Home > Celebrity > Celebrity News > ‘รุจิราภรณ์ หวั่งหลี’ เนรมิต ‘ล้ง 1919’ ย้อนความทรงจำยุคทองการค้า ไทย-จีน

หากใครได้เคยล่องเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาชมความสวยงาม ริม 2 ฝั่งคลอง ต้องเคยสังเกตเห็นพื้นที่อันเก่าแก่ของตระกูล “บ้านหวั่งหลี” อยู่เป็นเวลานาน สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในนาม ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ที่เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์อันรุ่งเรือง และถือเป็นยุคทองของการค้าไทย-จีน นับแต่นั้นมา แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเมื่อการค้าทางเรือ ถูกเข้ามาแทนที่ด้วยการคมนาคมที่ทันสมัยขึ้น ท่าเรือแห่งนี้ จึงถูกลดบทบาทลง

บ้านหวั่งหลีปัจจุบัน

อาคารไม้ในอดีต

วันเวลาผ่านไป คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี หัวเรือใหญ่เจเนอเรชั่นใหม่ ของบ้านเล็งเห็นถึงร่องรอยศิลปะไทย-จีน ที่เคยรุ่งเรืองสวยงาม และคิดถึงวิถีชีวิตแต่เก่าก่อน จึงรึเริ่มโปรเจคปลุกชีวิตให้พื้นที่แห่งนี้อีกครั้งในนาม “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ และหัวใจอนุรักษ์ ของลูกหลานตระกูล หวั่งหลี

” โครงการนี้เป็นมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกของครอบครัว เราต้องการดำรงรักษามรดกเชิงศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์อันเป็นมรดกของชาติ และมรดกของโลกสืบไป ครั้งนี้ทุกคนในบ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่า เป็นหน้าที่ในการปลุก “ฮวย จุ่ง ล้ง” ที่หลับใหลมาเป็นเวลายาวนาน ให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง และในขณะเดียวกัน ก็ยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างครั้งแรก เมื่อได้บูรณะขึ้นมาแล้ว เราจึงอยากเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียนนักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4″

คุณรุจิราภรณ์ อธิบายขั้นตอนการบูรณะเชิงอนุรักษ์ว่า ได้ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงสภาพงดงามตามสภาพให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้วิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น ภาพวาด รอบวงกบ บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิมมากที่สุด ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรืออย่างเช่น การบูรณะผนังอิฐ ส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณ มาบูรณะช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่หักก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม ไม่ได้ทิ้งไม้เก่า และไม่ได้ใช้ไม้ใหม่มาเสริม

โกดังเก็บสินค้าในอดีต

พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร)

“หลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดฉากการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยามประเทศ ตั้งแต่นั้นมา พ่อค้าต่างประเทศก็เข้ามาติดต่อค้าขายในประเทศไทยอย่างอิสระ เมื่อมีการเปิดเมืองท่า พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ริเริ่มลงทุนสร้างเรือกลไฟ ซึ่งคือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเป็นเชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร และได้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้น เป็นท่าเรือชื่อ “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า 火 船 廊 หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” สำหรับให้ชาวจีนที่เดินทางทางเรือมาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทยมาเทียบเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ โดยจอดเรือที่ท่าเรือด้านหน้า และนำสินค้ามาโชว์ในร้านในอาคาร เหมือนเป็นโชว์รูม ซึ่งนับเป็นท่าเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดของไทยในสมัยนั้น จนในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล “หวั่งหลี” โดย นายตัน ลิบ บ๊วย ได้เข้ามาเป็นเจ้าของ อาคารท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” คนใหม่ต่อจาก พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดัง เก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าของตระกูลหวั่งหลี ต่อมาได้ปรับโกดังสำหรับเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานในพื้นที่เรื่อยมา”

“ฮวย จุ่ง ล้ง” ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาล ที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นและเครื่องหลังคาสร้างจากไม้ เสาสร้างลักษณะป่องกลางที่คนจีนนิยม ลักษณะเป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” (三 合 院) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผัง รูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ อาคารประธานด้านในเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าหม่าโจ้ว (คลองสาน) ส่วนอาคารอีก 2 หลังด้านข้างใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า

อีกเสน่ห์ที่พลาดไม่ได้คือ การค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้ซ้ำไปมาหลายต่อหลายชั้นมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน จึงทำให้ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นยังคงผนึกไว้และไม่ถูกลบหายไป กอปรกับลักษณะการออกแบบและขนาดของแต่ละห้องที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นแหล่งศูนย์ช่างฝีมือของชาวจีนในอดีต

คุณค่าสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจีนที่นี่ ที่เป็นศูนย์รวมใจ ได้แก่ “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน” (MAZU) ที่ประดิษฐานอยู่คู่ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน “เจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน” องค์นี้ เป็นเจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 องค์เจ้าแม่หม่าโจ้วทำจากไม้ มี 3 ปาง ปางแรกคือปางเด็กสาว ให้พรด้านการขอบุตร ปางที่สองคือปางผู้ใหญ่ ให้พรในด้านการค้าขายเงินทองและปางที่สามคือปางผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ และมีเมตตาจิตสูง ซึ่งทั้ง 3 ปางนี้เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่กว่า 180 ปี เวลาคนจีนเดินทางโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่าน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีน ก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน เจ้าแม่หม่าโจ้วจึงเป็น ศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่

แบบร่างปรับปรุงคลังสินค้า

สำหรับโครงการบูรณะเชิงอนุรักษ์พร้อมพัฒนาและปรับโฉมสู่บทบาทใหม่ ในฐานะ “ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะถูกแบ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรม นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ร้านอาหาร – คาเฟ่ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ สถานที่พักผ่อน และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย-จีนในอดีตบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเปิดให้บริการภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ณ ถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.