ตลอดชีวิตของคุณโต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายคนเดียวของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เป็นที่รับรู้ในฐานะนักวิชาการ อาจารย์และนักการเมืองผู้ไม่หยุดเผชิญหน้ากับมรสุมทั้งในแวดวงการเมือง วงการอนุรักษ์ธรรมชาติ สังเวียนการค้ามนุษย์ แม้กระทั่งสงครามกับโรคมะเร็ง และเขาได้เปิดหัวใจในการสู้มะเร็งกับ HELLO! เป็นครั้งแรก !
ไกรศักดิ์ – สิริจรรยา ชุณหะวัณ
“ผมเล่นกีตาร์ทุกวัน ทั้งร้องทั้งเล่น” คุณโต้งพูดพลางดีดกีตาร์และร้องเพลงเบาๆออกมาหนึ่งท่อน ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงบ่งบอกว่ามีความเป็นมืออาชีพเอามากๆ เลยถามว่าลูกสาวทั้งสองคนได้ยีนนี้มาจากคุณพ่อหรือไม่
คุณขวัญ-สิริจรรยา ชุณหะวัณ ลูกสาวคนเล็ก รีบบอกว่า “หนูกับพี่แก้วเล่นเป็นทุกอย่างเลยแต่ไม่ดีสักอย่าง ที่บ้านเราเสียงกีตาร์จะดังตลอดเวลาเพราะพ่อเล่นกีตาร์ถึงเช้า บางทีตีสี่ตีห้าก็ไม่หยุด เขาเป็นคนที่รักกีตาร์มากถ้าเอาขึ้นไปนอนกอดด้วยได้คงทำแล้ว พ่อเขาเท่นะคะเวลาเล่นกีตาร์”
“ลูกพูดอย่างนี้พ่ออายนะ” คุณโต้งมีท่าทีเขิน “แต่เดี๋ยวนี้เสียงผมไม่ค่อยดี เพราะว่าผมเริ่มป่วย…” เขาพูดถึงมะเร็งอย่างเรียบเฉย อย่างคนที่สงบศึกกับโรคร้ายนี้ได้แล้ว
“ผมปราศรัยเยอะมากเรื่องการสร้างทางด่วนริมแม่น้ำที่จะไปคุกคามพื้นที่ของประชาชน เพราะมันจะสูงกว่าบ้านประชาชนเกือบ 3-4 เมตร แล้วเขาจะอยู่อย่างไร เส้นน้ำลำธารจะไหลอย่างไร เรื่องนี้ผมสู้สุดๆ เลย เวลาปราศรัยผมใช้น้ำเสียงโกรธเกรี้ยวและเกลียดชังด้วยในบางที เลยเป็นการใช้เสียงมากกว่าปกติ หรือบางทีผมลงไปกระบี่นานเป็นเดือนๆ ปราศรัยโดยไม่ใช้ไมโครโฟนเกือบทุกวันเรื่องถ่านหินว่าทำไมเยอรมันจึงเลิกใช้ไปแล้วและพลังงานสกปรกจะทำร้ายชีวิตคนอย่างไรบ้าง
ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
“ทีนี้ผมก็เลยเจ็บคอจนเป็นแผลครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน โดยเริ่มจากมะเร็งที่ทอนซิล แล้วก็ต่อมน้ำเหลือง ผมฉายแสงทั้งหมด 36 ครั้ง ภายในเวลาห่างกันราวๆ 3 อาทิตย์ จนเนื้อที่คอไหม้หมดเลย พูดไม่ได้กินไม่ได้อยู่ 3 เดือน ต้องให้อาหารทางเส้นเลือด หมอบอกว่าผมเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น แต่โอกาสหายยังมีและนั่นคือความหวัง ทว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามะเร็งเป็นตรงนี้ เดี๋ยวมันก็ไปโผล่ตรงโน้น พอเป็นมะเร็งครั้งที่สองอันตรายกว่าเดิมอีก เพราะอยู่ใกล้จุดเดิมที่เคยเป็นมาก ถ้าฉายแสงก็เหมือนต้องทำในบริเวณเดิมอีก คุณหมอพยายามจะใช้ยาใหม่ๆ ที่เรียกว่า Immunotherapy หลอดละแสนเจ็ด ฉีดไปสองครั้ง กระเป๋าฉีกเลย เป็นยาที่จะบำรุงให้เซลล์ดีขึ้นมาสู้กับเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีการตรงกันข้ามกับการรักษาด้วยคีโม เพราะยาจะไม่ฆ่าเซลล์ดีในร่างกาย
