ใครที่ชอบประวัติศาสตร์ นามสกุล ‘ชลวิจารณ์’ ของเขาอาจเป็นที่คุ้นหู เนื่องจากเป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่คุณปู่ทวดของเขาผู้เป็นมหาดเล็ก
ชายหนุ่มใบหน้าอ่อนกว่าวัยร่างสันทัดบนเวทีบัลเลต์โอเปราเรื่อง สุริโยไท เปล่งเสียงร้องแหลมสูงก้องกังวานไปทั่วทั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในบทของนักร้องต่างชาติสมัยอยุธยาตอนปลาย เสียงของเขาทะลุทะลวงจิตใจของผู้ฟังในคืนนั้นอย่างมหาศาล แม้จะปรากฏตัวบนเวทีเพียงไม่กี่ฉากก็สามารถสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม
เปิดโลกดนตรีที่อังกฤษ
ตั้งแต่รู้ความคุณจักรก็เข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา จนโตขึ้นจึงถูกส่งไปเรียนชั้นประถมที่อังกฤษ และได้ร่วมร้องในวง Cheam School Choir (วงนักร้องประสานเสียง) ของโรงเรียน แล้วไปเรียนมัธยมที่ Winchester College ซึ่งมีชื่อเสียงและศักดิ์ศรีพอๆกับ Eton College “เป็นโรงเรียนดีพอๆกันครับ ทั้ง Winchester และ Eton ซึ่งมี Choir เหมือนกัน เพลงที่เขาร้องจึงเป็นเพลงประสานเสียง และเป็นเพลงในสกุลคลาสสิกมาโดยตลอด
“ผมคงไม่สามารถเป็นนักร้อง ถ้าใช้เสียงพูดร้อง เพราะเคยร้องแล้วมีแต่คนบอกว่าไม่เพราะ พอเสียงแตก ครูที่ Winchester บอกว่าให้ลองร้องเสียง Falsetto หรือเสียงหลบดู ปรากฏว่ามันเพราะมากเหมือนเสียงระฆังโบสถ์ ก็เลยร้องเสียงนี้มาโดยตลอด”
เขาบอกเราว่าการร้องนำกับการร้องประสานเสียงมีความแตกต่างกันคือ “ร้องนำไม่เหมือนร้องประสานเสียง ร้องประสานเสียงต้องกลมกลืนไปกับวง แต่ร้องนำเสียงต้องดังทะลุทะลวง คนจะต้องได้ยินเสียงเราโดดเด่นจากเสียงดนตรี โดยไม่ต้องพึ่งไมโครโฟน ต้องเรียนรู้วิธีการหายใจ การใช้เสียง ใช้ resonant ในร่างกายเทคนิคต่างๆที่ทำให้เสียงกังวาน ผมเรียนร้องเพลงตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา”
เราจะไม่ได้ยินเขาร้องเพลงป๊อปเหมือนนักร้องคนอื่นๆ เพราะต้องการถนอมเสียงไว้ให้นานเท่านาน “เพื่อนบางคนร้องเพลงป๊อปแล้วเสียงพัง เส้นเสียงบวม หรือบางคนก็มีตุ่มในคอ เลยเตือนเราว่าอย่าร้องเลยถ้าไม่จำเป็น ผมจึงรับแต่งานคลาสสิกมาตลอด และจะรับแต่งานการกุศล หรืองานที่เป็นศิลปะ เพราะคุณพ่อคุณแม่บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องร้องเพลงเพื่อเงิน เราร้องเพลงเพื่อการศึกษา พุทธศาสนา ประเทศชาติ และศิลปะดีกว่า เรามีความสุขกว่า โดยไม่ต้องทำเป็นอาชีพ”
เมื่อเขาได้มาพบกับอาจารย์สมเถา นักแต่งโอเปราคนสำคัญของไทย จึงเปรียบได้กับคู่บุญ เพราะอาจารย์สมเถามอบบทตัวละครเอกในโอเปราที่เกี่ยวเนื่องกับทศชาติให้เขาเล่นมา 3 ชาติแล้ว “ผมได้เล่นเป็นพระโพธิสัตว์ เพราะเรามีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งคนที่ได้ฟังจะเห็นตรงกันว่าเป็นเสียงที่ไม่มีเพศ จึงเหมาะกับบทที่ได้รับมาก เพราะนอกจากเราจะมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เรายังมีความรู้ด้านศาสนาด้วย (ยิ้ม) อาจารย์จึงไว้วางใจให้เรารับบทนี้ ทำให้ผมมีความสุขมากที่ได้ตีความชาดก และตีความพระโพธิสัตว์
“ผมต้องทำการบ้านหนัก ต้องอ่านชาดกอยู่หลายรอบ แล้วมานั่งวิเคราะห์ว่าแต่ละชาติของท่านแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งแตกต่างกันมากราวฟ้ากับดิน ทั้งเรื่องนิสัยใจคอ หรือภารกิจ ชาติแรกของท่านคือพระเตมีย์ ส่วนชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดร ซึ่งแต่ละชาติเราจะเล่นเป็นมนุษย์มากก็ไม่ได้ เพราะท่านต้องเหนือกว่ามนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ เนื่องจากท่านยังไม่บรรลุ เราก็ต้องถ่ายทอดความแข็งแกร่ง และความอ่อนแอ ความเศร้าเสียใจ ความท้อแท้ ทรมานที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคด้วย”
นอกจากศาสนาแล้ว เขายังสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย “ตอนเล่นเรื่องสุริโยไท ผมอินมากเพราะชอบ และดูหนังเรื่องสุริโยไทมาแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้บทใหญ่อะไร แต่ก็รู้สึกเป็นเกียรติที่เราได้ทำอะไรให้ประเทศชาติ เรามีความสุขที่ได้เล่น ผมเข้าใจเลยว่างานของอาจารย์สมเถาทำให้เราได้มากกว่าการร้องเพลงปกติ เราทำให้คนรู้จักวีรกรรมของท่าน ไม่ใช่แค่ร้องรำทำเพลงเพื่อสร้างความบันเทิงให้คนดู แต่มันมากกว่านั้น เพราะมีทั้งศิลปะและวัฒนธรรม ผมจึงมีความสุขมากที่ได้ทำงานกับอาจารย์ และคิดว่าคงจะทำไปเรื่อยๆ แม้ตอนนี้จะไม่รู้ว่าถึงเมื่อไร แต่ผมจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นดาราโอเปร่าดังโกอินเตอร์ ถ้ามีโอกาสก็ทำ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เท่าไรก็เท่านั้น” สำหรับเรื่องการถ่ายทอดเทคนิคการร้องเพลงแก่เด็กรุ่นใหม่ เขาตอบอย่างถ่อมตัวว่า “ตอนนี้ผมคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะสอนใคร เพราะความรู้เรายังไม่ถึง อาจต้องรอให้ผมมีประสบการณ์มากกว่านี้หน่อย เพราะผมอาศัยความรู้ที่ได้จากหลายแห่งมาผสมกัน จึงไม่เหมือนคนที่เขาเรียนจบมาทางด้านนี้ซึ่งช่วยให้สามารถถ่ายทอดแบบเป็นขั้นเป็นตอนได้”
แม้ในวันนี้เขายังไม่อาจสอนใคร แต่ในอนาคตไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นเขาในบทบาทครูเพิ่มขึ้นมาอีกบทบาทหนึ่งนอกเหนือจากบทบาทนักร้องที่สะกดผู้ชมด้วยเสียงระฆังแก้วของเขา