กลับมาเผชิญกับวิกฤตทางสภาพอากาศอีกครั้ง เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งการได้รับฝุ่น PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานในปริมาณมาก และต่อเนื่องยาวนาน อาจส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพ ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด นับเป็นภัยร้ายที่ไม่อาจละเลย ดังนั้น วิธีดูแลตัวเอง ในภาวะที่ค่าฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐาน มีอะไรบ้าง HELLO! รวบรวมความรู้มาฝาก

PM 2.5 คืออะไร
PM 2.5 หรือ (Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอนขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศได้นาน อาจมีสารพิษเกาะมาด้วย ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น
PM 2.5 เกิดจากอะไร
- ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร จากข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษ การเผาไหม้น้ำมันดีเซลบวกกับการจราจรที่ติดขัด น่าจะเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ปริมาณฝุ่นพิษเพิ่มขึ้น
- อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิส หรือเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถ่านหิน
- การเผาในที่โล่ง และในที่ไม่โล่ง การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาคการเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า และการเผาขยะ
- กิจกรรมในครัวเรือน
- การสูบบุหรี่ การเผาไหม้บุหรี่ 1 มวน ทำให้เกิดสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด โดยขณะที่ไม่มีการสูดควัน ปลายบุหรี่จะมีความร้อนสูงมากซึ่งเมื่อเจอกับอากาศจะทำให้สารบางชนิดเกิดปฏิกิริยากลายเป็นสารพิษ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนมากขึ้นจะจับตัวกับออกซิเจน กลายเป็นไนโตรเจนไดออกไซด์
- การจุดธูปเทียน เมื่อจุดธูปจะเกิดการเผาไหม้ของขี้เลื่อย กาว และน้ำหอมในรูป สารต่าง ๆ หลายตัวจะถูกปล่อยออกมาคล้ายกับที่พบในควันบุหรี่ และควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊kซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และสารก่อมะเร็งหลายชนิด นอกจากนี้การจุดเทียนจะทำให้เกิดการปล่อยสารตะกั่วในระหว่างการเผาไหม้ เนื่องจากตะกั่วเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทำไส้เทียน รวมถึงเขม่าเทียนเองก็มีสารคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้คาร์บอนที่ไม่สมบูรณ์
- การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ในกระบวนการถ่ายเอกสาร ก๊าซโอโซนเป็นก๊าซหลักที่เกิดขึ้นจากการอัดและปล่อยประจุไฟฟ้าที่ลูกกลิ้งและกระดาษ อีกทั้งก๊าซโอโซนบางส่วนยังเกิดจากแสงอัลตราไวโอเลตจากหลอดไฟพลังงานสูงในเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งก็ซโอโซนนี้เป็นก๊าซที่มีความเป็นพิษสูงซึ่งทำลายสุขภาพมากที่สุดในบรรดาสารหรือก๊าซอันตรายต่าง ๆ นอกจากโอโซนแล้ว มลพิษจากกระบวนถ่ายเอกสารที่พบมาก คือ สารประกอบอินทรีย์ระเหย VOCs (Volatile Organic Compounds)
- สภาพอากาศ อากาศที่เย็นและแห้ง ความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ PM 2.5 สะสมในอากาศ ไม่แพร่กระจาย และแขวนลอยได้นาน

ผลกระทบต่อสุขภาพ
แม้ไม่ได้มีผลกระทบต่อร่างกายเฉียบพลัน แต่เนื่องจาก PM 2.5 ล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นสัปดาห์ รวมทั้งกระจายไปไกลถึง 100 ไมล์ อีกทั้งมีขนาดเล็กมากจนขนจมูกไม่สามารถกรองได้ จึงสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจสู่ปอด ซึมผ่านกระแสเลือด และถุงลมฝอยขนาดเล็ก เข้าไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นอยู่กับ ปริมาณฝุ่นละอองที่ได้รับ, ช่วงเวลาหรือระยะเวลาที่สัมผัสกับฝุ่น และสุขภาพของแต่ละบุคคล
ผลกระทบระยะสั้น
- ไอ จาม ระคายเคืองผิวหนัง มีผื่นคัน ระคายเคืงตา แสบตา ตาแดง
ผลกระทบระยะยาว
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เสี่ยงต่อภาวะหัวใจ
- หยุดเต้นเฉียบพลัน
- หัวใจวาย
- ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ
- ความดันโลหิตสูง
- ระบบทางเดินหายใจ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคหอบหืด
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- มะเร็งปอด
- เบาหวาน มีรายงานว่าผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้คนเป็นโรคเบาหวานหรืออาการของเบาหวานแย่ลง

ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษเป็นพิเศษ
- เด็กเล็ก เนื่องจากเป็นวัยที่ชอบเคลื่อนไหว ปอดกำลังพัฒนา อัตราการหายใจเร็ว ทำให้ได้รับสารมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่
- ผู้สูงอายุ ที่ระบบหายใจเสื่อมตามวัย มีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดเรื้อรัง โรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด
- สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ อวัยวะต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษที่มารดาได้รับผ่านทางสายรก
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคปอดเรื้อรัง และโรคหอบหืด เป็นต้น
- ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง
อาการเฝ้าระวัง
- แสบตา
- ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, แสบจมูก, เลือดกำเดาไหล
- อึดอัด, แน่นหน้าอก, หายใจไม่สะดวก
- ระคายเคืองผิวหนัง

วิธีดูแลตัวเอง ในภาวะค่า PM 2.5 สูง
- หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน และการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน
- สวมหน้ากากอนามัย N95 โดยต้องใส่ให้ถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง และต้องแนบสนิทกับใบหน้า
- ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน
- ปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด และเปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อหมุนเวียนอากาศภายในห้อง
- ติดตั้งเครื่องฟากอากาศ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้า การจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน
- เตรียมยารักษาโรคประจำตัวให้พร้อม
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น การดื่มน้ำวันละ 8 – 10 แก้ว, รับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ รวมถึงนอกหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ล้วนเป็นพื้นฐานของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
- หมั่นบำรุงเส้นผม และผิวอยู่เสมอ สารพิษต่าง ๆ ที่เกาะมากับฝุ่นอาจรบกวนการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้ผิวและเส้นผมแห้งเสียง่ายมากขึ้น นอกจากดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจากภายใน จึงควรหมั่นบำรุงร่างกายภายนอกให้ชุ่มชื้นดูสุขภาพดีด้วย
นอกจากวิธีดูแลตัวเองแล้ว กิจกรรมในครัวเรือนอย่างการแยกขยะ หรือการปลูกต้นไม้ ยังสามารถช่วยลดการเกิดฝุ่นพิษได้อีกด้วย.
Courtesy Photo of: Freepik References: กรมการแพทย์, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=38405 - https://hia.anamai.moph.go.th/web-upload/12xb1c83353535e43f224a05e184d8fd75a/filecenter/PM2.5/book103.pdf - https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2019/10/Chula-PM25.pdf