Home > Celebrity > Celebrity News > ‘นิดา ปิณฑานนท์’ ทุ่มเทใจทำพระวิสูตรประดับพระเมรุมาศ

คุณนิดา ปิณฑานนท์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเท็กซ์ไทล์ นอกจากจะศึกษาและทำงานทางด้านนี้มาอย่างยาวนานแล้วยังเป็นผู้ที่เคยทำพระวิสูตรสำหรับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพมาแล้วถึง  2  ครั้ง

โดยครั้งแรกจัดทำในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นการจัดทำผ้าทอจากผ้าไหม พิมพ์เป็นลายใบไม้ร่วงและต่อมาในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีโอกาสจัดทำพระวิสูตรประดับพระเมรุมาศ โดยครั้งนี้ใช้ผ้าฝ้ายพิมพ์ลายไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ยังความทุกข์โศกเสียใจแก่ปวงชนชาวไทยอย่างยิ่ง รัฐบาลได้เตรียมการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงให้สมพระเกียรติที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสนิกรชาวไทยตลอดรัชสมัย โดยกรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ ออกแบบโดย อ.ก่อเกียรติ ทองผุด

องค์พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ลักษณะ 7 ชั้น เชิงกลอน บนยอดสุดปักนพปฎลมหาเศวตฉัตร โถงกลางภายในเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตรและฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศ

คุณนิดา ปิณฑานนท์ จึงบอกกับตัวเองว่า ถ้าได้มีโอกาศทำพระวิสูตรประดับพระเมรุมาศในครั้งนี้ก็จะทำเพื่อถวายพระองค์ท่านอย่างสุดชีวิต “แต่ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรจะติดต่อกับใคร เพราะพล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้ประสานงานในการทำพระวิสูตรสำหรับพระเมรุมาศของสมเด็จย่าได้เสียชีวิตแล้ว แต่สุดท้ายก็ได้เฝ้ากราบบังคมทูลถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอทอพระวิสูตรประดับพระเมรุมาศถวาย”

ผ้าสำหรับพระวิสูตรประดับพระเมรุมาศบุษบกประธานออกแบบเป็นลวดลายไทยที่วิจิตรงดงามมากที่สุดเป็นลาย ‘พุ่มข้าวบิณฑ์ อินทร์-พรหมโคมลายกนก นกคาบออกรูปทวยเทพถวายกร’ ซึ่งใจกลางพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นเทพยดาทรงช้างไอยราพต ส่วนลายโคมมีพระพรหมอยู่ในช่องตัวห้ามลายของขาโคม ตัวโคมเป็นเทพยดาพนมกร เรียกโดยรวมเป็นลาย อินทร์-พรหม สอดคล้องตามความเชื่อแต่โบราณราชประเพณีที่ว่าพระอินทร์และพระพรหมอยู่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ลวดลายที่สะเอียดอ่อนสวยงามมากนี้ออกแบบโดยอาจารย์สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร

“เมื่อทอเสร็จสมบูรณ์เป็นชิ้นแรกก็ได้กราบบังคมทูลถวายพระองค์ท่านทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งอาจารย์สมชายกล่าวว่า ‘คุณนิดาเป็นผ้าชิ้นเดียวในโลกนะ’ ดิฉันตั้งใจที่จะให้ออกมาดีและสมพระเกียรติที่สุดให้เป็นชิ้นเดียวในประวัติศาตร์ เพื่อถวายพระองค์ท่าน ส่วนพระวิสูตรประดับบุษบกหอเปลื้องเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอน 5 ชั้นจำนวน 4 องค์ และพระวิสูตรประดับบุษบกซ่างเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนห้าชั้นจำนวน 4 องค์ เป็นผ้าไหมสีสนิม โดยมีขอบสังเวียนและกรวยเชิงเหมือนกับบุษบกประธาน เพื่อให้รับกัน

“ในการทำพระวิสูตรครั้งนี้ได้ประสานงานกับอาจารย์สมชายมาตลอดและขออนุญาตอาจารย์สมชายปรับสีและปรับขนาดเพราะต้องให้พอดีกับขนาดของเครื่องทอผ้าซึ่งเราใช้การทอแบบแจ๊กการ์ดเพื่อให้เกิดลวดลายในเนื้อผ้าและมีมิติลายนูนขึ้นมาอย่างสวยงามลายที่ออกแบบมาอย่างสวยงามนี้เวลาทอจะทออย่างไรให้เชื่อมกันโดยไม่มีรอยต่อซึ่งยากมาก

“พระวิสูตรครั้งนี้ต้องทอทั้งหมดจำนวนหนึ่งพันหลาโดยทอได้ชั่วโมงละหนึ่งหลาซึ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ยืนคุมอยู่หน้าเครื่องทอตลอดเวลาเพื่อเฝ้าดูเส้นไหม หากเส้นไหมขาดเครื่องจะหยุดทำงานจึงต้องมีการเส้นต่อไหม วันหนึ่งทอได้เพียง 10 หลาเท่านั้นและต้องใช้เวลาทอทั้งสิ้นถึง 4 เดือนเต็ม โดยใช้ไหมจีนซึ่งมีขนาดยาวและเรียบเป็นเส้นยืนและใช้ไหมไทยเป็นเส้นพุ่ง เนื่องจากมีเส้นสั้นกว่าแต่ข้อดีหรือคุณสมบัติของไหมไทยคือเมื่อทอแล้วจะมีความเงางามกว่าไหมจีน ไม่ใช่เเค่ลวดลายเท่านั้นอย่างรอยต่อต่างๆ จะใช้วิธีทอผ้าต่อกันเพื่อเป็นชั้นๆ ให้เป็นผืนเดียวกันไม่ได้ทำเเยกเพราะไม่อยากให้มีการเย็บต่อแล้วเป็นรอยตะเข็บ”

 “ดิฉันบอกกับตัวเองตลอดว่า เราเกิดมาในแผ่นดินของพระองค์ท่าน ที่ผ่านมาพระองค์ท่านทรงทำเพื่อพวกเราชาวไทยมามากมายเหลือเกิน เมื่อพระองค์ท่านทรงจากเราไปเราเสียใจมากและอยากทำถวายด้วยใจจริงเลย จะเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม ขอถวายชีวิต และนี่ถือเป็นที่สุดของชีวิตแล้ว ดิฉันจึงปลาบปลื้มมากที่ได้ทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศจนสำเร็จ เป็นสิ่งสูงสุดในชีวิตแล้ว และอยากให้ผ้าม่านประดับพระเมรุมาศครั้งนี้เป็นการร่วมกันถวายในหลวงรัชกาลที่9 ในนามของคนไทยทุกคนไม่ใช่แค่ดิฉันหรือครอบครัว” 

……………………………………………….. 

ติดตามเรื่องราวฉบับเต็มได้ใน HELLO! ปีที่ 12 ฉบับที่ 22 วางแผงวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 

ติดตามฉบับดิจิตอลได้ทาง

http://www.ookbee.com/Shop/Issue?magid=HELLO

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.