“ห้องที่ผมไปหาหมอที่ศิริราชเป็นห้องที่แน่นที่สุด แสดงว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งมากกว่าโรคอื่นๆ ผมเพิ่งมารู้ว่าเกือบทุกอย่างในชีวิตเราเต็มไปด้วยสารที่จะสร้างมะเร็งในวิถีชีวิตของเราตั้งแต่ออกจากบ้าน ดมควันที่หนาแน่นที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งระดับมลพิษอาจจะสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ได้ ไปจนถึงอาหารทุกอย่างที่เรากินมาจากการผลิตโดย GMO เกือบทั้งหมด ในเมื่ออาหารเองก็เต็มไปด้วยสารเคมีอยู่แล้วและยังเป็น GMO อีก เราจะหลีกเลี่ยงอย่างไร มีกระแสออร์แกนิกมาต่อสู้แต่ก็ยากมาก โดยเฉพาะในเรื่องธุรกิจ ผมเสียดายชีวิตเหมือนกันนะ เราสู้เรื่องพวกนี้มา ทำไมต้องมาเป็นมะเร็งด้วย”
ธิษะณา – ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
เราถามคุณโต้งถึงความรู้สึกที่น่าจะทุกข์ทรมานเหลือแสนจากโรคร้ายอย่างมะเร็งแต่กลับได้คำตอบว่า
“ผมไม่กลัวความตายและมองความตายเป็นธรรมชาติ ผมบริจาคร่างกายไว้ หากว่าตาย โรงพยาบาลจะเอาร่างไปเลย ไม่ต้องมีงานศพ ไม่ต้องยุ่งยากอะไร ที่กลัวคือเรื่องเงินทองและลูกๆ จะอยู่จะดูแลกันอย่างไร ไม่ใช่ง่ายๆ นะ บ้านพื้นที่ใหญ่โตมโหฬาร ลูกๆ ก็รักบ้านหลังนี้มากเพราะโตมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าดูแลยากมาก ตอนนี้ผมเลยเริ่มต้นสอนให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ว่าจะบริหารจัดการบ้านกันอย่างไร พยายามจะบอกลูกว่าพ่อจะไปเร็วๆ นี้ ชีวิตมันมาแล้วมันก็ไปนะลูก ทุกคนต้องตาย ฉะนั้นอย่าไปเศร้าโศก”

สิริจรรยา – ไกรศักดิ์ – ธิษะณา ชุณหะวัณ
ด้านลูกสาวทั้งสองทั้งคุณแก้วตา-ธิษะณา ชุณหะวัณ ลูกสาวคนโต และคุณขวัญ-สิริจรรยา ชุณหะวัณ กล่าวถึงความรู้สึกถึงการที่คุณพ่อต้องเผชิญกับโรคมะเร็งว่า
“หนูไม่ชอบอะไรซึ้งๆ แบบเดินไปกอดแล้วบอกว่ารักพ่อนะ พ่อต้องแข็งแรงนะ ไม่มีค่ะ หนูทำตัวปกติแต่จะใช้เวลาอยู่กับเขาให้มากที่สุด ทำให้เขารู้สึกว่าเราแคร์ หายา หาอาหารสุขภาพ ทำนู่นทำนี่ให้ แต่จะไม่ไปกอดเขาเหมือนจะลาจาก ทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีกำลังใจ ก็เลยพยายามจะยิ้มให้ท่านบ่อยๆแล้วบอกว่าพ่อไม่เป็นไรหรอก แต่ตอนที่รู้ว่าพ่อกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง ตอนนั้นหนูลงจากเครื่องแล้วอยู่ในสนามบิน พ่อโทรมาบอกว่าหมอฉายแสงซ้ำที่เดิมไม่ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวแย่ หนูไม่รู้จะพูดอะไรต่อได้แต่ร้องไห้ ในใจคิดว่าถ้าเป็นแทนได้ก็อยากเป็นแทนท่าน” คุณแก้วตากล่าว
ส่วนคุณขวัญ ลูกสาวคนเล็กของบ้านก็เสริมว่า
“ตอนที่รู้ว่าพ่อเป็นมะเร็ง หนูจิตตกมาก ร้องไห้ ใจเราไม่เอาแล้ว ไม่อยากกลับไปรู้สึกเหมือนปีก่อนหน้านั้นที่เขาเป็นมะเร็งครั้งแรก แต่หนูเป็นคนขี้อายกับการแสดงออก อาศัยว่าคอยซื้อขนมมาให้แบบเต็มตู้เย็น แต่ว่าใจสื่อถึงกันได้ ส่วนใหญ่หนูจะค้นหาข้อมูลว่าควรหรือไม่ควรกินอะไร แต่พ่อก็ดื้อมาก อาหารบำรุงและอาหารเพื่อสุขภาพพ่อเชื่อและยอมกิน แต่ถ้าหาอาหารเสริมมาให้จะไม่ยอมกินเลย” ลูกสาวคนเล็กฟ้อง คนเป็นพ่อได้แต่แก้ตัวด้วยเสียงนุ่มและอ่อนโยนว่า “มันกลืนลำบาก ลูกเอ๋ย” แล้วดึงตัวลูกมาหอมที่ศีรษะอย่างรักใคร่
…“ผมบอกลูกว่า ชีวิตมันมาแล้วมันก็ไป ฉะนั้นอย่าไปเศร้าโศก”…
………………………………………………..

ติดตามเรื่องราวฉบับเต็มได้ใน HELLO! ปีที่ 12 ฉบับที่ 21 วางแผงแล้ววันนี้
หรือติดตามฉบับดิจิตอลได้ทาง