หนึ่งในโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุดก็คือ “โรคหัวใจ” วันนี้เราจึงชวน คุณหมอจิ๊ก – นพ. สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาร่วมพูดคุยถึงถึงวิธีการ ดูแลสุขภาพหัวใจอย่างไร ให้แข็งแรงและห่างไกลโรค วิธีคัดกรองเบื้องต้นว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ไปจนถึงสัญญาณที่ร่างกายกำลังร้องเตือนว่าควรปรึกษาแพทย์และตรวจเช็กสุขภาพ
รู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ?
นอกจากผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อย่าง เบาหวาน และ ความดัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจแล้ว ในบุคคลทั่วไป ที่มีพฤติกรรมกินอาหารหวาน-เค็ม-มัน เป็นประจำ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน พฤติกรรมการกินเหล่านี้จะทำร้ายสุขภาพ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด จนเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ตามมาด้วยภาวะหัวใจขาดเลือด และท้ายสุดจะตามมาด้วยภาวะหัวใจวายได้
อีกหนึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงและควรไปตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ คือคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว แม้จะยังอายุไม่มากหรือไม่ได้มีโรคประจำตัวอื่นๆ เข้ามา กลุ่มคนเหล่านี้ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน
กลุ่มสุดท้ายที่ควรใส่ใจกับเรื่องสุขภาพหัวใจ และเริ่มต้นค้นคว้าวิธี ดูแลสุขภาพหัวใจอย่างไร ให้แข็งแรงและห่างไกลโรค ก็คือผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ และมักตกอยู่ในภาวะเครียด เนื่องจากสองพฤติกรรมนี้เป็นหนึ่งใน 5 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้เลย

2 สัญญาณเตือนที่บอกว่าควรเข้าพบแพทย์
อาการที่เป็นสัญญาณของ “โรคหัวใจ” นั้น สามารถสังเกตได้ง่ายๆ หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีความรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณกลางหน้าอก ปวดร้าวลามไปจนถึงบริเวณไหล่ หรือมักมี อาการเหนื่อย ที่เกิดขึ้นง่ายกว่าปกติ อย่างเช่น แม้ในขณะนอนพักนิ่งๆ ก็ยังคงรู้สึกเหนื่อย
สัญญาณที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ร่างกายกำลังร้องเตือนว่าคุณอาจกำลังเป็นโรคหัวใจ คุณหมอจิ๊ก ได้ให้คำแนะนำว่า ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง และ รับการรักษา โดยเร็วที่สุด
ดูแลสุขภาพหัวใจอย่างไร ให้แข็งแรงและห่างไกลโรค ?
โดยวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ คุณหมอจิ๊กได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดการกินอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และ ออกกำลังกายให้หัวใจมีอัตราการเต้นเร็วขึ้น เป็นประจำ
“ในทางการแพทย์ การออกกำลังกายสามารถทำได้ด้วยกันสองวิธี ทั้งการออกกำลังกายวันละ 30 นาที เป็นประจำ 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ เลือกออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2 วัน ครั้งละ 70 นาที ทั้งสองแบบนี้ต่างให้ผลดีต่อร่างกายเช่นกัน”
คุณหมอจิ๊ก – นพ. สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย

อาหารบำรุงหัวใจ
ว่ากันว่าหากเลือกรับประทานได้ถูก “อาหารคือยา” แทนที่จะปล่อยให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมจนต้องรับประทานยาแทนอาหาร สู้เลือกกินแต่ของที่ดีต่อสุขภาพจะดีกว่า
อันดับแรกในการ ดูแลสุขภาพหัวใจอย่างไร ให้แข็งแรงและห่างไกลโรคด้วยตนเอง คือควรลดการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวเลว (Low Density Lipoprotein หรือ LDL) ควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้ไขมันดี (High Density Lipoprotein หรือ HDL) แก่ร่างกาย อย่างเช่น อะโวคาโด หรือน้ำมันมะกอก ซึ่งนอกจากอะโวคาโดจะให้ไขมันดีแล้ว ยังมีโพแทสเซียมสูงถึง 975 มิลลิกรัมต่อ 1 ลูก ดีต่อสุขภาพหัวใจอย่างยิ่ง
ถัดมาคือเมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี อาทิ ถั่วเหลือง และที่ขาดไม่ได้คือโปรตีนจากปลาทะเล ไม่ว่าจะเป็น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทู ซึ่งมีโอเมก้า 3 สูง มีคุณสมบัติลดการอักเสบของหลอดเลือดแดง ช่วยให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง
อีกสิ่งที่รับประทานแล้วดีไม่แพ้กันคือ ผักหลากสี และ กระเทียม เพราะในกระเทียมมี สารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งมีส่วนช่วยให้การลดการสะสมของคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือดได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยลดภาวะการแข็งตัวของโรคเส้นเลือดอุดตันได้อีกด้วย จึงเป็นที่มาว่ากระเทียมคืออาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ดี โดยวิธีการทานที่ถูกต้องจะต้องทานแบบสดๆ ควรสับหรือบดเพื่อให้ทำปฏิกิริยากับอากาศก่อน ไม่ควรผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างนำไปผัดหรือทอด
ขณะที่ผลไม้ควรเลือกรับประทานประเภทที่ให้น้ำตาลไม่สูงเกิน ไม่ว่าจะเป็น บลูเบอร์รี่ ฝรั่ง หรือแอปเปิ้ล และท้ายที่สุดสำหรับคนติดกินของหวานและไม่รู้จะเริ่มต้น ดูแลสุขภาพหัวใจอย่างไร ขอให้ลองเปลี่ยนมารับประทานเป็น ดาร์กช็อกโกแลต จะดีต่อสุขภาพหัวใจมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหัวใจให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด คือ การเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรค ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ถือเป็นหนึ่งวิธีสำคัญที่จะช่วยให้เราตรวจพบโรคหัวใจได้อย่างรวดเร็ว และรักษาได้อย่างทันท่วงที ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไป และ ในผู้ที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง
เครดิตข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์หัวใจ Safe Heart , โรงพยาบาลเพชรเวช และ โรงพยาบาลเปาโล