เป็นอีกหนึ่งรางวัลที่คนทั่วโลกให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่องสำหรับการประกาศรางวัล ‘โนเบล สาขาสันติภาพ’ ประจำปี 2021 โดยปีนี้รางวัลตกเป็นของ 2 ผู้สื่อข่าวที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพมาตลอดอย่าง ‘มาเรีย เรสซา’ นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว Rappler ซึ่งเน้นการทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวนเพื่อเปิดโปงการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้ความรุนแรง และการใช้อำนาจแบบเผด็จการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฟิลิปปินส์ และ ‘ดมิทรี มูราตอฟ’ ผู้สื่อข่าวจากรัสเซีย ที่ใช้เวลาตลอดหลายทศวรรษของอาชีพนักข่าวเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ภายใต้สภาวะกดดันนานัปการ
BREAKING NEWS:
— The Nobel Prize (@NobelPrize) October 8, 2021
The Norwegian Nobel Committee has decided to award the 2021 Nobel Peace Prize to Maria Ressa and Dmitry Muratov for their efforts to safeguard freedom of expression, which is a precondition for democracy and lasting peace.#NobelPrize #NobelPeacePrize pic.twitter.com/KHeGG9YOTT
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการรางวัลโนเบล ได้ประกาศผลรางวัลรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2021 ให้แก่ ‘มาเรีย เรสซา’ และ ‘ดมิทรี มูราตอฟ’ สำหรับความพยายามในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน โดยในเว็บไซต์ทางการของรางวัลโนเบล ระบุว่า เรสซา และดมิทรี ได้รับรางวัลสันติภาพ จากการต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในฟิลิปปินส์และรัสเซีย ในขณะเดียวกัน พวกเขาเป็นตัวแทนของนักข่าวทุกคนที่ยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์นี้ในโลกที่ประชาธิปไตยและเสรีภาพของสื่อต้องเผชิญกับสภาวะที่เลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับ มาเรีย เรสซา ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเปิดโปงการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้ความรุนแรง และอำนาจแบบเผด็จการที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2555 เธอร่วมก่อตั้ง Rappler สำนักข่าวออนไลน์สำหรับข่าวเชิงสืบสวน ซึ่งในฐานะนักข่าวและซีอีโอ เรสซาได้แสดงจุดยืนของการเป็นผู้พิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกอย่างกล้าหาญ โดย Rappler ได้วิพากย์วิจารณ์นโยบายเรื่องสงครามยาเสพติดภายใต้การปกครองของประธาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจนคล้ายกับเป็นการทำสงครามกับประชาชน ซึ่งเรสซาและสำนักข่าว Rappler ยังได้เผยแพร่สารคดีเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียในการกระจายข่าวปลอมก่อกวนฝ่ายตรงข้าม และบิดเบือนข้อมูลของสาธารณชน

ขณะที่ ดมิทรี มูราตอฟ ปกป้องเสรีภาพการแสดงความคิดในรัสเซียมานานหลายทศวรรษภายใต้สภาวะที่ท้าทายมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2536 เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระ Novaja Gazeta และเป็นบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์มาเป็นเวลารวมกว่า 24 ปี Novaja Gazeta เป็นหนังสือพิมพ์อิสระที่สุดในรัสเซียในปัจจุบัน โดยมีทัศนคติที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการพิสูจน์สัจจะทางวิชาชีพของนักหนังสือพิมพ์ และมีการตีพิมพ์บทวิจารณ์ในหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่การทุจริต ความรุนแรงของตำรวจ การจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การฉ้อโกงในการเลือกตั้ง ไปจนถึงการใช้กองกำลังทหารของรัสเซียทั้งในและนอกรัสเซีย แม้จะถูกตอบโต้ด้วยการคุกคาม ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง และการฆาตกรรม
ทั้งนี้ เรสซาและมูราตอฟ จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ เหรียญรางวัลโนเบล และเงินรางวัล 10 ล้านโครนานอร์เวย์ (ราว 39.45 ล้านบาท) โดยจะได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ณ ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
ภาพจากทวิตเตอร์ The Nobel Prize