ความทุ่มเทในการพัฒนาผ้าไหมไทยให้ไม่ถูกเลือนหายไปจากวิถีชีวิตคนไทย ตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก นับตั้งแต่วันที่ทรงมีพระราชดำริให้มีการส่งเสริมอาชีพและอนุรักษ์การทอผ้าไหม หัตถศิลป์อันวิจิตรของไทยไว้ ซึ่งปัจจุบันเหล่านักออกแบบไทยยุคใหม่ ได้นำผ้าไทยมาสร้างสรรค์เป็นแฟชั่นที่ใช้ได้จริงในทุกวันมากขึ้น เช่น ผลงานล่าสุดของ คุณจิรยง อนุมานราชธน ในฐานะครีเอทีฟไดเร็คเตอร์แห่งแบรนด์ ‘พญา’ (PHYA) ได้หยิบเอาผ้าไหมมัดหมี่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาผสมผสานเข้ากับผืนหนังวัวที่นำเข้าจากประเทศอิตาลี ถ่ายทอดเป็นกระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่นรุ่น ‘มาตา’ และ ‘นัดดา’อันได้รับความนิยมจากแฟชั่นนิสตาชาวไทยและต่างประเทศอย่างล้นหลาม
ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร-จิรยง อนุมานราชธน
เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและความเป็นมาของผ้าไหมศิลปาชีพ ภายในงาน ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร บุตรสาวของ ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร คุณข้าหลวงผู้ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มาร่วมพูดคุยย้อนถึงวันที่คุณแม่คอยเล่าเรื่องราวการทรงงาน ส่งเสริมงานหัตถศิลป์ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องราวประทับใจที่ตัวเองไม่ลืมเลือนได้
” ตั้งแต่จำความได้คุณแม่ (ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร) จะเล่าให้ฟังตลอดว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึงแม้พระองค์จะทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงรักความเป็นไทยมาก ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมไทยมาตั้งแต่ยังเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร แล้วหลังเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงออกแบบฉลองพระองค์ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง โดยทรงศึกษาจากพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง และทรงใช้ชื่อพระตำหนักต่างๆ ในวังมาตั้งเป็นชื่อฉลองพระองค์ที่ทรงออกแบบด้วย”
“ทุกครั้งเวลาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ พระองค์ทอดทอดพระเนตรเห็นว่าชาวบ้านแต่งตัวด้วยผ้าไหมที่ทอขึ้นเองอย่างสวยงามมาเฝ้าฯ รอรับเสด็จ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมและอนุรักษ์การทอผ้าไทยของแต่ละชุมชนเอาไว้ จึงเป็นที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และมีการสืบสานศิลปะการทอผ้าไทยมาจนถึงทุกวันนี้”
หลังฟังเรื่องราวชื่นใจแม่ลูกคู่ซี้อย่าง คุณบุศรา และลูกสาวคนสวย คุณผึ้ง-มธุนาฏ ซอโสตถิกุล เล่าเรื่องราวด้วยความที่ลูกสาวโตมาในรั้วโรงเรียนจิตรลดา ซึ่งจะคุ้นชินกับความเป็นไทยอยู่แล้ว และเวลาคุณแม่ไปรับไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนจะพาแวะร้านจิตรลดา เลือกซื้อสินค้าหัตถศิลป์มาใช้ตลอด โดยเฉพาะผ้าไทย
“จริงๆ ผึ้งเห็นคุณแม่ใส่ชุดผ้าไหมไทยมาตั้งแต่ผึ้งยังเด็กๆ จนตอนนี้ก็ยังเห็นคุณแม่ใส่ชุดผ้าไหมไปทำงานทุกๆ วันอังคาร เพราะที่ออฟฟิศของคุณแม่ (การบินไทย) ส่งเสริมให้พนักงานสวมใส่ชุดไทย หรือแม้กระทั่งโอกาสพิเศษต่างๆ คุณแม่ก็จะเลือกสวมใส่ชุดไทยออกงานตลอด จนทำให้เราซึมซับเวลาเข้าวัดทำบุญ ผึ้งก็จะหยิบผ้าซิ่นผ้าไหมมานุ่ง นอกจากจะสุภาพเรียบร้อยแล้ว ยังมีความสวยงามไม่แพ้ใคร อีกอย่างชุดผ้าไทยหรือผ้าฝ้ายสามารถสวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดีกว่าผ้าใยสังเคราะห์อีกด้วย”