ยิ่งกว่าละคร ! เส้นทางสู่วิถีสตรีผู้ทรงอิทธิพลในโลกแฟชั่นของ ‘ออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล’
หนึ่งในเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำในประเทศไทย ต้องมีชื่อของคุณออม-ดิษยา สรไกรกิติกูล รวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเธอเป็นครีเอทีฟไดเรคเตอร์ทั้งแบรนด์ชุดชั้นในอย่าง Boudoir by Disaya และแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของไทยอย่าง Disaya อีกด้วย หากจะถามถึงรองเท้าสวยสุดแกลมเท่าที่จะหาได้ในโลกแฟชั่น ก็ยังเป็นตัวแทนนำเข้าแบรนด์ Jimmy Choo ที่ดาราฮอลลีวูดจนถึงดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เลือกเป็นแบรนด์คู่ใจ หากปรารถนากระเป๋าเก๋สุดในฤดูกาล Chloé แบรนด์เก่าแก่จากปารีสก็สร้างสรรค์กระเป๋าทุกแบบให้เลือกสะพายในทุกโอกาส และหากต้องการชุดสวยฝีมือระดับโอตกูตูร์จากอิตาลี ก็หาชุดที่ใช่ได้จาก Valentino
แต่กว่าจะมามีตัวตนชัดเจนขนาดนี้คุณออมก็ผ่านบททดสอบชนิดที่เรียกว่าหินเลยทีเดียว
‘เรียนแฟชั่นไปทำไม’ คำถามนี้คุณออมบอกมาจากคุณพ่อคุณแม่ของเธอ เมื่อรับทราบการตัดสินใจของลูกสาวที่ร่ำเรียนที่อังกฤษตามหลักสูตร A-Level สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (Further Mathematics) ด้วยมุ่งจะเดินไปในเส้นทางสายอินทีเรียร์ดีไซน์ตามที่คุณพ่อและคุณแม่แนะนำ แต่แล้ว กลับหันไปเลือกต่อปริญญาตรีด้านออกแบบแฟชั่น
“ไอเดียที่จะเรียนแฟชั่นและยึดเป็นอาชีพ สมัยนั้นถือเป็นเรื่องใหม่มาก คุณพ่อคุณแม่ออมตกใจเพราะการที่ท่านส่งลูกไปเรียนเมืองนอกคงหวังจะให้เรียนวิชาอย่างสถาปัตย์หรือวิศวะ พอเลือกเรียนสาขานี้ คุณพ่อคุณแม่ก็วาดภาพไม่ออกว่าลูกจะไปใน direction ไหน ปูทางอนาคตยังไง”
“ออมได้ไปลองเรียน foundation เลยรู้สึกอินกับแฟชั่นมากๆ แต่ยุคนั้นน้อยคนนักที่จะเรียนแฟชั่นเป็นปริญญา คนอาจจะคิดกันว่าเรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานอะไร แต่ตอนนั้นออมรู้แค่ว่าเราชอบตรงนี้จริงๆ แล้วเอก็สนับสนุนเต็มที่มาก แต่ออมเปลี่ยนใจมาเรียนแฟชั่นช้าค่ะ เลยเหลือเวลาทำพอร์ทแค่เดือนเดียว คนอื่นเขาเตรียมงานกันเป็นปีนะคะ ออมหยุดไปโรงเรียนแล้วมานั่งทำพอร์ทที่บ้าน เคยเกือบทำไฟไหม้บ้านด้วย ตั้งกระทะขี้ผึ้งทิ้งไว้บนเตาจะเอามาใช้ทำงาน แล้วก็นั่งวาดรูปไปด้วย เงยหน้ามาอีกที ไฟลุกท่วมจากกระทะ รีบวิ่งไปเปิดก๊อกรองน้ำมาดับไฟ (หัวเราะ)”
สุดท้าย Central Saint Martins ตอบรับคุณออมเป็นเฟรชชี่สาขาแฟชั่นดีไซน์ ซึ่งเธอสมัครแฟชั่นที่นี่ที่เดียวเท่านั้น “คนที่ทำให้ออมอยากเรียนที่เซนต์มาร์ตินส์คือจอห์น กัลลิอาโน่และอเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ออมชอบผลงานของสองคนนี้มาก บวกกับหลงใหลขั้นตอนในการดีไซน์กับขั้นตอนในการทำเสื้อผ้า กระบวนการที่ไม่หยุดอยู่กับที่น่าสนุกเสมอและแต่ละซีซั่นเปลี่ยนเร็วมาก” การได้เข้าเรียนสถาบันแฟชั่นชื่อดังไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่เกิดจากความทุ่มเทและความตั้งใจล้วนๆ เมื่อได้เข้าไปเรียนจริงๆเธอบอกว่าไม่ผิดหวังเลยสักนิด
“พูดได้เลยว่าเซนต์มาร์ตินส์หล่อหลอมให้เราเป็นเราทุกวันนี้ ออมเรียนทั้งปริญญาตรีและโทด้วย ได้วิธีคิดได้ประสบการณ์จากที่นี่เยอะมาก แต่ก็ไม่ใช่ที่ที่จะอยู่ได้ง่ายๆ”
