Home > Beauty & Health > Health & Wellness > กันไว้ดีกว่าแก้! ‘ไขมันในเลือดสูง’ อีกหนึ่งภัยร้ายสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดที่ถูกมองข้าม

“ภาวะไขมันในเลือดสูง” หรือ คอเลสเตอรอลสูง ถือเป็นหนึ่งในอาการเจ็บป่วยยอดฮิตของคนไทย โดยมักมีสาเหตุมาจากปริมาณ คลอเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือ ไขมันชนิดไม่ดี (LDL-C หรือ Low Density Lipoprotein Cholesterol) ในหลอดเลือดมีมากเกินปกติ ซึ่งหากมีการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด จนอาจทำให้เกิดโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ตามมาได้

โรคหัวใจและหลอดเลือด ถือเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและพิการในประเทศไทยตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากเอกสารนำเสนอข้อมูล “การปรับภูมิทัศน์นโยบายการเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบจำนวนผู้ป่วย 8.4 รายต่อประชากร 100 คน ซึ่งมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง

แม้ทั้ง 3 สาเหตุจะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากพอกัน แต่คนไทยกลับให้ความสำคัญกับภาวะไขมันในเลือดสูงน้อยกว่าที่ควร เพราะเชื่อว่าหากตรวจพบ LDL-C (Low Density Lipoprotein Cholesterol) หรือไขมันชนิดไม่ดีสูง สามารถแก้ไขได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ทำให้ละเลยการพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม สิ่งนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภาวะไขมันในเลือดสูงมีอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในบรรดาปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด จึงเป็นประเด็นที่ควรใส่ใจมากกว่าที่คิด ทั้งในการให้ความรู้แก่ประชาชน และในเชิงนโยบายเพื่อเข้าถึงการรักษา

คอเลสเตอรอลสูง

ปรับไลฟ์สไตล์ให้ห่างไกลจากโรคไขมันในเลือดสูง

สำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง วิธีการลดคอเลสเตอรอลที่จะเห็นผลชัดเจนที่สุด ก็คือการปรับไลฟ์สไตล์การกิน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง น้ำมันมะพร้าว และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น และควรเลือกกินอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลาแซลมอน ข้าวไม่ขัดสี อะโวคาโด หรือผักผลไม้อื่นๆ ให้มากขึ้น เพราะไขมันไม่อิ่มตัว หรือไขมันดี คือตัวช่วยสำคัญที่คอยลดการสะสมของไขมันอิ่มตัวนั่นเอง

นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญของการลดคอเลสเตอรอลในเลือดเช่นกัน ซึ่งควรเลือกออกกำลังกายในแบบที่ถนัดและรู้สึกสนุกไปด้วย เพราะจะทำให้สามารถออกกำลังได้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายนั่นเอง โดยหากใครเป็นสายแดนซ์ ลองเริ่มจากการเต้นซุมบา (Zumba Dance) หรือสำหรับสายลุย อาจเริ่มจากการปีนหน้าผาจำลอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะไขมันในเลือดสูงอาจมาจากสาเหตุอื่นอย่าง การมีระดับไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride) ในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งมักเป็นผลข้างเคียงจากโรคอื่นๆ เช่น โรคอ้วน หรือ โรคเบาหวาน ดังนั้นการจะลดระดับไขมันในเลือดในเห็นผลดีที่สุด คือการทราบสาเหตุที่แน่ชัด และทำการรักษาอย่างถูกวิธีนั่นเอง

5 มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ 5 สาขา

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นต่อความเสี่ยงของโรค คอเลสตอรอลสูง ไว้ว่า “กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของโรคเหล่านี้และมีการทำงานอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ปัจจุบันเราเพิ่มการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่เรียกว่า CVD Risk Score และโรคที่เป็นความเสี่ยง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เช่น การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม.”

