หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนฟากฟ้าวงสังคมเมืองไทยโดยเฉพาะในแวดวงศิลปะและจิวเวลรี่อยากเชื้อเชิญให้เธอมาปรากฎตัวไม่ว่างานไหนงานนั้น ด้วยบุคลิกและสไตล์จากศีรษะจรดปลายเท้าอันโดดเด่น เครื่องประดับพราวเต็มร่างกับอายไลเนอร์สีดำสนิทบนเปลือกตาพร้อมเผยเรื่องราวชีวิตของพระราชปนัดดาในรัชกาลที่ 5 ราชนิกูลหญิงที่เกี่ยวพันกับ 4 ราชสกุล ได้แก่ จิรประวัติ โสณกุล นพวงศ์และกุญชร ซึ่งผูกพันกับวังไทยโบราณ 2 หลัง สาวชาววังที่ผันตัวเป็นนักออกแบบจิเวลรีชื่อดังระดับนานาชาติ
ชีวิตในวัยเยาว์ของราชนิกูลหญิงผู้นี้เติบโตมาอย่างสาวชาววังโดยแท้ “เห็นทำแฟชั่นแต่เป็นสาวชาววังทุกระเบียดนิ้วนะคะ…สมัยก่อนในวังมีคนอยู่รวมกันเป็นร้อย วังบ้านหม้อเป็นของฝ่ายย่า ส่วนทางปู่คือวังมหานาค แต่ดี้โตมาในวังบ้านหม้อ ต้องทำอาหาร ทำขนมไทย รำละคร ร้องเพลงไทยเดิมถวายเจ้านายในสมัยโบราณ เย็บปักถักร้อยเป็น ร้อยมาลัยได้ บอกมาสิว่ามีอะไรบ้าง งานฝีมือดี้ทำเป็นทุกอย่าง แต่ชอบที่สุดคืองานที่ใช้ปากกาวาด”
เธอเอ่ยถึงความถนัดที่กลายมาเป็นอาชีพที่รักและสร้างชื่อเสียงอย่างมากในทุกวันนี้ “แต่ดี้ไม่ใช่คนสมัยใหม่หวือหวา ดูเป็นคนอย่างนั้นเพนสะงานที่ทำเกี่ยวกับแฟชั่นและดีไซน์เท่านั้นเอง แต่ใช้ชีวิตเรียบง่ายและธรรมดามากๆ แต่ใช้คำว่าธรรมดาก็ไม่ค่อยจะถูกนัก เพราะมีอะไรให้ทำวุ่นวายได้ทุกวัน (ยิ้ม) แต่ดี้เป็นคนเรียบๆ ไม่ชอบโชว์ออฟ ไม่เว่อวัง ออกจะเหมือนผู้หญิงโบราณด้วยซ้ำไป
“ดี้สนิทแต่กับครอบครัว พี่น้องและคนที่ทำงานด้วยกันใกล้ชิดเท่านั้น แต่ก่อนเห็นออกงานก็เลือกเฉพาะงานที่มีเพื่อนๆน้องๆแล้วเชื่อไหมว่าพี่น้อง 5 คนเป็นแบบเดียวกันหมดเลย ไม่มีใครทำตัวเว่อวัง ดูพรรคกระยาจกกันทั้งนั้น (หัวเราะ) เพื่อนยังหัวเราะว่าทำไมพวกเราเป็นแบบนี้ แต่มันเป็นไปเองนะคะ ไม่ชอบไปนั่งที่หรูหรา ชอบนั่งธรรมดาๆ ชอบกินร้านข้างถนน อร่อยดี ไม่อยากไปกินหรูๆชอบของจริงไม่ชอบของปลอมค่ะ”
สงสัยจะเป็นเพราะซิกเนเจอร์ลุคของเธอกระมังด้วยอายไลเนอร์ที่กรีดอย่างสวยที่ประดับแต่งใบหน้าของเธอมาแต่ไหนแต่ไรจนกลายเป็นภาพจำ แต่ก็ทำให้เธอดู…เป็นที่น่าเกรงขาม “สมัยเด็กๆวังบ้านหม้ออยู่ใกล้พาหุรัดใช่ไหมคะ เลยชอบไปที่นั่นมากไปนั่งดูร้านขายของของแขก เห็นสีของส่าหรีเห็นเครื่องประดับของเขาเห็นอายไลนเนอร์เขียนขอบตาของผู้หญิงแขกแล้วหลงรัก เวลาเขานั่งสวดมนต์แม่อุมาเทวีได้กลิ่นธูปลอยมาก็ไปนั่งสวดมนต์กับเขาด้วยดี้อินกับอะไรพวกนี้มากหลงรักวัฒนธรรมอินเดียมาตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอมของธูปแสงระยิบระยับของจิเวลรีสีของส่าหรี ประทับใจมากมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กผู้หญิงแขกสวยเหลือเกินอยากเขียนตาให้สวยเหมือนแขกบ้าง”