“ตอนเรียนปริญญาโทโอเคนะ แต่ตอนเรียนปริญญาตรี นักเรียนจะแข่งขันกันสูง บางปีมีการเอากรรไกรไปตัดงานของคนอื่น เช้ามาเห็นเสื้อเป็นรูก็ให้ทำใจ สุดท้ายตอนจบตรี ออมได้ L’Oreal Professional Total Look Award และได้เป็นโชว์ปิดของปีนั้นซึ่งเป็นรางวัลที่ทุกคนอยากได้ เพื่อนไม่พูดด้วยเลย คงเป็นอารมณ์ประสาวัยรุ่นน่ะค่ะ”
ความปิติอีกประการของการได้ร่ำเรียนแฟชั่นของคุณออมคือได้ผ่าน ‘ครู’ ผู้มีหัวใจเป็นครูอันยิ่งใหญ่ อาทิ Louise Wilson ‘ครู’ สมัยเรียนปริญญาโทของคุณออมที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการแฟชั่นของโลก ด้วยเคยประสิทธิ์ประสาทนักเรียนที่เติบโตไปเป็นดีไซเนอร์ระดับโลกมากมาย อาทิ สเตลล่า แม็กคาร์ธนีย์, ร็อกแซนด้า อิลลินซิค ดีไซเนอร์แบรนด์โปรดของดัชเชสแห่งเคมบริดจ์, รวมถึงซาร่าห์ เบอร์ตัน ผู้ออกแบบฉลองพระองค์ชุดแต่งงานของดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ รวมทั้งอเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ดีไซเนอร์ขวัญใจของคุณออมด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีการสอนอันแสนจะมีเอกลักษณ์ของมิสวิลสันคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอกลายเป็นตำนานตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ และกลายเป็นตำนานที่จะไม่มีวันถูกลืมแม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม เรื่องเล่าจากชั้นเรียนของมิสวิลสันก็เช่น หุ่นโชว์ผลงานของนักเรียนลอยละลิ่วไปเพราะแรงเท้าของครู บ้างก็ถูกครู ‘สอน’ ด้วยเสียงดังระดับธรณีสะเทือน
“ออมไม่เคยโดนดุนะคะ ลูอิสรู้ว่าออมกลัวเขามาก เลยจะเบาๆกับออมนิดนึง เขาเหมือนเป็นคนดุ แต่จริงๆแล้วเป็นคนตรงไปตรงมามากกว่า พูดแรงเพื่อให้งานออกมาสวย อย่างไฟนอลคอลเลคชั่นของออม ครูให้ออมเอาพอร์ทคอลเลคชั่นที่ได้รางวัลมาดู แล้วสอนว่าออมควรจะทำยังไงไม่ให้สูญเสียความเป็นตัวเราแต่ขณะเดียวกันพัฒนาขึ้น ให้อยู่ในโลกแห่งความจริงได้มากขึ้น เพราะตอนเรียนปริญญาตรีอยากทำอะไรก็ทำ ไม่ได้นึกถึงว่าจะขายได้ไหม แต่การเรียนปริญญาโทต้องคิดเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย ลูอิสเป็นคนพูดขึ้นมาเองว่าคำว่า commercial หรือสิ่งที่เรียกว่าขายมีหลายแบบ บางคนขายชุดที่ไม่ได้ดูคอมเมอร์เชียลเลยแต่ขายได้ ก็เรียกว่าคอมเมอร์เชียลได้เหมือนกัน คิดได้หลายมุม ออมเลยรู้สึกเขาเป็นคนที่มีรสนิยมดีมาก สไตล์ดีเลิศ”

และในฐานะบัณฑิตแฟชั่น เธอมองว่าแม้ยุคนี้จะมีแบรนด์ต่างๆผุดขึ้นมากมาย การเรียนแฟชั่นเพื่อจะได้เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ยังจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ “จำเป็นค่ะ” เธอตอบเร็ว “สิ่งที่ออมได้จากเซนต์มาร์ตินส์คือออมทำเสื้อผ้าเองได้ทุกขั้นตอนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทำแพทเทิร์น ตัดเย็บ หรือแม้แต่การพัฒนาวัสดุ ไม่ใช่นั่งวาดแบบแล้วไปจ้างช่างเย็บ ออมเลยรู้สึกว่าการเรียนแฟชั่นทำให้เรารู้จริงและทำเป็นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อเราได้พื้นฐานแล้วเราจะครีเอทวิธีการตัดเย็บ การสร้างแพทเทิร์น ฟอร์มหรือลูกเล่นใหม่ๆ ไปจนถึงสไตล์ของเราเองได้ค่ะ”


นอกจากความโชคดีที่ได้เจอในสิ่งที่เธอรักแล้ว คุณออมยังมีสามีคนเก่งคุณเอ ดนัย สรไกรกิติกูล ที่คอยช่วยสนับสนุนเป็นทั้งแรงกายแรงใจให้กับคุณออมเสมอมาตั้งแต่ทั้งคู่คบกันเมื่อ อายุ 16 จนถึงทุกวันนี้มีโซ่ทองคล้องใจคือลูกสาวหน้าตาหน้ารักอย่างน้องอิ่มเอม ที่มาทำให้ครอบครัว สรไกรกิติกูล สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน HELLO! ปีที่ 11 ฉบับที่ 25 วางแผงแล้ววันนี้