ความวิจิตรบรรจงของงานจิตรกรรมฉากบังเพลิงไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความประณีตงดงามและความล้ำค่าของงานศิลปะไทยชั้นสูง แต่ละเส้นสายและรายละเอียดยังรวมไว้ซึ่งหัวใจอันเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีของเหล่าจิตรกรและจิตอาสา ที่มาร่วมกันจรดพู่กันเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
นับจากแบบร่างอันสมบูรณ์จวบจนเตรียมความพร้อมในการทำงานอย่างพร้อมสรรพ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถือเป็นวันแรกในการเริ่มต้นการทำงานของโรงเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จวบจนถึงวันสุดท้ายที่กำหนดไว้ให้เป็นวันสิ้นสุดการทำงาน ในวันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 ก่อนจะนำภาพไปติดตั้งกับกรอบไม้แกะสลักเพื่อประกอบเป็นฉากกั้นลมและควบคุมเพลิงบริเวณส่วนในสุดของพระเมรุมาศ
คุณเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร หนึ่งในผู้ออกแบบและควบคุมการเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง(ด้านใน) กล่าวว่า ฉากบังเพลิงมีขนาดความสูง 4.4 เมตรกว้าง 5.35 เมตร ทั้งด้านนอกและด้านในของฉากประกอบด้วยภาพจิตรกรรมอันงดงามที่แบ่งออกเป็นด้านละ 8 ช่องให้รับกับกรอบฉากไม้แกะสลัก นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบอีก 2 ช่อง ประกบซ้าย-ขวาในแต่ละทิศ บริเวณส่วนที่ติดกับบันไดทางขึ้น รวมภาพจิตรกรรมที่ใช้ประกอบฉากบังเพลิงทั้งสิ้น 40 ภาพ
“ในฉากแต่ละด้านจะมีภาพคู่กลางซึ่งเป็นภาพนารายณ์อวตารเป็นภาพหลัก ประกบซ้าย-ขวาด้วยภาพเทวดานางฟ้า ที่สื่อให้เห็นถึงสรวงสวรรค์ ส่วนภาพด้านล่างที่เรียงต่อกัน 4 ภาพ เป็นโครงการในพระราชดำริ เช่นเดียวกับภาพในกรอบอีกสองภาพที่ติดกับบันไดทางขึ้น รวมภาพพระราชกรณียกิจทั้งหมด 24 ภาพ” คุณเกียรติศักดิ์กล่าว
การอัญเชิญภาพพระนารายณ์มาสถิตอยู่ในจิตรกรรมฉากบังเพลิงนั้น เกิดขึ้นตามคติความเชื่อโบราณ ที่พระมหากษัตริย์ไทยเปรียบได้ดั่งองค์พระนารายณ์ผู้อวตารจากสรวงสวรรค์มายังโลกมนุษย์ ซึ่งภาพของพระนารายณ์ทั้ง 8 ปาง จาก 10 ปางนี้ นำมาจากเรื่อง พระนารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยแบ่งการจัดวางออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้สอดคล้องกับพระราชกรณียกิจตลอดรัชกาล โดยแต่ละหมวดจะแยกตามทิศของฉากบังเพลิงแต่ละด้าน
แม้แนวทางในการทำงานจะถูกกำหนดด้วยรูปแบบและสีสันอย่างชัดเจนแล้ว โดยเริ่มจากการร่างแบบและลงรายละเอียดในงานสเก็ตซ์ภาพเล็ก ก่อนขยายสัดส่วน 1 ต่อ 7 เพื่อให้ได้ขนาดอันเหมาะสมกับฉากบังเพลิง แต่ในแง่ของการปฏิบัติงาน ทางสำนักช่างสิบหมู่ยังต้องระดมสรรพกำลังของเหล่าจิตรกรทั้งในสังกัดหน่วยงานของกรมศิลปากรเอง รวมถึงยังต้องเปิดรับสมัครเหล่าจิตรกรอาสาผู้มีฝีมืออีกเป็นจำนวนมาก เพื่อจัดทำให้เสร็จตามกำหนดเวลา ในขณะเดียวกันก็ยังต้องใส่ใจทุกรายละเอียดเพื่อให้จิตรกรรมฉากบังเพลิงมีความงดงามสมบูรณ์มากที่สุด
ชวน หลีกภัย หนึ่งในจิตรกรอาสาจิตรกรรมฉากบังเพลิง
