Home > Beauty & Health > Health & Wellness > Mindfulness > Toxic Positivity คืออะไร ทำไมการคิดบวกถึงมีปัญหา

ในยุคปัจจุบันที่การแสดงทัศนคติสามารถแพร่หลายได้กว้างไกลในโซเชียล ใครต่อใคร ต่างก็พูดกันว่า หากมีอะไรเกิดขึ้น ให้มองโลกในแง่ดี คิดดี คิดบวกเข้าไว้ แล้วทุกอย่างจะดีเอง อย่ามัวแต่คิดลบ จมกับความรู้สึกแย่ ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ใครหลายคนต่างยึดมาใช้ ในการหลีกหนีจากอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ เวลาที่ต้องพบเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละวัน แต่รู้ไหมว่า คิดบวกมากเกินไป อาจกลายเป็น Toxic Positivity ได้นะ! แล้ว คิดบวกจนกลายเป็นผลลบ ที่ว่านี้มันคืออะไรกันล่ะ? วันนี้ HELLO! จะพาไปทำความรู้จักกับโรคใหม่นี้กัน

Toxic Positivity

แนวคิดToxic Positivity คืออะไร

เป็นจำกัดความของ แนวคิด หรือความเชื่อ ที่ยึดถือการมีทัศนคติ มองโลกในแง่บวก เป็นที่ตั้งหลักอยู่เสมอ โดยที่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นไปในรูปแบบไหน คนที่มีความคิดแบบToxic Positivity จะยึดมั่นว่า ต้องมองโลกในแง่ดีเอาไว้ คิดบวกเข้าไว้ โดยที่พยายามกดความรู้สึก หรืออารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นเอาไว้ ไม่อนุญาตให้ตัวเองแสดงออกถึงความโกรธ ความโศกเศร้าเสียใจ และทำเหมือนว่าเราสบายดี เอาความคิดเชิงบวกมาแสดงออก กลบทับไว้แทน แต่รู้ไหมว่า บางครั้งการที่เราคิดบวกเพียงอย่างเดียวนั้น ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ Toxic ได้เช่นกัน

ทำไมToxic Positivity ถึงมีปัญหา

ทั้งที่การมองโลกในแง่ดี นั้นช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี ช่วยปรับความคิด หมุนเปลี่ยนมุมมอง ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตผ่านไปได้ในแต่ละวัน และไม่จมอยู่กับความทุกข์หรือความโศกเศร้า แต่หากว่าการคิดบวกเหล่านั้น กลายเป็นความคิดที่ว่า ‘ต้องมองทุกอย่างในแง่ดีสวยงามทั้งหมด’ หรือว่า ‘ไม่อนุญาตให้ตัวเองได้มีอารมณ์เชิงลบเลย’ ละก็ นั่นอาจนำพามาซึ่งปัญหาในภายหลังได้ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว การที่สมองของเราถูกออกแบบมาให้มีอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อให้ร่างกายเราสามารถเรียนรู้ และรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เผชิญในแต่ละวัน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ก้าวข้ามผ่าน และเติบโต ในช่วงวัยต่าง ๆ นั่นเอง

Toxic Positivity

การผลักความรู้สึกเชิงลบทุกอย่างออก หรือกดทับมันไว้ข้างใน อาจทำให้ภายในใจของเรารู้สึกหนักอึ้ง และกลายเป็นระเบิดเวลาขนาดย่อม ๆ ได้ เมื่อความคิดที่ว่า ต้องแสดงภาพที่เหมือนมีความสุข มองโลกในแง่ดีอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ในใจเรารู้สึกทุกข์กับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดกาารหลีกหนีจากความจริง รวมถึงวิ่งหนีตัวตนของตัวเอง วิ่งหนีปัญหา และก่อให้เกิดความรู้สึกผิด เมื่อตัวเองเกิดความรู้สึกในแง่ลบได้ ทั้งที่ความจริงแล้วนั่นคือเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ทุกคน

