Toxic Masculinity คืออะไร หลายคนที่เล่นโซเชียล คงเคยได้ยิน หรือพบเห็น คำนี้ผ่านตา กันมาบ้างแล้ว Toxic Masculinity หรือ แนวคิด ความเป็นชายเป็นพิษ คือสิ่งที่ ส่งผลเสียต่อสังคม จากวัฒนธรรม การแปะป้าย ผูกติดค่านิยม และ การตีกรอบคุณค่า ในสังคมที่ มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ วันนี้ HELLO! จะชวนทุกคน มาทำความรู้จัก และเรียนรู้ วิธีรับมือกับสิ่งนี้กัน

สังคมของโลกเรานั้น พัฒนามาจากอดีต ที่ผู้ชาย จะต้องเป็นเสาหลัก ในการทำงานต่าง ๆ เลี้ยงดูครอบครัว มีความเป็นผู้นำ เข้มแข็ง หรือที่เรียกว่า สังคมปิตาธิปไตย (patriarchy) ซึ่งเป็นระบบ ที่เพศชาย จะเป็นผู้กุมอำนาจ การเป็นผู้นำ การปกครองต่าง ๆ วางรากฐาน ระบบสังคม การเมือง และ ก่อให้เกิด ค่านิยม แนวคิด ที่ผูกติดภาพลักษณ์ ว่า ความเป็นชาย ที่ถูกต้องนั้น จะต้องเป็นอย่างไร
เมื่อกล่าวถึง สังคมที่ชายเป็นใหญ่แล้ว เราอาจมองภาพ เป็นการกดทับ สิทธิเสียงของสตรี และอำนาจ ที่ถูกรวบไว้ในเพศชาย แต่แท้จริงแล้ว ผู้ที่ต้องเดือดร้อน จากโลก ที่ชายเป็นใหญ่ นั้น ไม่ได้มีแต่ผู้หญิง แต่ผู้ชายเอง ก็เช่นกัน ที่ได้รับผลกระทบ จากสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้าน สุขภาพจิต หรือ การสร้าง ความสัมพันธ์ กับผู้อื่น ในสังคม เพราะ ระบอบปิตาธิปไตย ได้กำหนด ให้เพศชาย ต้องเป็นเพศที่ มีความเข้มแข็ง เป็นผู้นำ ห้ามแสดง ด้านที่อ่อนแอ ออกมาให้เห็น ไม่อย่างนั้น จะถือว่า ไม่เป็นลูกผู้ชาย และถูกกดทับ ถูกมองว่าอ่อนแอ ไม่ต่างจากเพศหญิง เช่นกัน

ตัวอย่างมาตรฐาน ความเป็นชายที่เป็นพิษ
- เป็นผู้ชาย ห้ามแสดงความอ่อนแอ ห้ามร้องไห้ ห้ามแสดงความหวั่นไหวทางอารมณ์
- เป็นผู้ชาย ต้องแข็งแรง กำยำ เข้มแข็ง พึ่งพาได้ จัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง
- เป็นผู้ชาย ต้องใช้เหตุผล ห้ามมีอารมณ์อ่อนไหว
- เป็นผู้ชาย ต้องมีความแมน แบบผู้ชาย จะมีรสนิยม ที่ถูกตีกรอบว่าเหมือนผู้หญิง ไม่ได้
- เป็นผู้ชาย ต้องมีความต้องการทางเพศ มีสมรรถภาพทางเพศ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น จาก Toxic Masculinity
- ปัญหาสุขภาพจิต
การถูกคาดหวังจากสังคม ว่าผู้ชาย ต้องห้ามแสดงความอ่อนแอ หรือ ขอความช่วยเหลือจากใคร ก่อให้เกิด การเก็บกด ทางสภาวะอารมณ์ และใช้วิธีต่าง ๆ ในการ หนีปัญหา หรือ ระบายอารมณ์ แบบผิด ๆ เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ การระเบิดอารมณ์ อย่างรุนแรง รวมถึง อาจเป็น ภาวะโรคซึมเศร้า ลดทอนคุณค่าตัวเอง จากความกดดัน และ ไม่ได้รับการยอมรับ - ปัญหาการใช้ความรุนแรง
เมื่อมี ความเครียดสะสม ความเก็บกด ไม่สามารถ ระบายอารมณ์ออกมาได้ เมื่อถึงจุดนึง จึงเกิดเป็นการ ระเบิดอารมณ์ออกมา กลายเป็น การใช้ความรุนแรง ในรูปแบบต่าง ๆ ซึง อาจส่งผลกระทบ ต่อผู้ที่อยู่รอบข้าง ทั้งครอบครัว คนรัก หรือ สังคม - ปัญหาการเหยียดเพศ
ปัจจุบัน โลกของเรา เต็มไปด้วย ความหลากหลาย แต่ผู้ที่ถูกแนวคิด ปิตาธิปไตย ครอบงำไว้ มักมีการแสดง ความก้าวร้าว ต่อกลุ่ม LGBTQ+ เพราะเชื่อว่า พวกเขาเหล่านั้น มีการแสดงออกที่ ไม่เหมาะสม ตามกรอบเกณฑ์ ที่ควรจะเป็น

จะรับมือกับ Toxic Masculinity ได้อย่างไร
- ตระหนักรู้ ถึงการมีอยู่ ของปัญหา และผลกระทบ ที่เกิดขึ้น จากภาวะความเป็นชายเป็นพิษ
- หมั่นสังเกตตัวเอง ในการกระทำ แนวคิดต่าง ๆ ว่าเข้าข่ายหรือไม่
- สนับสนุน การพูดคุย สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และกล้าที่จะ ยอมรับ ปัญหาและความอ่อนแอ ของตนเอง
- เปิดรับแนวคิดที่หลากหลาย ไม่ตีกรอบ หรือตัดสินผู้อื่น ที่แตกต่างจากตน
- อย่าลังเล ที่จะขอความช่วยเหลือ หรือคำปรึกษา จากผู้อื่น เมื่อต้องการ ไม่ว่าจะ จากผู้คนรอบข้าง หรือการปรึกษาแพทย์
อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ Hello!