ทางเดินที่โรยด้วยอัญมณี
บุคคลใกล้ตัวที่กลายเป็นต้นแบบสำคัญที่ทำให้เธอใคร่รู้อยากเป็นดีไซเนอร์ก็คือ หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย ผู้ซึ่งเป็นชาวไทยพระองค์แรกที่สื่อมวลชนยุคเมื่อกว่า 70 ปีเรียกขานว่าเป็น ‘ดีไซเนอร์’ ด้านแฟชั่นและจิเวลรี ทัดเทียมกับ คริสเตียน ดิออร์แห่งห้องเสื้อดังระดับโลกที่ปารีส จนจับพลัดจับผลูท่าไหนไม่รู้นะคะ เพื่อนชวนมาทำธุรกิจจิเวลรีด้วยกันแต่แล้วเพื่อนตัดสินใจว่้าไม่ทำแล้ว ดี้เลยโทรไปปรึกษาแม่ (รจนา ไรซ์) ‘แม่จ๋า ตกลงพี่เขาไม่ทำแล้ว’ แม่ตอบกลับทันทีว่า ‘งั้นดี้ก็ทำเองเลยสิ ดี้ทำได้ แม่รู้’ เรียนจบก็ทำธุรกิจนี้ทันทีคือร้าน Narandha แล้วทำเองทุกอย่างนะคะ ทั้งออกแบบขึ้นตัวเรือน ฝังชุบ ลงยา เซ็ทพลอยแล้วก็ทำห้องแล็ปดูเพชรดูพลอยเองด้วย”
ศิลปินที่ทำงานทุกวันและทำตลอดเวลามาหลายสิบปี มีเคล็ดลับอย่างไรให้ไฟสร้างสรรค์ในตัวลุกโชนอยู่เสมอ นักออกแบบหญิงเผยใจว่าต้องหมั่นคอยดูและรักษาสภาพใจให้ดีเป็นเรื่องสำคัญที่สุด “เราทำงานมาทั้งชีวิตได้ข้อสรุปว่าคนชอบงานที่ดูแล้วสบายใจ ฉะนั้นแล้วคนจะดูแล้วสบายใจได้ยังไง ถ้าเราคนทำไม่รักษาใจให้สบาย” เธอยังยอมรับอย่างแช่มชื่นว่าไม่ใช่เพียงมุมมองความคิดในการทำงานออกแบบจะเปลี่ยนแปลงไป แม้แต่รสนิยมความชอบส่วนตัวและการใช้ชีวิตยังไม่เหมือนเดิมอีกแล้วเมื่อเวลาผ่านไป
ชีวิตคู่กับคู่ชีวิต
“เชื่อเพราะมันเป็นเวรเป็นกรรมที่ทำให้คนเราได้มาพบกัน” ราชนิกูลหญิงตอบคำถามเราเสียก่อนจะขยายความพรหมลิขิตให้ฟังว่า “ดี้กับพี่ซีก็ชอบกันเองด้วยนะคะ ไม่ใช่การคลุมถุงชน สามีขอแต่งงานตั้งแต่อายุ 19 ค่ะ แล้วทั้งคุณแม่สามีเอยคุณย่าของสามีเอยก็เคยให้แหวนหมั้นเอาไว้ก่อนท่านจะสิ้น ท่านเขียนชื่อติดไว้เลยว่าให้หมั้นแคนดี้นะ (ยิ้ม) พออายุ 21 ก็แต่งงาน โดยเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำสังข์จากสมเด็จพระเทพฯค่ะ
“พอดี้ตัดสินใจไปอยู่ที่อังกฤษกับลูกเพราะเราส่งเขาไปเรียนต่อที่นั่น ก็เหมือนกับแยกกันกับสามีนะคะ ดี้กลับเมืองไทยปีละ 3 ครั้ง พี่ซีก็บินไปหาปีละ 3 ครั้ง ฉะนั้นปีนึงเราได้อยู่ด้วยกัน 6 ครั้ง แต่ความรู้สึกมันแปลกประหลาดมากเลย ดี้รู้สึกเหมือนเราได้อยู่ด้วยกัน กลายเป็นว่าพอคุยเรื่องลูกแล้วไม่เคยทะเลาะกันอีกเลยเพราะมีแต่ความสุข เราจะรู้สึกได้เลยว่าเขากำลังยิ้มอยู่ทุกครั้งที่พูดถึงลูก สามีโทรหาเราทุกคืนก่อนนอน จากที่ตอนเราอยู่เมืองไทย เราโทรหาแล้วเขาไม่รับ บอกอยู่ในที่ประชุม (หัวเราะ) กลายเป็นชีวิตครอบครัวดีขึ้นกว่าเดิมมากค่ะ
