Home > Celebrity > Celebrity News > รศ.ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวง อส.วันศุกร์ ที่มีอายุน้อยที่สุด

บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสืบสานพระปณิธานในการส่งต่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้คงอยู่กับลูกหลานคนไทยตราบชั่วนิรันดร์ นั่นคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ภาธร เป็นนักประพันธ์ดนตรี นักแซ็กโซโฟน และเป็นสมาชิกวง อส.วันศุกร์ ที่มีอายุน้อยที่สุด

ตลอดช่วงเวลาหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดร.ภาธร ยังคงทำงานของตัวเองอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ในอันที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งต้นแบบของบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ถูกต้องแม่นยำตามต้นฉบับที่ทรงสังคายนาเอาไว้ครั้งสุดท้าย ระหว่าง พ.ศ.2547

ดร.ภาธร เล่าถึงเรื่องราวความทรงจำอันน่าประทับใจ ในสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับการดนตรี ตั้งแต่อดีต ที่ตนเองยังเป็นเด็กมาจนถึงปัจจุบันว่า

“เมื่อประมาณปี 2494 พระองค์ท่านได้ทรงตั้งวงดนตรีขึ้นมา พระราชทานชื่อว่าวง ‘ลายคราม’ โดยในช่วงแรกๆ นั้น มีแต่พระประยูรญาติผู้ใหญ่ของพระองค์ท่าน มาร่วมกันเล่นดนตรี ในช่วงที่คุณพ่อ (เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงดนตรีสากล พ.ศ. 2535) ได้เข้าไปเล่นเปียโนถวายในวงลายคราม พระประยูรญาติก็ค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่วงลายครามเล่นออกอากาศที่สถานีวิทยุ อ.ส.วันศุกร์ เหลือเพียง 1 พระองค์ กับ 1 คนเท่านั้น ซึ่งก็คือพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และอ.แมนรัตน์ จากนั้น อ.แมนรัตน์ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้หานักดนตรีเข้ามาเพิ่มเติม จนกลายเป็นวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ อย่างที่เราทราบกัน ในที่สุด

“ตอนที่ผมไปเฝ้าพระองค์ท่านครั้งแรกๆ ตอนนั้นประมาณอนุบาล 2 พอจะเริ่มทรงดนตรี ผมก็จะกลับบ้าน ส่วนพ่อก็อยู่เล่นต่อไปจนถึงดึก แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นก็อยู่ดึกได้ จึงได้เฝ้าพระองค์ท่านในขณะที่ทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ จึงเกิดแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีขึ้นมา คืนนั้นกลับบ้านมาบอกพ่อว่าอยากเล่นเครื่องดนตรีที่พระองค์ท่านทรงเล่นมาก ถามพ่อว่ามันคืออะไร พ่อบอกว่าคือแซ็กโซโฟน”

ก่อนหน้าที่ ดร.ภาธร จะเข้าไปถวายตัวถวายงานแด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านก็ได้ฝึกซ้อมดนตรีด้วยแซ็กโซโฟนที่พระราชทานให้ ดร.แมนรัตน์ ใช้ถวายการสอนดนตรีแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ในขณะที่ทรงเป็นนักเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา

“ผมจำได้ว่าไปเล่นในวง อ.ส.วันศุกร์ ครั้งแรกตั้งแต่อยู่ ม.1 และหลังจากนั้นก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไปเรียนดนตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นทุนการศึกษาและแซ็กโซโฟนส่วนพระองค์อีก 1 เครื่อง เมื่อจบมัธยม ผมก็ต่อปริญญาตรี ปริญญาโททางดนตรีไปเรื่อยๆจนจบปริญญาเอก หลังจากกลับมาประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ท่านก็มีรับสั่งให้ผมแต่งและเรียบเรียงเพลงต่างๆถวาย ซึ่งรวมถึงเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย ในปี 2544 พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพลงพระราชนิพนธ์ขึ้นมา โดยให้ผมได้มารับหน้าที่นี้เป็นคนแรก จากนั้น ในปี 2547 ทรงมีพระราชปรารภว่าอยากจะทรงสังคายนาเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นมาตรฐาน จึงทรงมีรับสั่งให้ผมได้ทำโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลงขึ้นถวาย เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัย และหลังจากที่ทรงปรับแก้เพลงแต่ละเพลงแล้วก็จะพระราชทานให้วง อ.ส.วันศุกร์ได้ทดลองเล่น ซึ่งทรงใช้เวลาประมาณ 5 ปี จนถึงช่วงที่ทรงพระประชวรในปี 2552 และเสด็จเข้าโรงพยาบาลศิริราช

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมจำได้ว่ามีโอกาสได้คุยกับคุณอาๆ ทั้งหลายที่เคยตามเสด็จพระองค์ท่านไปตามที่ต่างๆ ทุกคนเหน็ดเหนื่อยมากแต่ทุกคนมีความสุขที่ได้ตามเสด็จ พอผมเดินกลับมาเฝ้าพระองค์ท่านในขณะที่พระองค์ท่านเสวยอยู่ ผมก็กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจที่เกิดมาช้าไป 10 ปี เพราะว่าข้าพระพุทธเจ้านี้ได้ฟังจากบรรดาอาๆทั้งหลายที่เคยตามเสด็จฯไปว่ามีอะไรกันบ้างล้วนน่าจดจำ พระองค์ท่านจึงรับสั่งว่า ไม่หรอก เกิดมาถูกเวลาแล้ว เพราะสิ่งที่เราเห็น ความสุขที่เรามีด้วยกัน เล่นดนตรีมีความสุขร่วมกัน ได้หัวเราะร่วมกัน พระองค์ท่านรับสั่งว่าต่อไปข้างหน้าวง อ.ส.วันศุกร์ก็จะเหลือผมเพียงคนเดียว ก็ขอให้จดจำเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้แล้วเล่าให้ลูกหลานฟัง”

นอกจากนี้ ดร.ภาธรยังกล่าวอีกว่า ตนเองมีทุกอย่างในชีวิตก็เพราะพระองค์ท่าน พระองค์ท่านทรงเป็นทั้งพ่อ ทั้งครู ดนตรีพระองค์ท่านก็ทรงสอน สมัยเรียนเวลาผมกลับมาบ้านปีละสองครั้ง พระองค์ท่านก็จะรับสั่งว่า อ้าวเปิดเทอมแล้ว หมายถึงเปิดเทอมเรียนดนตรีกับพระองค์ท่าน การที่ผมได้เข้ามาเป็นสมาชิกในวง อ.ส.วันศุกร์นี้คือการก้าวสู่ภาระหน้าที่อันสำคัญเพราะนอกจากเล่นดนตรีถวายแล้ว พระองค์ท่านยังทรงเล่าถึงเรื่องราวต่างๆให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องของบทเพลงพระราชนิพนธ์ ดังนั้นหน้าที่ของผมในขณะนี้ คือการสานต่อพระราชปณิธานที่เกี่ยวกับดนตรีของพระองค์ท่าน ถึงแม้ว่าวันนี้วง อ.ส.วันศุกร์จะไม่มีอีกแล้ว แต่ความทรงจำของการเล่นดนตรีนี้จะยังคงอยู่ต่อไป ในเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์ ผมก็จะพยายามรักษาและเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ที่สุด และจะเผยแพร่พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ท่านให้กว้างไกลที่สุด เพราะนี่คือ ‘คีตรัตนบรมราชานุสรณ์’ แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นี่คือชีวิตผมทั้งชีวิต ที่ถวายแด่พระองค์ท่าน”

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.