ราชสกุล ‘จิตรพงศ์’ สืบสายเลือดมาหลายชั่ว อายุคน โดยสืบค้นประวัติบรรพบุรุษย้อนกลับไปได้ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มาบัดนี้ ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ผู้สืบศักดิ์เป็นเหลนในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น‘บุคคลสำคัญของโลก’ และทรงได้รับพระสมัญญาว่าเป็น ‘ช่างหลวงแห่งสยาม’ ขอรำลึกเรื่องราวชีวิตในอดีต ตราบจนความเป็นไปในปัจจุบันของบ้านปลายเนิน
“แว๋วเกิดที่บ้านปลายเนิน อยู่มาจนถึงอายุ 22 ก่อนจะไปเรียนต่อต่างประเทศค่ะ” ศิษย์เก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัยและนักเรียนเตรียมอุดมศึกษารุ่นที่ 55 ได้เล่าให้เราฟัง
“ท่านย่าทุกองค์ ซึ่งเป็นธิดาในสมเด็จฯ ทั้งท่านย่าอาม-หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ หรือท่านย่าไอ-หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ก็ดี ท่านชอบเล่าเรื่องราวต่างๆ ในอดีต ตัวแว๋วเองเป็นคนชอบฟังก็จะสนุกกับเรื่องราวในอดีต” คุณแว๋ว-ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์เกริ่นเล่าท่ามกลางฉากหลังอันร่มรื่นในบ้านปลายเนิน “แว๋วโตมากับบ้านหลังนี้ด้วย จำได้ว่าตั้งแต่เด็กๆ มีแต่เรื่องสนุกบ้านปลายเนินเหมือนกับ gated community ที่มี 10 กว่าครอบครัวอยู่ในรั้วเดียวกัน แต่ละบ้านมีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ทีนี้สนุกใหญ่เลย ลูกหลานของบ้านนู้นบ้านนี้ชอบมาเล่นด้วยกัน จำได้ว่าแถวบ้านมีซอยเล็กๆ พวกเราชอบเอาถ่านจากโรงครัวมาขีดเส้นไปตามถนนแล้วเล่นบอลลูนกัน กิจกรรมอีกอย่างที่สนุกมากคือสมัยก่อนต้นไม้ทึบยิ่งกว่านี้เยอะค่ะ ออกจะรกน่ากลัวนิดๆ แต่กลายเป็นว่าเด็กๆ อย่างพวกเราสนุกกันมากเพราะไม่รู้ว่าเข้าไปแล้วจะเจออะไร ท่านย่าเลี้ยงนกเหยี่ยวและสัตว์แปลกๆ ไว้เยอะ พวกเราจะชอบมุดเข้าไปเล่นในดงไม้”
แต่งานสำคัญของราชสกุลจิตรพงศ์นั้น ถือเป็นกุศโลบายกำราบรวมลูกหลานวัยกำลังซนทั้งหลายให้กลายเป็นลูกมือช่วยหยิบจับทำหน้าที่ต่างๆ ใน ‘งานวันนริศ’
“พอถึงวันงานนริศ ทุกคนจะต้องช่วยงาน ต้องมีบทบาทหน้าที่กันถ้วนหน้า แว๋วไม่ถนัดรำเลยหันไปวาดรูป ท่านย่าบอกว่าจะประดับโคมตามต้นไม้ใช่ไหม แว๋วก็อาสาเลยค่ะ ท่านย่าเพคะ แว๋ววาดรูปมังกรให้ แล้วเอารูปมาทำเป็นโคมมังกร ท่านย่าก็เรียกตัวแว๋วไปทำอย่างอื่นอีก ‘เอาอย่างนี้ เธอมาช่วยฉัน เดี๋ยวฉันสอนทำพุทราป่น’ วิธีทำคือเอาพุทรามาบดละเอียดให้ยิบเลยนะคะแล้วกรองออกมา จากนั้นผสมกับไอซิ่งและเกลือบดละเอียด รสจะออกเปรี้ยว เค็ม หวาน หน้าที่แว๋วคือใส่ส่วนผสมในโถแก้วแล้วนำไปให้ท่านย่าไอชิมทุกโถก่อนจะนำไปบรรจุ ซึ่งแว๋วต้องทำหีบห่อบรรจุเองด้วยค่ะ เอากระดาษแก้วมาม้วนเป็นกรวย แล้วใส่พุทราที่ป่นเสร็จแล้วลงไป จากนั้นก็ปิดกรวย เวลาจะกินก็ตัดตรงปลายแล้วหยอดใส่ปาก ตอนเด็กๆ ทุกคนชอบกินพุทราป่นกันมาก เป็นของยอดนิยมของบ้านเราเลย”

ขึ้นชื่อว่าอยู่ในรั้วในวัง คุณแว๋วจึงไม่พ้นต้องร่ำเรียนการบ้านการเรือนจนถึงการละครตามตำรับสาวชาววังแท้