หนึ่งเดียวในดวงใจ
‘กั๊บ-ศิวัช ณ สงขลา’ ลูกชายคนเดียวของคุณแคนดี้ “กว่าจะได้ลูกคนนี้มา ดี้ต้องกิ๊ฟท์ 13 ครั้งนะคะ” เธอทิ้งทุ่นโครมใหญ่เปิดเรื่องให้คนฟังตกอกตกใจไปตามๆกัน “แต่ไม่เคยคิดจะเลิกล้มความตั้งใจเลยสักครั้งเดียว เป็นคนตั้งใจทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้สมัยก่อนการทำกิฟต์ยุ่งยากและเจ็บปวดทรมานกว่าสมัยนี้เยอะนะคะ ทั้งพ่อแม่พี่น้องเราทุกคนเห็นเราผิดหวังหลายทีแล้ว ดูขั้นตอนการทำกิ๊ฟต์แล้วทรมานแทนน้ำตาไหลกันไม่อยากให้ทำแล้ว แต่เราเองที่ไม่เลิกจนได้ลูกมาคนนึงจริงๆ (หัวเราะ) แต่ตอนที่หมอบอกว่าติดแล้วเราดีใจแต่ก็เผื่อใจไว้เสมอนะคะ เผื่อว่าอาจจะไม่สมหวังก็ได้ แต่อีกใจนึงเราทุ่มเทเต็มที่มากให้พี่ส่งหนังสืมมาจากอมริกา อ่านหมดเลยว่าต้องเตรียมตัวยังไงในแต่ละเดือน ทานอาหารและวิตามินตามตำราเป๊ะปรากฎว่าลูกคลอดออกมาแข็งแรงมากขาดไป 2 ขีดจะถึง 4 กิโลก ตัวสูง 52 เซ็นต์ ทั้งหน้าทั้งตัวเป็นสีชมพูผมดำและเป็นเด็กที่เกิดมาอารมณ์ดีมาก”
“ตอนท้องได้ 5 เดือน คุณพ่อก็มาจากไป ความดันขึ้นสูงปรี๊ดเลยรีบโทรหาหมอจีนเพราะทานยาจีนไปด้วย ความดันก็ลงมาได้ไม่งั้นครรภ์เป็นพิษไปแล้วค่ะ กั๊บเป็นเด็กที่แข็งแรงมากต้องมีพี่เลี้ยง 2 คนไว้ให้สลับวิ่งกันตามลูก แต่นอกนั้นแม่เลี้ยงเองทำทุกอย่างเองตลอดค่ะลูกเกิดมาเป็นเด็กอารมณ์ดีมากไม่เคยร้องไห้สักแอะเสียจนวันหนึ่งคนเฝ้าบ้านเดินมาหา คุณครับผมเป็นห่วงคุณหนูเหลือเกิน เราก็ถามทำไมล่ะ เขาบอกก็คุณหนูไม่ร้องเลยผมกลัวคุณหนูเป็นใบ้ (ยิ้ม) ใจดี้อยากได้ลูกผู้หญิงอีกคนนะคะแต่พี่ซีบอกว่าเขารักลูกคนนี้สุดหัวใจ ไม่อยากแบ่งความรักไปให้คนอื่นอีกตัวเขาเองพ่อแม่เลิกกันตั้งแต่เขาอายุ 6 ขวบ ดี้เลยพยายามทุกอย่างเพราะอยากมีลูกให้พี่ซีได้มีครอบครัวที่เติมเต็มค่ะ”
“สิ่งที่ประทับใจที่สุดในตัวลูกคือการได้รู้ว่าลูกเราเป็นเด็กมีน้ำใจ เวลามีคนมาบอกเราว่าเขารักลูกเรา พ่อแม่เพื่อนลูกมาชมกับเรา หรือครูมาชมกับเราว่ากั๊บเป็นเด็กมีน้ำใจ อารมณ์ดี ทำให้ทุกคนมีความสุข เรารู้แค่นี้เราประทับใจมากนะคะ’
หวนคืนเมืองไทย (ถาวร)
9 ปีที่อังกฤษผ่านไปจนบุตรชายคนเดียวใกล้เรียนจบมหาวิทยาลัย คุณแคนดี้จึงตัดสินใจจะย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยเป็นการถาวร “เขาต้องรู้จักรับผิดชอบและทำอะไรเองบ้าง ถ้าเรายังอยู่ที่โน่นก็อดจะทำให้ลูกทุกอย่างไม่ได้” คนเป็นแม่เอ่ยยิ้มๆ ทำให้ทุกวันนี้ ‘บ้านปลอดภัย’ เริ่มคึกคักมีชีวิตชีวาจากการที่นายหญิงของบ้านแวะเวียนกลับมาดูแลบ่อยครั้งขึ้นและอยู่นานขึ้นเรื่อยๆ