คอเลสเตอรอลสูง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

“นอกจากนี้เรายังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ Lipid Home Use Test มาใช้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองด้วยตนเองได้ที่บ้าน เพิ่มความสะดวกขึ้น ทราบผลเร็วขึ้น ประชาชนก็จะเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัย ดูแล และรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตด้วย”

ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ. อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้เขียนร่วมของเอกสารนำเสนอข้อมูลนี้ กล่าวว่า “หากเปรียบเทียบ 3 ปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด ผลสำรวจพบว่าคนไทยตื่นตัวกับโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไทยได้ยินและรู้จักเกี่ยวกับสองโรคนี้กันมานาน จึงกลัวว่าตนเองจะเป็น แต่เมื่อตรวจพบไขมันในเลือดสูงกลับไม่ค่อยกลัว”

“สาเหตุเป็นเพราะแนวคิดเรื่องภาวะไขมันในเลือดสูงต้องได้รับการรักษานั้น เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทำให้ที่ผ่านมานโยบายป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดจึงไปเน้นที่การป้องกันความดันโลหิตสูง เราจึงต้องสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพหรือ Health Literacy เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ แพทย์จำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการรับยาเพื่อควบคุมไขมัน เพราะการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากผู้ป่วยในการรักษาอย่างต่อเนื่อง”

ศ.เกียรติคุณ นพ. อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

นอกเหนือจากเรื่องการตระหนักรู้แล้ว การแก้ไขภาวะ คอเลสเตอรอลสูง ยังมีความท้าทายจากวิถีชีวิตยุคใหม่ ทำให้พบภาวะไขมันในเลือดสูงในคนอายุน้อยลง ในประเด็นนี้ ศ.เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมเขียนเอกสารนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ให้ความเห็นว่า “ถ้าเราบอกให้คนไทยเปลี่ยนวิธีการกิน แต่ในสภาพแวดล้อมรอบตัวยังเต็มไปด้วยอาหารที่มีไขมันเยอะและเข้าถึงง่าย การปรับอาหารการกินก็คงจะทำได้ยาก ดังนั้นการปรับวิถีชีวิตจึงจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมด้วย เรื่องนี้อาจต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในการออกนโยบายเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ”

พร้อมยกตัวอย่างว่า “ในกรณีที่มีร้านอาหารในสถานที่ทำงาน ก็ควรกำหนดให้มีทางเลือกของเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย เพราะปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตโดยกินอาหาร 2-3 มื้อในสถานที่ทำงาน ส่วนในที่อื่นๆ เราก็ต้องเข้าไปดูว่าควรจะปรับสภาพแวดล้อมอย่างไรเพื่อให้คนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ภาครัฐต้องมีนโยบายหลายๆ ด้านเพื่อมาสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะเห็นตัวเลขการเกิดของโรค NCD สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นภาระทางการแพทย์ที่กระทบต่อประเทศ”

คอเลสเตอรอลสูง
ศ.เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

ในแง่ของการรักษาและความต่อเนื่อง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การควบคุมระดับ LDL-C ในคนไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรือพูดง่ายๆ คือคนไทยส่วนใหญ่ที่มีโรค คอเลสเตอรอลสูง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ได้น้อย

โดย รศ.ภก. สุรกิจ นาฑีสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เขียนร่วม อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า “แม้จะมีนวัตกรรมในการรักษา เช่น ในรูปแบบยาฉีดที่สะดวกและง่ายขึ้น รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูงเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นๆ จนทำให้สามารถลดระดับไขมันชนิดไม่ดีลงได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่อุปสรรคที่พบคือราคา ซึ่งเมื่อไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพของประเทศ ประชาชนทั่วไปก็เข้าไม่ถึง และจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนที่สามารถจ่ายค่ายาได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การเข้าถึงนวัตกรรมในการรักษายังจำกัดอยู่ในวงแคบ”

รศ.ภก. สุรกิจ นาฑีสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภญ. สุมาลี คริสธานินทร์ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การรับมือโรคหัวใจและหลอดเลือดต้องอาศัยความร่วมมือแบบองค์รวม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โนวาร์ตีสมีเป้าหมายในการช่วยให้ประชาชนตระหนักรู้มากขึ้นถึงสาเหตุ การป้องกัน และการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะภาวะไขมันในเลือดสูงที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโอกาสในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เราพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี”

ภญ. สุมาลี คริสธานินทร์ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.