ด้วยความตั้งใจถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นครั้งสุดท้ายก่อนพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ซึ่งความทุ่มเทของคุณชวนในวัย 79 ปี ไม่น้อยไปกว่าจิตอาสาคนใด เพราะหากมีเวลาเป็นต้องมาช่วยงานอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ งานหลักที่คุณชวนทำคือการลงสีผิวเทวดานางฟ้าทั้งหมดในเบื้องต้น รวมทั้งยังเสนอไอเดียเสริมการวาดลายผ้าไทยจากภูมิภาคต่างๆ ลงบนผ้านุ่งของเหล่าเทวดา นางฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับทิศของฉากบังเพลงในแต่ละด้าน
“ผมเสนอไอเดียในส่วนของผ้านุ่งเทวดานางฟ้าที่น่าจะนำลวดลายผ้าไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงให้การสนับสนุนมาเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านและยังเป็นการยกย่องพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยในแต่ละภาค ซึ่งหากไม่ทรงเริ่มต้นไว้ ปัจจุบันพวกเราอาจไม่ได้เห็นผ้าเหล่านี้แล้ว หลังจากนำไอเดียไปเสนอหัวหน้าและได้รับการอนุญาต เราก็ช่วยกันหาตำราเพื่อนำมาใช้เขียน” อดีตนายกฯกล่าว
ดังนั้นแต่ละลวดลายผ้าที่เลือกมาเพื่อบรรจงวาดลงไปในแต่ละภาคนั้น ล้วนคัดสรรกันอย่างพิถีพิถัน ลงสีให้กลมกลืนกับองค์ประกอบโดยรวมและวาดลวดลายด้วยเทคนิคเชิงช่างที่เน้นรูปแบบของภาพ 3 มิติ ซึ่งคุณชวนเล่าว่าต้องให้ช่างฝีมือขึ้นต้นแบบให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน จึงจะสามารถลงสีและวาดลายตามได้ ซึ่งลายผ้าในแต่ละภาคประกอบด้วย ภาคอีสาน เช่น ผ้าปักธงชัย ผ้าขาวม้า ภาคเหนือ เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าไทลื้อ ภาคใต้ เช่น ผ้ายกจากเกาะยอ, ผ้านาหมื่นศรี จังหวัดตรัง, ผ้าปาเต๊ะ, ผ้าไหมพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ผ้าจวนตานี จังหวัดปัตตานี
การทำงานตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาแม้บางครั้งสุขภาพร่างกายจะเริ่มไม่อำนวยตามวัย แต่คุณชวนก็ยังคงมาช่วยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังคอยเป็นกำลังใจให้เหล่าจิตอาสา ทั้งในส่วนของงานจิตรกรรมฉากบังเพลิง พระที่นั่งทรงธรรม และในส่วนอื่นๆ ทั้งงานปั้น งานหล่อ ที่อยู่ในบริเวณสำนักช่างสิบหมู่ด้วย
“เคยมีผู้ใหญ่มาถามผมว่า ผมมาช่วยเขียนที่งานฉากบังเพลิงนี้จริงๆหรือ นึกว่าไปเจิมพอเป็นพิธีแล้วก็จบ ผมก็ตอบว่าเขียนจริง เพียงแต่ไม่ได้เขียนทั้งหมด ผมเขียนเฉพาะที่ฝีมือคนธรรมดาสามัญจะสามารถเขียนได้เท่านั้นเอง ทั้งหมดนี้ที่ทำเพราะผมอยากทำเพื่อพระองค์ท่าน ทำด้วยความรู้สึกผูกพัน ที่เคยมีโอกาสได้ถวายงายหลายครั้งทั้งในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือในโอกาสที่ตามเสด็จฯ และตระหนักว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำงานเหนื่อยและหนักมามากเพียงใด จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังได้นำพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท และแนวทางการทำงานจากโครงการในพระราชดำริต่างๆเหล่านั้นไปบรรยายเพื่ออธิบายให้คนเข้าใจเสมอ”
………………………………………………..
ติดตามเรื่องราวฉบับเต็มได้ใน HELLO! ปีที่ 12 ฉบับที่ 22 วางแผงวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม