งานสิ้นค้าจากชุมชนและธรรมชาติสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้ 2 ต่อ ทั้งด้านความปลอดภัยกับร่างกาย และคุณประโยชน์ที่มากล้น จนปฏิเสธไม่ได้เมื่อ มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และภาคี ร่วมมือกันจัดงาน “โครงการหลวง 48” หนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่รวมสุดยอดผลิตภัณฑ์จากผลผลิตโครงการหลวงมากกว่า 3,000 รายการ มาจำหน่ายเต็มพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นประจำทุกปี
สำหรับครั้งนี้ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมด้วยคณะผู้จัดงาน ได้แก่ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง, คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และ คุณหญิงสุจิตรา จิราธิวัฒน์ มงคลกิติ รองประธานกรรมการบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้มาร่วมบอกเล่าถึงวัตถุประสงค์และรายละเอียดงาน พร้อมนำตัวอย่างสินค้าไฮไลท์มาให้ชื่นชมลิ้มลองกันก่อนอย่างจุใจเป็นครั้งแรกกว่า 9 ชนิด อาทิ

คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

คุณขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ครีเอทเมนูอาหารจากโครงการหลวง
– ข้าวพื้นที่สูง 2 สายพันธุ์ท้องถิ่นของชุมชนบนพื้นที่สูง ที่ถือว่าเป็นแหล่งความหลากหลายของพันธุกรรมข้าว ซึ่งข้าวที่บริโภคเป็นอาหารหลักส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้คัดเลือกโดยเกษตรกรรุ่นต่อรุ่น และยังรักษาพันธุ์ข้าวนั้นๆ เพื่อบริโภคจนกระทั่งปัจจุบัน มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเหลือง หรือ “บือบอ” เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าของชนเผ่าปกาเกอะญอ และ ละว้า มีลักษณะเมล็ดเรียวสั้น เปลือกข้าวมีสีฟางเข้ม ข้าวมีกลิ่นหอม นิ่มหุงขึ้นหม้อ ในข้าวมีสารแกมม่าโอไรซานอล ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL-C) ลดน้ำตาลในเลือด อุดมด้วยธาตุโพแทสเซียม ช่วยควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย ลดความดันโลหิต และมีธาตุเหล็ก ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง อีกทั้งมีธาตุสังกะสีสูง เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
– ข้าวไก่ป่า หรือ “บือชอมี” พันธุ์ข้าวเจ้าของชนเผ่าปกาเกอะญอ ปลูกสภาพนา ในฤดูนาปีละครั้ง เมล็ดข้าวยาวเรียวคล้ายข้าวหอมมะลิ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย ไม่ให้เสื่อมก่อนวัยอันควร มีโพแทสเซียมทำงานร่วมกับโซเดียมในการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย และช่วยให้หัวใจเต้นเป็นปกติ มีวิตามินบี 1 ช่วยบำรุงประสาท รักษาอาการโรคเหน็บชา
– ปลาสเตอร์เจียนรมควันโครงการหลวง ปี พ.ศ.2550 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อซื้อไข่ปลาจำนวน 1 กิโลกรัม จากประเทศรัสเซีย โดยกรมประมงได้นำไข่มาฟักที่โรงเพาะฟักบนดอยอินทนนท์และได้ลูกปลามาจำนวนประมาณ 9,000 ตัว จากนั้นได้ทดลองเลี้ยงตามที่ต่างๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2551 มูลนิธิโครงการหลวงได้ศึกษาประสิทธิภาพการสร้างไข่ของปลาสเตอร์เจียน ในหัวข้อเรื่อง “ผลของอาหารต่อการพัฒนาไข่ของปลาสเตอร์เจียนที่ดอยอินทนนท์” และเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้ปลาสเตอร์เจียนรมควันโครงการหลวง มีกลิ่นหอม เนื้อสีทอง รสชาติอร่อย อุดมไปด้วยโปรตีน โอเมก้า 3 คอลลาเจน และสารต้านอนุมูลอิสระ นิยมนำไปทำเมนูสลัด เมี่ยงปลาสเตอร์เจียน หรือนำไปอุ่นและทานได้เลย
– ปลาเรนโบว์เทราต์ (Rainbow trout) ปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในลำธารตามธรรมชาติของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งปัจจุบันหน่วยวิจัยประมงพื้นที่สูงอินทนนท์สามารถเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลาชนิดนี้ได้จนถึงวัยเจริญพันธุ์ โดยจะสามารถเพาะพันธุ์ได้เมื่อพ่อพันธ์-แม่พันธุ์อายุได้ 2 ปี ปลาเทราต์วางไข่ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างธันวาคม-มกราคม และเจริญเติบโตถึงขนาดน้ำหนักตลาด 300 กรัม เมื่อมีอายุได้ 8-10 เดือน ปลาเรนโบว์เทราต์ มีรสชาติดี อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีปริมาณกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว โอเมก้า 3 สูง ซึ่งสารนี้จะสามารถลดปริมาณคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือด และประจุอิสระในกระแสโลหิตได้
– ฟิก หรือมะเดื่อฝรั่ง ผลไม้เพื่อสุขภาพ นิยมรับประทานแบบผลสด ทานได้ทั้งผล รสชาติหวาน กลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อละเอียด นำไปประกอบอาหารได้ทั้งเมนูคาวและหวาน มีสรรพคุณ ได้แก่ ไฟเบอร์สูง, แคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน, มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา, พลังงานสูงจากคาร์โบไฮเดรต แต่ปราศจากไขมันและคอเลสเตอรอลหรือโซเดียม จึงไม่มีปัญหากับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคตับ


– นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปตราโครงการหลวง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลินจือผสมน้ำมันรำข้าว ชนิดแคปซูล และ กาแฟผสมเห็ดหลินจือแดง ผลิตจากกาแฟอราบิก้าโครงการหลวงคุณภาพสูง ที่ผ่านการคั่วบดอย่างพิถีพิถัน รสละมุนและมีกลิ่นหอมกรุ่น มีทั้งเมล็ดกาแฟคั่ว และกาแฟคั่วบด ผสมผสานกับเห็ดหลินจือแดงโครงการหลวง เพื่อให้ได้กาแฟผสมเห็ดหลินจือที่มีคุณภาพ และรสชาติดี
– ชาขาว เป็นชาที่ได้จากใบตูมที่อยู่ยอดสุดของชาอัสสัม ซึ่งเหมาะสมที่สุดในการนำมาทำเป็นชาขาว จะได้น้ำชาขาวที่มีสีทองอ่อนๆ รสชาตินุ่มนวลกลมกล่อมแบบธรรมชาติ ปลูกในพื้นที่ป่าในแถบหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น โดยในปีที่ผ่านมาได้รับรางวัลเหรียญเงิน World Tea Union 2016 ที่จัดโดยสมาคมชาโลก เมืองชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
– แป้งบัควีท (Buckwheat) ปราศจากกลูเต็น (Gluten Free) ทางเลือกของผู้ที่รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เหมาะสำหรับคนที่แพ้กลูเต็น มีเนื้อสัมผัสที่ละเอียด เมื่อทำอาหารออกมาแล้วจะได้เนื้อแป้งสีนวลสวย มีกลิ่นหอม สามารถทดแทนการใช้แป้งชนิดอื่นในการประกอบอาหารได้

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงรับสั่งถึงการจัดงาน “โครงการหลวง 48” ว่านับตั้งแต่ปี 2512 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ริเริ่ม “โครงการหลวง” เพื่อพัฒนาด้านเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย การแผ้วถางป่า และการปลูกพืชเสพติดของชาวเขา ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการหลวงทำการศึกษาวิจัยการปลูกพืชเมืองหนาว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ทุกปีทางมูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดงาน “โครงการหลวง” เพื่อแสดงผลงานความก้าวหน้าทางวิจัยและพัฒนา และเป็นการเผยแพร่ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ และหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ที่ได้เข้ามาสนองงานในมูลนิธิโครงการหลวง

งานโครงการหลวง 48 จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 – 14 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ยกคุณค่าจากยอดดอย สู่ใจกลางกรุง” นอกจากอาหารคุณภาพแปลกใหม่ ยังมีกิจกรรมเพลิดเพลินตลอดการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมสาธิตการประกอบอาหาร ที่ได้รับความร่วมมือจากบรรดาเชฟจิตอาสา, พิธีกรจิตอาสา, แขกรับเชิญจิตอาสา, ช่างภาพจิตอาสา ซึ่งทั้งหมดนี้จะร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ เรื่องราวของวัตถุดิบโครงการหลวง นำมาพัฒนาเป็นสูตรอาหารตามทักษะและความถนัดของเชฟแต่ละท่าน เพื่อสร้างสีสันให้เวทีดูน่าสนใจ, การแสดงจากชมรมนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เช่น นาฏศิลป์ไทย, วงซิมโฟนีออร์เคสตรา, สาธิตการจัดดอกไม้, ชมรมเชียร์และแปรอักษร, เดินแบบผ้าไทย, ดนตรีอะคูสติก, วง KU Band เป็นต้น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดทั้งวัน

พิมพ์พยัพ ศรีกาญจนา
…………………………..