ความคิดแบบToxic Positivity จะทำให้เกิดสัญญาณอันตราย เมื่อเราไม่ยอมให้อภัยตัวเอง หรือรู้สึกผิดเมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ ต้องฝืนยิ้ม ฝืนทน รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง แม้จะเป็นคนที่เข้มแข็งขนาดไหน แต่สักวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะกัดกินจิตใจเราจนพังทลายลงได้ เพราะอารมณ์ ที่เกิดขึ้นจริงนั้น จำเป็นต้องได้รับการระบายออกมา เพื่อจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้

ระวังอย่ากลายเป็นคนที่ Toxic Positivity กับคนอื่น

ในบางครั้ง ที่เราต้องซัพพอร์ต รับฟัง หรือให้คำปรึกษากับผู้อื่น เราอาจกลายเป็นคนที่ยัดเยียดชุดความคิดที่ Toxic Positivity ให้กับเขาได้โดยไม่รู้ตัว เมื่อคำปลอบโยนหรือการแนะนำของเรา ชี้ไปในทางที่ชวนให้เขาเอาใจออกห่าง ปฎิเสธอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้น เช่น พยายามบอกให้เขามองในแง่ดีเพื่อเอาใจออกห่างจากความเศร้าในทันทีที่เกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้น “มองในแง่ดีสิ คนอื่นแย่กว่าเราตั้งเยอะ” หรือพูดตำหนิว่าไม่ควรมองโลกในแง่ร้ายหรือรู้สึกแบบนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิด ความรู้สึกผิด หรือเป็นการบังคับให้อีกฝ่ายต้องฝืนกดความรู้สึกตัวเองเอาไว้ข้างใน หลีกหนีจากปัญหา และกลายเป็น Toxic Positivity ได้

Toxic Positivity

รับมือกับปัญหาอย่างไรไม่ให้กลายเป็น คนToxic Positivity

ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง

เมื่อเกิดปัญหา หรือรู้สึกสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ถามตัวเองว่า ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไร คิดยังไงอยู่ แยกแยะออกเป็นส่วน ๆ สิ่งใดที่เราสามารถแก้ไขได้บ้าง ก็ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ แก้ ทีละอย่างไป โดยที่ไม่ปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับความรู้สึกเชิงลบเหล่านั้น เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ทุกคน

หาวิธีจัดการอารมณ์เชิงลบโดยไม่หลบหนี

เมื่อรับรู้แล้ว ค่อยหาวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่กำลังยอมรับว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรอยู่ ทำความเข้าใจกับตัวเอง ซึ่งการยอมรับอารมณ์ต่าง ๆ นี้จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยให้พัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น เพราะรับรู้และเข้าใจ สามารถจัดการตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

ยอมให้ตัวเองได้ผิดพลาดหรืออ่อนแอบ้าง

อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนเราจะเกิดความผิดพลาด การแสดงความอ่อนแอออกมาก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรเช่นกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดหรืออายที่ตัวเองจะทำพลาด เพราะการยอมรับตัวตนที่ไม่ได้ดีเลิศไปเสียทุกอย่างนั้น จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป คนที่ยอมให้ตัวเองกลายเป็นคนที่ผิดพลาดและแสดงความอ่อนแอนั้นจะสามารถมองเห็นจุดบกพร่องและแก้ไขมันได้ดีกว่าคนที่พยายามเก็บซ่อนปัญหาไว้อีกด้วย

ซัพพอร์ต รับฟัง และไม่ลดทอนความรู้สึกของผู้อื่น

รับฟัง ด้วยความรู้สึกเข้าใจ แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าการมีอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทุกคน อนุญาตให้อีกฝ่ายได้ระบายความรู้สึกของตนออกมาอย่างที่กำลังรู้สึกจริง ๆ ไม่เอาชุดความคิดของตัวเองไปครอบใครไว้ ไม่เอาบรรทัดฐานของใครไปวัดค่าคนอื่น เพราะคนเรามีพื้นฐานการเติบโตและสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน จึงไม่สามารถใช้ชุดความคิดเดียวมาเป็นมาตรวัดความถูกต้องได้

อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ Hello!

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.