‘คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล’ ผู้อยู่เบื้องหลังความเป็นเลิศในศาสตร์แห่งดนตรีระดับ Top 100 ของโลก
หากกล่าวถึงวิทยาลัยดนตรีที่ใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย คงต้องยกให้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาด้านดนตรีอันดับต้น ซึ่งเป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนทั้งด้านดนตรีไทยและดนตรีสากล และเปิดสอนวิชาดนตรีตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมดนตรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก
กว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ผลิตบุคลากรสำคัญในแวดวงดนตรีมาแล้วมากมาย ทั้งยังสร้างชื่อเสียงและได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานหลักสูตรจาก MusiQuE ซึ่งเป็นมาตรฐานทัดเทียมสถาบันดนตรีชั้นนำระดับโลกอีกด้วย กล่าวได้ว่าความสำเร็จที่ผ่านมาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้นประกอบด้วยปัจจัยที่ทรงพลังมากมาย โดยเฉพาะบุคลากรที่ทุ่มเทและ
ผู้สนับสนุนที่อยู่เบื้องหลัง เปรียบได้ดั่งตัวโน้ตสำคัญที่ร้อยเรียงเป็นบทเพลงอันไพเราะ ทำงานสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว

ปฐมบทแห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
โน้ตสำคัญตัวแรกของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2530 ในสมัยท่านอธิการบดี ศ. นพ.ณัฐ ภมรประวัติ เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งหวังที่จะสร้างนักศึกษาให้เป็นคนที่สมบูรณ์ และมีความเข้าใจถึงศิลปะและดนตรี นอกเหนือไปจากการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบกับภายในมหาวิทยาลัยมีอาจารย์หมอที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงทางด้านดนตรีมากมาย เช่น ศ. นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ และศ. นพ.พูนพิศ อมาตยกุล เป็นต้น จึงได้มอบหมายให้รศ. ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาวิชาการดนตรี เริ่มต้นสอนวิชาดนตรีเป็นวิชาเลือกให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี
ท่วงทำนองของวิชาการดนตรีในมหาวิทยาลัยมหิดลเกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2532 มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวัฒนธรรมดนตรี โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นหลักสูตรบัณฑิตศึกษาดนตรีแรกของประเทศไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2536 ในสมัยศ. นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี เป็นอธิการบดี ได้มีโครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ขึ้น จน พ.ศ. 2539 สมัย ศ. นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นอธิการบดี ได้ปรับโครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ให้เป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ที่มีฐานะเทียบเท่ากับคณะ ในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงเวลานั้น วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ทั้งเริ่มเปิดสอนดนตรีในหลากหลายสาขาวิชา มีการสอนดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงการเพิ่มหลักสูตรตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมดนตรี ไปจนถึงระดับปริญญาเอกในปัจจุบัน