“ตั้งแต่เด็กๆ ท่านย่าหัดให้ทำหลายอย่างค่ะ เด็กๆ ทุกคนต้องไปเป็นนักเรียนของ ‘คณะละครสมัครเล่นบ้านปลายเนิน’ เรียนตั้งแต่ดนตรีไทย โขนละคร พวกตัวกระเปี๊ยกทั้งหลายก็ไปหัดเรียนกัน ตั้งแต่เด็กแล้วที่แว๋วไม่ชอบอะไรแบบนี้เลย เพราะเจ็บมาก ต้องดัดตัว ทำให้มือโค้ง ให้แขนอ่อน เวลารำละครต้องตั้งวงให้สวยได้โค้งวงจริงๆ ซึ่งของแบบนี้ต้องฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ ลองจินตนาการดูสิว่าเราต้องโดนดัด ต้องนั่งทับนิ้วตัวเองทุกวัน ตอนเด็กๆรู้สึกว่ามันทรมานเหลือเกิน ทีนี้พอเราเจ็บตัวมากเข้าเราก็หนีสิคะ พอถึงเวลาเรียนเช้าวันเสาร์ แว๋วจะหนีไปซ่อนอยู่ในโรงครัว ที่บ้านนี้จะเจอตัวคนได้ยากมากเพราะซอกหลืบเยอะ สิ่งที่แว๋วเศร้าใจมากที่สุดคือเราหนีไปซ่อนแล้วไม่มีคนเดินมาตาม ไม่รู้ว่าหาไม่เจอหรือไม่ตามเรากันแน่นะคะ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเดินออกมาเอง (หัวเราะ)”
“แว๋วมีพี่น้อง 3 คน แว๋วเป็นคนกลาง พี่แจ๋ว-หม่อมหลวงสุธานิธิ จิตรพงศ์ เป็นคนโต สมัยเด็กเขาเป็นคนที่มีพรสวรรค์เรื่องรำละคร ได้เป็นตัวเอกเสมอ บางทีเป็นนางร้ายบ้างแต่ก็ยังเป็นตัวเอก เพราะพี่แจ๋วรำสวยมาก เอาดีได้พอสมควรทางรำละคร ส่วนน้องชายคือแจ๊ค-หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์ ไปเอาดีทางด้านตีระนาด ทีนี้แว๋วเองไม่รู้จะเอาดีทางไหน เพราะว่าทำอย่างไรก็ไม่หลุดจากตัวละครที่ไม่มีบท ตอนเด็กๆ แสดงเป็นผึ้ง พอโตขึ้นมาหน่อยได้เป็นคนถือธงบ้าง เป็นฤาษีบ้าง(หัวเราะ)”
เธอได้รับการอบรมกิริยามารยาทและวาจาให้สุภาพจนเป็นนิสัย ทว่ากลับเป็นความน่าแปลกตาตื่นตกใจในสายตาเพื่อนๆ เรื่องนี้สาวชาววังเล่าให้ฟังว่า
“แว๋วต้องพูดราชาศัพท์กับชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ซึ่งก็คือท่านย่าทั้งหลาย เช่น สรงน้ำไหมเพคะ เสวยอะไรเพคะ เรารู้คำศัพท์พวกนี้มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเพื่อนๆ เราจะไม่เข้าใจว่าเราพูดอะไร (หัวเราะ) บางทีพาเพื่อนมาที่บ้านให้มาช่วยกันทำขนม ซึ่งเพื่อนมาพูดกับแว๋วทีหลังว่าตกใจตอนที่แว๋วคลานเข่าเข้าไปหาท่านย่า แว๋วก็งงว่าเขาตกใจอะไรกันเพราะเราทำเป็นปกติ เรื่องก็คือท่านย่าประทับอยู่บนที่นั่งเตี้ยๆ เราก็คลานเข่าเข้าไปหาท่านย่าตามความเคยชิน แต่เพื่อนๆ ตกใจว่าทำไมเธอถึงต้องคลานเข้าไปกิริยามารยาทเรายังคงเป็นแบบโบราณจริงๆ ถ้าเทียบกันกับเพื่อนๆ นะคะ เรื่องอื่นๆ แว๋วก็ไม่ค่อยทันเพื่อนจนบัดนี้ยังโดนเพื่อนแซวเลยนะคะ เพราะอะไรที่เกี่ยวกับ Pop Culture แว๋วจะไม่ค่อยรู้ เป็นคนโบราณชอบของโบราณ อย่างตอนไปเรียนที่อังกฤษ แว๋วก็ชอบดนตรีคลาสสิกเพิ่มขึ้นมาอีกค่ะ”

จนถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่ต้องเลือกว่าจะประกอบสัมมาอาชีพใด
“ตอนแรกอยากเป็นหมอ ต่อมาก็อยากจะเป็นแม่ครัวหรือเป็นเชฟ แต่เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าเป็นไงมาไงถึงมาตกลงปลงใจที่สถาปัตย์ค่ะ” สถาปนิกรุ่นที่ 4 ของราชสกุลจิตรพงศ์ได้แย้มเรื่องราวมาแต่แรกว่าสมเด็จทวดทรงเป็นสถาปนิกแห่งสยามประเทศ จากนั้น ‘ท่านปู่ใส’ หม่อมเจ้ายาใจจิตรพงศ์ ทรงเป็นสถาปนิกที่ไปศึกษาด้านสถาปัตย์จากปารีส ขณะที่คุณพ่อ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ จบสถาปัตย์ที่เคมบริดจ์ จนมาถึงคุณแว๋วที่กลายมาเป็นสถาปนิกรุ่นที่ 4 ของราชสกุลจิตรพงศ์ หลังจากเคยอยากเป็นนางรำ หมอ และเชฟมาก่อนหน้านี้
