ศิลปินไทยที่สร้างชื่อเสียงในวงการศิลปะนานาชาติมาหลายทศวรรษอย่าง ‘พินรี สัณฑ์พิทักษ์’ เพราะเธอคือศิลปินหญิงที่เคยมีนิทรรศการจัดแสดงทั้งในญี่ปุ่น สเปน อิตาลี และสิงคโปร์…ทว่ายังไม่พบจุดสิ้นสุดในขีดจำกัดในตัวหากกลับจะก้าวผ่านศักยภาพของตนเองออกไปอย่างไม่สิ้นสุด ดังปรากฏในนิทรรศการสองแห่งที่จัดแสดงในเวลาไล่เลี่ยกันที่นิวยอร์กที่แม้แต่นิวยอร์กไทมส์หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของโลกยังยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 นิทรรศการ ‘น่าดู’ ที่สุดในฤดูใบไม้ผลินี้ ยิ่งย้ำชัดถึงการเป็นที่ยอมรับในฝีมือของศิลปินหญิงไทย ผู้กล่าวด้วยน้ำเสียงถ่อมตนอย่างภาคภูมิใจว่า “ตัวเราเองเป็นศิลปินเล็กๆ คนหนึ่ง อย่างน้อยทำงานศิลปะเป็นอาชีพได้ก็นับว่าโชคดีแล้ว”
อิริยาบถสบายๆของ ‘โชน ปุยเปีย’ ลูกชายคนเดียวของพินรีในฐานะผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการ Mats and Pillows and Vessels
ในนิทรรศการล่าสุด 2 งาน ได้แก่ Mats and Pillows and Vessels และ The Roof ที่แม้ลายเซ็นของพินรีจะสะดุดตาอย่างชัดเจนแต่ก็พิเศษยิ่งกว่าครั้งไหนๆเมื่อทั้งสองนิทรรศการนี้มีนัยเชื่อมโยงถึงกันซึ่งทำให้พินรีกลายเป็นศิลปินที่เนื้อหอมที่สุดคนหนึ่งในนิวยอร์กในเวลานี้

นิทรรศการ Mats and Pillows and Vessels
Mats and Pillows and Vessels หรือ ‘เสื่อกับหมอนกับชามภาชนะ’ การตกแต่งแกลอรี่ให้ดารดาษไปด้วยเสื่อหลากสี วางสลับกับหมอนอิงทรงสี่เหลี่ยมของหมอนขิด ซึ่งบนพื้นที่ขนาด 7 x 5 เมตรนั้น ผู้คนหลากหลายปูมหลังและต่างที่มากลับพร้อมใจกันถอดรองเท้าวางไว้ข้างเสื่ออย่างเป็นระเบียบ ก่อนจะทรุดกายลงนั่งสนทนากันอย่างสบายๆ แม้บางรายไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็ตาม โดยผนังรอบด้านติดภาพเขียนดินสอรูปภาชนะทรงโอ่งนับสิบนับร้อยแผ่น บ้างก็เป็นลายเส้นของเต้านม อันเป็นเจตนารมย์ของพินรีที่นำผลงานเก่าจากเมื่อ20ปีก่อนของตนเองมาผสมรวมกับผลงานใหม่ๆเพื่อให้ผู้ชมลากจุดหาความเชื่อมโยงของอดีตและปัจจุบันที่มาบรรจบกันได้อย่างกลมกลืน

นิทรรศการ Mats and Pillows and Vessels
“โอ่งก็เป็นเหมือนกับร่างกายของเราที่ต่างก็เป็นภาชนะในตัวเอง เป็นส่วนที่รับและส่วนที่ให้ เป็นงานชิ้นใหม่ที่จะจัดแสดงโอ่งจริงๆ แต่เนื่องจากว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะโอ่งใบใหญ่มาก เลยหยิบเอาแต่งานดรออิ้งมาแสดง เอางานเก่ามาผสมกับงานใหม่เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของงาน จะดูว่าเป็นเหมือนอัตชีวประวัติกลายๆ ของเราไปด้วยก็ได้ค่ะ” พินรีชี้แจงไอเดียของนิทรรศการแรก

