เป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งทั้งในแนวคิดและการปฏิบัติที่แม้คุณคิด-คณชัย เบญจรงคกุล จะมีความถนัดในการเป็นช่างภาพสายแฟชั่น แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการต่างๆได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด และล่าสุดกับการได้มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ด้วยความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ทำให้คุณคิดคือคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘Stand with Refugees’ ซึ่งได้จัดพิธีมอบรางวัลในงาน Gala Charity Dinner เมื่อคืนวันที่ 16 ที่ผ่านมา ณ ศาลาริมน้ำ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
ซึ่งคุณคิด ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานนี้ให้เราฟังว่า
“จริงๆจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปลายปีที่แล้วได้รับการชักชวนจากโปรเจ็กต์ของท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งท่านได้ชวนศิลปินและช่างภาพ ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อมาทำงานศิลปะและหารายได้ให้กับทาง UNHCR พอโปรเจ็กต์นั้นจบไปเราก็ได้รับการติดต่อมาจาก UNHCR อีกว่าอยากจะทำนิทรรศการภาพถ่ายร่วมกัน ซึ่งเราก็ตอบตกลงเพราะเราอยากจะเข้าไปเยี่ยมค่ายอื่นๆของ UNHCR ในเมืองไทยอยู่แล้ว จึงกลายมาเป็นนิทรรศการซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของความรักภายในค่าย มากกว่าที่จะแสดงถึงความหดหู่ เพราะเรารู้ว่าเวลาเราอ่านหรือเราเจออะไรแบบนี้ก็รู้สึกสะเทือนใจแต่เราอยากให้สะเทือนใจด้วยความรักและภาพที่สวยงามมากกว่า”
การทำงานภายในค่าย


“ภายในสี่ห้าเดือนที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมค่ายมาแล้วสามถึงสี่ค่าย มีที่แม่ฮ่องสอนสองค่ายและที่จังหวัดตาก ซึ่งการไปถ่ายภาพมาทำนิทรรศการเราไปที่ค่ายแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นค่ายที่สวย มีภูเขา มีลำธาร ไปถึงคืออยากถ่ายรูปเลยเพราะว่าวิวสวยมาก และเรามีเวลาแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้นเพราะจากแม่ฮ่องสอนกว่าจะเดินทางไปที่ค่ายก็ใช้เวลาสามชั่วโมงแล้วและเราต้องขึ้นเครื่องกลับตอนเย็น แต่ต้องบอกว่าแต่สิ่งที่ท้าทายกว่าในการทำงานครั้งนี้คือผู้ลี้ภัยเขาไม่ใช่นายแบบนางแบบ ก็จะมีความเกร็งเวลาที่จะต้องโดนกำกับบ้าง บางคู่เราก็มีบิ้วท์ให้หอมแก้มกันเพราะเรารู้สึกว่าเคมีเขาได้และอยากจะสื่อถึงความน่ารักของเขาออกมา”
ความประทับใจ

“ตอนถ่ายภาพมีคู่หนึ่งเป็นคู่คุณยายกับหลานสาว เราก็พยายามให้หลายสาวเขายิ้มเยอะๆหน่อย เราก็ถามว่าทำไมเขายิ้มน้อยจัง ซึ่งคุณยายก็พูดเป็นภาษาของเขาแล้วล่ามก็แปลให้เราฟังว่า นี่คือยิ้มแบบมีความสุขที่ของหลานแล้ว พอเราฟังเราก็นิ่งไปสักแป๊ปหนึ่งเหมือนกัน คือทำทำให้เรารู้ว่าเราไม่รู้ความเป็นมาของแต่ละคนจริงๆว่าเขาผ่านอะไรมาในชีวิตบ้าง มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เราสามารถจะสื่อออกมาได้ และก็มีอีกภาพหนึ่งที่มีสามีภรรยากับลูกถือแหวนวงหนึ่งไว้ ซึ่งความจริงแล้วแหวนนั้นเป็นแหวนของภรรยาเก่าแต่มีเหตุทำให้ต้องย้ายออกไป เขาเลยไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังส่งเงินมาเลี้ยงดูสามีภรรยาใหม่และลูกของตัวเองอยู่ เหตุการณ์นี้มันเหมือนกับเป็นเรื่องราวความรักอันซับซ้อนที่เราเข้าถึงยากจริงๆ แต่เขาต้องทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของลูกและสามีเขา”
ความรู้สึกแห่งความภาคภูมิใจ


“ตอนแรกเขาจะเกร็งๆว่าเราจะมาทำอะไรกับเขา แต่พอเห็นรูปแล้วทุกคนก็แฮปปี้ มีคุณพ่อคนหนึ่ง เห็นรูปปุ๊ปเขาบอกให้เรารอแป๊ปหนึ่งได้ไหมเดี๋ยวขอกลับไปเอาลูกชายซึ่งพิการมาถ่ายด้วย ซึ่งรูปที่เราถ่ายนี้เราก็จัดส่งรูปทุกอัดกลับไปให้เขาด้วยเพราะเชื่อว่าเขาไม่มีรูปคู่หรือรูปครอบครัว แหละสิ่งนี้จะช่วยให้เขามีรอยยิ้มมากขึ้น”


“การมาครั้งนี้มันทำให้เราได้เห็นว่าเราโชคดีแค่ไหนที่เรามีสิ่งเหล่านี้ และการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเงินอย่างเดียว เราสามารถลงแรงหรือสามารถช่วยด้วยใจ อย่างนิทรรศการครั้งนี้ก็หวังว่าคนที่ดูแล้วจะเข้าใจผู้ลี้ภัยมากขึ้น อย่างน้อยก็รู้จักว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ในบ้านเรา และยังต้องการความช่วยเหลืออยู่”

ผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการภาพถ่าย “รักไร้พรมแดน” ซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 18 มิถุนายน 2560 ที่ ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน
.
…………………………………………………………………
Kit Benjarongkul ‘s instagram