วันแม่แห่งชาติของประเทศไทยจัดครั้งแรกโดยกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร ในปีต่อมาจึงต้องงดเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอสงครามสงบลงมีหลายหน่วยงานจัดขึ้นอีก แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจึงต้องหยุดลง จนกระทั่ง พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์ได้กำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็น ‘วันแม่แห่งชาติ’ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พร้อมทั้งมีดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
เคที โฮล์มส์ กับลูกสาว ซูริ
ฝรั่งเศส
วันแม่ของประเทศฝรั่งเศสมีมาตั้งแต่ปี 1806 โดยนโปเลียนเป็นผู้คิดไอเดียการเฉลิมฉลอง แต่ไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตามในศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเริ่มกังวลถึงอัตราการเกิดของประชาการที่ลดน้อยลง จึงจัดให้มีการฉลองวันแม่ ต่อมาในปี 1915 มีการนำประเพณีฉลองวันแม่ของสหรัฐอเมริกามาใช้ในฝรั่งเศสโดยทหารสหรัฐฯ ที่เข้ามาทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในครั้งนั้นมีประชากรเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงกระตุ้นการเพิ่มประชากร จึงกำหนดให้มีวันแม่ขึ้นมา และในที่สุดในปี 1950 การฉลองวันแม่ ก็กลายเป็นวันสำคัญอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันวันแม่ฝรั่งเศสจัดขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม มีการมอบของขวัญ เช่น ดอกไม้ ช็อกโกแลต หรือการ์ดที่ประดิษฐ์เองพร้อมเขียนข้อความแก่แม่

เจสสิก้า อัลบา กับลูกสาวคนกลาง
สหรัฐอเมริกา
แอนนา จาร์วิช คือ ผู้ก่อตั้งวันแม่ ของสหรัฐอเมริกา ในปี 1908 หลังจากที่แม่ของเธอ แอน รีฟฟ์ จาร์วิส เสียชีวิต แอนนาซาบซึ้งในพระคุณของแม่มาก จึงจัดพิธีรำลึกที่ St Andrew’s Methodist Church และรณรงค์ให้เกิดการยอมรับวันแม่เป็นวันสำคัญของชาติ เธอต้องต่อสู้กับวู้ดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตอนนั้น และเธอก็ทำสำเร็จ ต่อมาในปี 1914 วู้ดโรว์ได้กำหนดให้อาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่อย่างเป็นทางการและถือเป็นวันแม่สากลที่ของหลายประเทศ
วันแม่ในสหรัฐฯ มีความสำคัญรองจากวันคริสต์มาสและวันวาเลนไทน์ มีสัญลักษณ์เป็นดอกคาร์เนชั่น โดยชาวอเมริกันจะมอบดอกคาร์เนชั่นสีแดงและสีชมพูให้กับแม่ที่มีชีวิตอยู่ ส่วนคาร์เนชั่นสีขาว มอบให้แก่แม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ไอศวรรยา ไรย์ และลูกสาว อารัตยา ปัตจัน
เนปาล
วันแม่ในเนปาลจะเป็นที่รู้จักกันว่า วัน Mata Tirtha Ausi จะจัดเฉลิมฉลองตามเดือนจันทรคติในช่วง Dark Fortnight ของเดือน Baishakh (ประมาณเดือนเมษายน และพฤษภาคม)และเนื่องจากเนปาลมีกลุ่มชาติพันธ์กว่า 60 ชาติพันธ์ุ ทำให้ประเพณีการฉลองวันแม่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่และสภาพภูมิอากาศ บางคนเริ่มแสดงความเคารพต่อแม่ในตอนเช้าเพื่อถือเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี ส่วนบางคนเริ่มฉลองกันในตอนเย็น หรือบางคนที่แม่เสียชีวิตไปแล้วก็จะนำของศักดิ์สิทธ์ที่เรียกว่า Sida ไปให้แก่บัณฑิต (Sida คือ ข้าว ธัญพืช รวมถึงเสื้อผ้า) หรือไปทำพิธีกรรมริมแม่น้ำให้กับแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว
เอธิโอเปีย
ชาวเอธิโอเปียเรียกวันแม่ว่า ‘Antrosht’ จัดขึ้นในอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ในฤดูใบไม้ร่วง หลังจากฤดูฝนจบลง โดยพิธีการจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการทำความสะอาดบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเป็็นเวลา 3 วัน เด็กผู้หญิงและแม่จะถูกป้ายเนยบนใบหน้าและหน้าอก หลังจากนั้นจะมีการเต้นและร้องเพลงเกี่ยวกับครอบครัว พร้อมกับรับประทานอาหารร่วมกัน
ปากีสถาน
วันแม่ในปากีสถานเฉลิมฉลองกันวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับดีมาก โรงเรียนและองค์กรเอกชนจะจัดเฉลิมฉลองเพื่อยกย่องจิตวิญญาณของความเป็นแม่ ผู้คนจะส่งดอกไม้และให้ของขวัญ เค้ก หรือการ์ดแก่แม่

ดัชเชสเคตกับเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์
อังกฤษ
อังกฤษถือเป็นประเทศแรกในโลกที่จัดวันแม่ เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการเป็นแม่ โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ซึ่งเรียกว่าวัน Mothering Sunday ในสมัยนั้นคนส่วนใหญ่จะไป Mother Church หรือโบสถ์แถวๆ บ้าน เด็กๆ จะมอบดอกไม้ให้แก่แม่ ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะทำเค้กชื่อว่า Simnel Cakes ให่แก่แม่ของพวกเขา ภายหลัง วัน Mothering Sunday ได้ยุติลงหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ต่อมาวันแม่จึงเปลี่ยนเป็นวันอาทิตย์ที่ 4 ในฤดูถือบวชเลนต์ ซึ่งปัจจุบันฤดูถือบวชเลนต์ไม่ได้มีวันที่แน่นอน วันแม่จึงเปลี่ยนไปทุกปี ชาวอังกฤษส่วนใหญ่จะมอบการ์ด หรือดอกไม้ให้แก่แม่
แอฟริกาใต้
ชาวแอฟริกาใต้เฉลิมฉลองวันแม่กันในวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของแม่ และถือโอกาสขอบคุณแม่สำหรับความรักและการดูแลที่แม่มีให้แก่พวกเขาด้วยจิตวิญญาณอันแท้จริง ซึ่งแสดงออกถึงความรู้สึกจริงใจ และความกตัญญู พวกเขาจะมอบดอกไม้และการ์ดเพื่อขอบคุณแม่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังขอบคุณย่ายาย รวมไปถึงผู้หญิงทุกคนที่เป็นแม่อีกด้วย
……………………………………………………………………………………………….
Cr. Getty Images