นิทรรศการ Mats and Pillows and Vessels
“คนที่มาดูงานชอบกันมากเขาได้แชร์สเปซแล้วนั่งอยู่ด้วยกันนาน นั่งกันจนไวน์หมดใช้เวลาอยู่ที่แกลเลอรี่นานขึ้น ปกติเวลางานเปิดคนดูจะมาเดินๆแป๊บนึงแล้วก็ไปงานอื่นต่อ แต่งานนี้ไม่ใช่การนั่งเสื่อให้ความรู้สึกต่างจากการนั่งเก้าอี้นะคะ ทำให้มุมมองต่างกันเคยจัดวางงานที่มีทั้งอยู่ระดับสายตา ระดับนั่งยองๆ ระดับนั่งต่ำ ระดับสายตาที่ต่างกันไปนี้ส่งผลต่อวิธีที่เรามองและการคุยกับคนอื่นต่างกันไปด้วย เพราะพอนั่งพื้นก็จะสบายใช่ไหมคะวิธีการที่คนปฏิสันถารกันเปลี่ยนไปเลย นั่งเก้าอี้ก็อาจจะคุยกันในเรื่องที่เป็นทางการ เราไม่เคยเห็นนักธุรกิจมานั่งเสื่อแล้วคุยกันแบบซีเรียส สมัยก่อนอาจจะใช่แต่พอมานั่งเสื่อก็อยากจะคุยเรื่องสบายๆทันที นอกจากเสื่อเราก็มีหมอนวางไว้ให้ คนดูเอามาเล่นได้บางคนเอาหมอนมาวางเรียงสร้างเขตแดนของตัวเอง บางคนเอาหมอนออกเปิดพื้นที่ให้กว้าง แล้วแต่ว่าเขาอยากจะสร้างศิลปะของตัวเองแบบไหน”

นิทรรศการ The Roof
จากนิทรรศการ The Roof ที่เผยโฉมอย่างยิ่งใหญ่บนพื้นที่มากถึง 500 ตารางเมตร ภาพที่แปลกสายตาและสร้างบรรยากาศผสมผสานความเป็นเมือง – สวน โมเดิร์น – ย้อนยุค เออร์บัน – ทรอปิคอล ตลอดจนผลงานมนุษย์สร้าง – ธรรมชาตินี้ เชื้อเชิญให้พินรีตกหลุมรักพื้นที่วินเทอร์การ์เดนอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ทำให้เธอใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี ค่อยๆ ขีดเขียนผลงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมา “เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทำมาในชีวิต” จากแบบร่างบนกระดาษ กลายเป็นวัสดุต่างๆ จากไฟเบอร์กลาสเท็กซ์ไทล์ ผ้าสปันบอนด์ ไปจนถึงมาวาตะหรือไหมดิบเนื้อนุ่ม นำมาทับซ้อนกันหลายชั้น แผ่กว้างเป็นผืนและถูกยกขึ้นไปสูงจนกลายเป็นหลังคา ‘The Roof’ ที่ให้ร่มเงาภายใต้แนวสวนปาล์มกลางกรุง

นิทรรศการ The Roof
สิ่งนี้เองคือความเชื่อมโยงกันของนิทรรศการ Mats and Pillows and Vessels และ The Roof ซึ่งเดิมทีเป็นการขยับย้ายไอเดียเสื่อกับหมอนจาก Tyler Rollins Fine Art ไปไว้ที่วินเทอร์การ์เดน แต่สองนิทรรศการนี้แม้ต่างบริบท ทว่าอยู่ภายใต้แนวคิดเดียวกันคือการสร้างพื้นที่ให้คนได้เข้ามาแชร์กันเพื่อที่จะดำรงชีวิตด้วยกันได้ “มองอีกแง่ก็โยงไปเกี่ยวกับโลกภายนอกตอนนี้สังคมโลกทุกวันนี้มีความแตกต่างที่เข้ามาผสมผสานกัน เราพยายามทำให้คนรู้สึกต่างไปจากเดิมและได้เห็นว่าสิ่งที่แตกต่างก็เข้ามาอยู่ด้วยกันได้ หมือนคนหลายๆแบบที่อยู่ร่วมกันได้ใต้หลังคาหรือบนเสื่อเดียวกัน แต่เป็นการประกาศที่ไม่โฉ่งฉ่างว่าเราต้องการจะสื่อว่าโลกคือ one world ศิลปะคือการให้คนขบคิดเอาเอง ถ้าเขาไม่ได้คิดแบบนี้ก็ได้ ไม่มีอะไรถูกหรือผิด public art เลยน่าสนใจตรงที่มีความหลากหลายทางความคิดและการแสดงออก”
“แต่ที่น่าสนใจเสมอก็คือศิลปะไม่มีคำว่าตายตัวค่ะ”
…………………………………………………………………………………………….
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ นิตยสารเฮลโล ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2560