“แว๋วจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ ภาคสาขาวิชาสถาปัตย์ เป็นวิชาออกแบบอาคารแต่ไม่ใช่สถาปัตยกรรมไทย พอเรียนจบก็ตัดสินใจว่าอยากเรียนต่อด้านทฤษฎีประวัติศาสตร์ เพราะอยากรู้อะไรที่ไม่ใช่สายออกแบบบ้าง แว๋วเลยสมัครไปเรียนประวัติศาสตร์ของทฤษฎีสถาปัตยกรรมที่ AA(Architectural Association School of Architecture) กรุงลอนดอน เรียนทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกต่อกันอยู่อังกฤษนาน 8 ปีเพราะเที่ยวเยอะไปหน่อยค่ะ”
“วิทยานิพนธ์ที่แว๋วเขียนเรื่องความสะอาดมีส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จทวดอยู่ตรงจุดนี้เอง คือสมเด็จทวดทรงลิขิตจดหมายทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 ว่าท่านจะเป็นคนดูแลจัดระเบียบทำความสะอาดเมรุแร้งวัดสระเกศ ซึ่งเป็นสถานที่กำจัดศพในสมัยก่อน แว๋วเลยเรียกสมเด็จทวดว่าทรงเป็นดีไซเนอร์ เพราะท่านมีสายพระเนตรที่จะมองหาความไม่เป็นระเบียบ และต้องการจัดระเบียบทุกอย่างซึ่งเป็นนิสัยของสถาปนิกสมเด็จทวดทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นค่อนข้างสูง เลยเหมือนกับว่าหนังสือ Prince Naris ก็อาจจะเป็น Part 2 ของวิทยานิพนธ์ที่แว๋วทำสมัยเรียนในแง่หนึ่งก็ได้เหมือนกัน ซึ่งในอนาคตแว๋วอยากจะตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ แต่ต้องใช้พลังอีกเยอะเหมือนกันค่ะ”

นอกจากความเป็นครูที่ฝังลึกอยู่ในดีเอ็นเอ ตามรอยครูใหญ่แห่งการช่าง อันเป็นพระสมัญญาของสมเด็จทวดแล้ว คุณแว๋วยังมีความคิดริเริ่มในงานอนุรักษ์โบราณวัตถุที่บ้านปลายเนินให้คงอยู่ได้นานและเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ทางศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย
“การอนุรักษ์เป็นเรื่องการรักษาองค์ความรู้ ทักษะเฉพาะทาง และวิถีชีวิตประจำวัน ให้คงอยู่ได้อย่างสร้างสรรค์ในอนาคต แว๋วอยากหาวิธีการบูรณะตำหนักไทยเก่า ณ บ้านปลายเนิน โดยสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาด้วย”
“แว๋วสงสารศิลปวัตถุหลายชิ้นที่อยู่ในบ้านปลายเนิน เช่น หัวโขน สมเด็จทวดท่านบูชาเป็นครูถ้าเก็บไว้ในตู้ไม้ในเรือนไทยซึ่งมีความชื้นสูง ไม่นานก็ผุพัง เลยอยากย้ายศิลปวัตถุหลายชิ้นไปในที่ที่เหมาะสม ทำตู้กระจกที่ถูกต้อง มีการปรับอุณหภูมิและแสงที่ดี อาคารใหม่อาจทำเป็นห้องแสดงหัวโขน จัดบรรยายได้ จัดนิทรรศการได้ถ้าไม่ต้องการเห็นหัวโขน เพราะหัวโขนพลังสูงมากเวลาก้าวเข้าห้องไปนี่ไม่มีทางที่จะสนใจอย่างอื่นได้เลยนอกจากหัวโขน แว๋วคิดว่าเราอาจทำตู้ 2 ชั้น ข้างในใส ข้างนอกทึบ ถ้าเราไม่ต้องการเห็นหัวโขนในวันที่จัดบรรยายหรือจัดสัมมนา เราก็ปิดบานตู้ทึบ น่าจะมีวิธีออกแบบที่เรียบง่ายและสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัตถุที่บ้านปลายเนินวัตถุที่อยู่ในอุณหภูมิความชื้น อีก 5 ปีก็พังไปตามสภาพ แต่เราสร้างสภาพแวดล้อมให้ใหม่ได้ แทนที่จะอยู่ได้ 5 ปี ก็อาจจะอยู่ถึง 10 ปีได้”
“ถ้าได้ทำจริงๆ ก็คงเรื่องใหญ่ แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว แว๋วอยากทำ Living Archive ให้กับที่นี่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านปลายเนินเป็นความทรงจำของชีวิตและครอบครัวจิตรพงศ์ค่ะ”