“บ้านหลังนี้อายุ 90 กว่าปีแล้วค่ะ จริงๆแล้วก็ไม่นานนะคะเพราะบ้านที่เมืองนอกอายุหลายร้อยหรือเป็นพันปีก็เยอะ แต่สำหรับกรุงเทพฯ 90 กว่าปีถือว่านานเพราะกรุงเทพฯเพิ่งอายุแค่ 200 กว่าปี แต่กรุงเทพฯก็เป็นเมืองที่เจริญเติบโตเร็วมีสิ่งการสร้างใหม่ๆขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพราะต้องรื้อของเก่าๆออก (ยิ้ม)
“พอกลับมาเปิดบ้านดี้ก็ลงมือเลยค่ะ ทาสี ซ่อมแซม จัดบ้านใหม่หมด เดิมเป็นเหมือนบ้านโบราณ ของเก่าเยอะมากตอนหลังเอาของเก่าแบ่งให้น้องไปเลยมีของใหม่ๆเข้ามาแต่งบ้านบ้าง เช่น งาน sculpture ที่เป็นโมเดิร์นอาร์ทสไตล์เรา แล้วก็ทำห้องเป็นสีนู้นสีนี้ให้มันเป็นเรา เราอยู่เราก็อยากให้เป็นเราตอนแรกคุณปู่คุณย่าทำไว้ก็สวยคลาสสิคโบราณทุกจุดท่านเนี้ยบมาก แต่พอดี้มาอยู่เองของเก่าก็น้อยลง มีของโมเดิร์นเข้ามาเลยกลายเป็นคอนเท็มโพรารี ไม่ได้คลาสสิคเสียทีเดียว แล้วดี้เป็นคนชอบเรื่องสีทีนี้ก็เลยเอาใหญ่เลยต้องมีพรมที่มีสีชอบลายมีสีแมตช์กัน” บ้านปลอดภัยนี้นอกจากให้ความอบอุ่นร่มรื่นแก่ผู้พักอาศัยแล้วยังดูสนุกสนานและชวนมองไปเสียทุกซอกมุม
“ถ้าถามว่าบ้านของดี้คือที่ไหนก็ต้องบอกว่าบ้านปลอดภัยและบ้านอัลบาม่าที่ลอนดอนค่ะ มันเป็นชีวิตเรียบง่ายธรรมดาแต่มีความสุขมาก เพราะอยู่กับลูกสองคน ได้ใช้ชีวิตแบบทำทุกอย่างที่เป็นตัวของเราเองจริงๆ
“ด้วยความที่ดี้ไม่ได้อยู่เมืองไทยมานานแล้ว อยากจะกลับมาอยู่บ้าน ซ่อมแซมบ้านทำบ้านให้ดี ทำกับข้าวให้ลูกและสามีกินแต่ก็ไม่ทิ้งงานทางนี้ เพราะเรายังมีลูกน้องอยู่ ก็ตั้งใจว่าจะเขียนแบบต่อไปโดยไม่มีหน้าร้าน แต่ถ้าใครอยากให้เราออกแบบให้เขาก็ติดต่อมาเอง ทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดีย คนรู้จักงานเราแล้วก็ติดตามและติดต่อกันได้ง่ายขึ้น อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ คนที่ติดต่อมารู้อยู่แล้วว่าสไตล์เราเป็นยังไง สามเดือนที่กลับมามีงานเข้าตลอดเลย”
“ถึงตอนนี้ที่ชีวิตเราผ่านอะไรมาพอสมควร ดี้คิดว่าอะไรๆก็ไม่เป็นเรื่องใหญ่โตในชีวิตอีกต่อไปแล้วค่ะ”
Cr.Photos : องค์อร ธูปอินทร์ , Makeup : ธัญญา ไรวิรัตน์
…………………………………………………………………………………………….
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ นิตยสารเฮลโล ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2560