“แต่ละก้าวของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายในการสร้างสถาบันดนตรีที่มีคุณภาพสูงเช่นนี้ขึ้นมาในประเทศไทย หากไม่ใช่ความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล ความทุ่มเทในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน ก็จะไม่สามารถเกิดวิทยาลัยที่เพียบพร้อมเช่นนี้ได้” ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
เส้นทางสู่นักดนตรีมืออาชีพ
การศึกษาในศาสตร์แห่งดนตรีจะสมบูรณ์ไปไม่ได้หากขาดพื้นที่ในการแสดงความสามารถ เช่นเดียวกับการต่อยอดสู่อาชีพที่รักและได้รับการยอมรับในระดับมืออาชีพ ผู้ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกและปลุกปั้นวิทยาลัยดุริยางศิลป์มาแต่เริ่มแรกคือรศ. ดร.สุกรี เจริญสุข ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 20 ปี ในการสร้างความเป็นเลิศให้กับสถาบันจนมีชื่อเสียงในระดับสากล นอกจากนี้หนึ่งในความภาคภูมิใจของสถาบัน คือการก่อตั้งวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย หรือที่ทุกคนรู้จักในนาม Thailand Philharmonic Orchestra ซึ่งนับเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลอย่างยิ่งในการยกระดับการยอมรับของวงการดนตรีในระดับนานาชาติ ทั้งเป็นตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็น Career Path ของนักดนตรีคลาสสิก “Thailand Philharmonic Orchestra เป็นวงออร์เคสตร้าอาชีพที่ไม่แตกต่างจากวงอาชีพในต่างประเทศ ถือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการเรียนการสอนทางดนตรีผ่านการเรียนรู้จากการลงมือทำ ซึ่งนับเป็นรูปแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ไม่ต่างจากโรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการทดลองสำหรับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์” ดร.ณรงค์ กล่าวเสริม
ผู้สนับสนุนในความสำเร็จ
ไม่เพียงแต่บุคลากรในแวดวงวิชาการ ที่ช่วยพัฒนาให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก้าวไปได้ไกลสมดังเป้าหมาย ยังมีสองบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ ‘ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล’ ท่านทั้งสองให้การสนับสนุนสถาบันนับจากเริ่มต้น ทั้งด้านทุนทรัพย์ และให้คำปรึกษาแนะนำด้านนโยบายมาตลอด ปัจจุบันคุณหญิงปัทมายังดำรงตำแหน่งประธานวง Thailand Philharmonic Orchestra ผู้มีวิสัยทัศน์แต่เริ่มแรกว่า การเติบโตของวงการดนตรีจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย ดังนั้นการส่งเสริมให้วง Thailand Philharmonic Orchestra มีความมั่นคง จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้และเสริมความเข้มแข็งให้กับประเทศ “ในขณะนี้ทั้งคุณหญิงปัทมา และ ดร.สมศักดิ์ ได้มุ่งที่จะช่วยพัฒนาให้วง Thailand Philharmonic Orchestra มีบทบาทหน้าที่หลักสองเรื่องสำคัญคือ Education และ Social Development ซึ่งเป็นการสร้างงานศิลปะเพื่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง โดยนำการแสดงที่ดีให้มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม และสร้างการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องดนตรีเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น การจัดคอนเสิร์ตวันคริสต์มาส หรือการแสดงที่ได้รับความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น การแสดง Harry Potter in Concert ที่วงดนตรีร่วมมือกับ Universal Studios ซึ่งนับเป็นการสร้างความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด” ท่านคณบดีกล่าว
บรรยากาศแห่งการเรียนรู้
นอกจากจะเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ยังให้ความสำคัญกับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ความร่มรื่นและสวยงามของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา นั้นติดอันดับ Top 100 The World’s Most Environmental-friendly Campuses and The Most Eco-friendly Campus มาถึง 5 ปีซ้อน ในขณะที่หอประชุมมหิดลสิทธาคารนับเป็นคอนเสิร์ตฮอลล์ ซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ภายในรองรับผู้ชมได้ถึง 2,016 ที่นั่ง นอกจากความสวยงามในการออกแบบ ยังให้เสียงที่ดีเยี่ยมในระดับต้นๆ ของเอเชีย ไม่ว่านั่งในตำแหน่งที่นั่งไหนก็จะได้ยินเสียงที่ไพเราะเหมือนกันหมดทุกที่นั่ง
ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เริ่มมาจากความคิดริเริ่มของท่านอดีตอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ โดยได้รับงบประมาณในการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งต่อมาในสมัยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รับตำแหน่งอธิการบดี จึงได้มีการเซ็นสัญญาก่อสร้าง และได้แล้วเสร็จในสมัยศ. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นอธิการบดีใน พ.ศ. 2557 จากนั้นยังได้มีการก่อสร้างลานจอดรถ 1,000 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการมาชมการแสดงที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร ในสมัยศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร และได้เสร็จสิ้นในสมัย ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ เป็นอธิการบดี
การทำงานที่ทุ่มเทอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ในทุกยุคสมัย ก็เพื่อที่จะทำให้หอประชุมมหิดลสิทธาคาร เป็นดั่งไอคอนให้กับประเทศ เช่นเดียวกับที่ออสเตรเลียมี Sydney Opera House หรือที่สหรัฐอเมริกามี Carnegie Hall นั่นเอง

ก้าวต่อไปในมุมมองคณบดี
3 ทศวรรษแห่งการพัฒนาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์คือรากฐานอันมั่นคงของสถาบัน ปัจจุบันผู้ที่รับหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนและสานต่อภารกิจหลักคือ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีระดับโลก และเคยทำงานเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกในประเทศสหรัฐอเมริกามานานกว่า 17 ปี ได้รับการยอมรับในฝีมือและได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย เช่นจาก Guggenheim Foundation ล่าสุดยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Charles Ives Fellowship จาก American Academy of Arts and Letters “การกลับมาทำงานที่ประเทศไทย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ซึ่งจะไม่มีทางสำเร็จได้เลยถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะท่าน อธิการบดีบรรจง มไหสวริยะ ที่ให้การสนับสนุนตลอดมา” ดร.ณรงค์กล่าว

วันนี้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันดนตรีแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานสถาบันดนตรีในยุโรป (MusiQuE) ซึ่งเป็นมาตรฐานทัดเทียมสถาบันดนตรีชั้นนำระดับโลก “ปีนี้เรากำลังจะเข้ารับการประเมินในระดับปริญญาเอก ถ้าผ่านการรับรองในครั้งนี้ เราจะเป็นสถาบันแรกที่ได้รับการรับรองครบทุกหลักสูตรในภูมิภาคเอเชีย นอกเหนือจากด้านการศึกษาแล้ว วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ยังติดอันดับ Top 100 ครั้งแรก จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject 2021 ในสาขา Performing Arts ซึ่งเป็นการได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับนานาชาติ ทางวิทยาลัยได้ตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องได้อันดับ Top 50 ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ในด้านการพัฒนาสังคม วิทยาลัยเป็นองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนโครงการ Creative City of Music เพื่อเข้าการรับรองจากองค์กร UNESCO โดยมุ่งหวังว่าดนตรีจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมไทย เมื่อสังคมมีความสุข ความเหลื่อมล้ำจะน้อยลง เพราะทุกคนอยู่กันอย่างมีความสุข สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะช่วยดูแลสุขภาวะของคนในประเทศไทยทั้งทางกายและทางใจ”