่ยนฉับไว ไปตามกระแสโซเชียล การที่ต้องมานั่งไล่ตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนั้น ก่อให้เกิดภาระที่หนักอึ้งในใจของเราไม่น้อย ลองโซเชียลดีท็อกซ์ ให้เวลากับการอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น จะช่วยลดความวิตกกังวล หรือ การเอาเรื่องของคนอื่นมาใส่ในใจเราให้น้อยลงได้

ที่สำคัญที่สุด อย่าลืมที่จะรักตัวเอง และเซฟตัวเองไว้ก่อนเสมอ อย่าลืมว่าก่อนที่จะไปช่วยเหลือใครได้นั้น เราต้องช่วยเหลือตัวเราเองได้ก่อนเป็นอันดับแรก เท่านี้ก็จะห่างไกลจากภาวะEmpathy Fatigue ได้แล้ว

อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ Hello!

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.