จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด – 19 ทะลุกว่า 1,000 แล้ว และยังไม่มีแนวโน้มว่าสถานการณ์การติดเชื้อจะทุเลาลง ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มขาดแคลนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงห้องไอซียูในการรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤต

‘โรงพยาบาลวชิรพยาบาล’ ในฐานะ 1 ใน 6 โรงพยาบาลหลักที่ดูแลผู้ป่วยกรุงเทพมหานคร โดยรับเคสผู้ป่วยจากโซนธนบุรีใต้เป็นหลัก จึงมีแนวความคิดเชิงรุก (Forward Thinking) เปลี่ยนอาคารสูติกรรมและอาคารนรีเวชให้เป็นห้องแรงดันลบภายใต้โครงการ ‘เตียงต่อชีวิต’ เพิ่มเตียงผู้ป่วยกว่า 54 เตียงเพื่อรักษาทุกชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า 1,350 ชีวิตในระยะเวลา 2 ปี

คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลวชิรพยาบาลเคยรับมือกับผู้ป่วยโรคโควิด – 19 มากถึงเกือบ 200 ราย ด้วยสถานการณ์เช่นนี้หอผู้ป่วยปกติไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยทั้งได้ จึงมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสนาม อาคารพัชรกิติยาภา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ฮอสพิเทล ข้าวสาร พาเลซ และโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลการไฟฟ้า

“โรงพยาบาลวชิรพยาบาลเคยมีคนไข้ที่เป็นสีแดงต้องใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดประมาณ 15 ราย ส่วนสีส้มที่ต้องใส่เครื่องออกซิเจนไฮ โฟลว์ (High Flow Nasal Cannula) ประมาณ 10- 12 ราย แต่โรงพยาบาลมีห้องไอซียูเพียง 16 เตียงเท่านั้น บางครั้งมีผู้ป่วยอาการหนักรวมกว่า 20 ราย ซึ่งเกินกว่าศักยภาพที่โรงพยาบาลจะดูแลได้ และสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด – 19 ในประเทศไทยโดยรวมยังเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 รายต่อวัน จึงมองว่ามีโอกาสที่จำนวนผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าแม้ว่ามีการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม แต่การกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงต้องใช้เวลาพอสมควร”

ด้าน รศ.ดร.นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล ผู้ช่วยคณบดี คณะแพทยศาตร์วชิรพยาบาลฯ เผยว่า โรงพยาบาลวชิรพยาบาลประเมินว่าการสู้รบครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อยซึ่งแม้ว่าเป็นเพียงโรงพยาบาลขนาดกลางแต่พยายามขยายกำลังรักษาเพื่อรับมือกับโรคโควิด – 19 อย่างเต็มที่ จึงเตรียมเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับสถานการณ์ ซึ่งการเปลี่ยนอาคารสูติกรรมและอาคารนรีเวชให้เป็นห้องแรงดันลบต้องใช้งบประมาณมากกว่า 21.6 ล้านบาท ไม่รวมค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกประมาณ 30 ล้านบาท

สำหรับโครงการเตียงต่อชีวิตได้รับความร่วมมือจากเหล่าเซเลบริตี้ใจบุญหลายคนทั้งบริจาคเงินและประชาสัมพันธ์ระดมทุน นำโดย ‘คุณก๊องส์ – กรองกาญจน์ ชมะนันทน์’ ‘คุณอุ๊ – จุฬาลักษณ์ ผลภิภม’ ‘คุณปุ๊ม – ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล’ ‘คุณต๊ะ – วราภรณ์ ศิริบุญมา’ ‘คุณดาว – ณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์’ ‘คุณบาส – นิติ สว่างวัฒนไพบูลย์’ รวมถึง ‘คุณเวย์ – ปริญญา อินทชัย’ (เวย์ ไทยเทเนี่ยม) และ ‘คุณบุดด้า – วัฒนา วัฒนไชยยศ’ (ดีเจบุดด้า) ศิลปินชื่อดังที่เคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยและสูญเสียบุคคลในครอบครัวด้วยโรคโควิด -19

คุณก๊องส์ – กรองกาญจน์ ชมะนันทน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการเตียงต่อชีวิตว่า ส่วนตัวมีโอกาสจัดหาอาหารสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงหาเตียงให้คนไข้ที่อยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งพบว่าเตียงในห้องไอซียูขาดแคลนอย่างมาก รวมถึงโรงพยาบาลวชิรพยาบาลที่แม้เป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง แต่ต้องรองรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก จึงชวนเซเลบริตี้อีกหลายคนเข้ามาร่วมทำโครงการเตียงต่อชีวิต เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตและกึ่งวิกฤตได้มากขึ้น

คุณอุ๊ – จุฬาลักษณ์ ผลภิภม กล่าวว่า เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘เตียง’ สำหรับหลายคนอาจนึกถึงการนอนหลับพักผ่อน แต่สำหรับโควิด – 19 ระลอก 3 คำว่าเตียงสำหรับผู้ป่วยหมายถึงการได้รับการรักษา ส่วนตัวช่วงแรกร่วมกันเพื่อนหลายคนทำเพจ ‘เราต้องรอด’ ช่วยประสานงานระหว่างผู้ป่วยและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ซึ่งมีผู้ป่วยเคสหนักและเคสเบา โดยเฉพาะช่วง 02.00 – 04.00 น. จะมีเคสหนักติดต่อเข้ามาทุกวัน

เคสที่ติดต่อมาช่วงกลางคืน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถหาเตียงให้ได้ ณ ตอนนั้น และระหว่างประสานงาหลายครั้งก็มีผู้ป่วยที่หยุดหายใจไป จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ ‘เตียงต่อชีวิต’ ซึ่งเตียงทุกเตียงมีคุณค่ามาก ๆ ช่วยต่อชีวิตให้คนไข้สีส้มและสีแดงที่เป็นเคสหนักทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
คุณอุ๊ – จุฬาลักษณ์ ผลภิภม

คุณบุดด้า และ คุณอุ้ม – อุ้มพร วัฒนไชยยศ ภรรยา เล่าถึงประสบการณ์ในการสูญเสีย ‘คุณพ่อวิโรจน์ วัฒนไชยยศ’ ด้วยโรคโควิด – 19 ว่า วันที่คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเป็นวันที่เริ่มอาการหนักแล้ว คือ ไม่มีแรง เหนื่อย และหอบหนัก จึงติดต่อรถพยาบาลให้มารับคุณพ่อทันทีเนื่องจากปกติคุณพ่อเป็นคนแข็งแรงมาก เมื่อไปถึงโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดและทราบว่าคุณพ่อเป็นโรคโควิด – 19 ทุกคนต่างตกใจมาก ตอนนั้นโรงพยาบาลแจ้งตั้งแต่แรกเลยว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ถ้าคุณพ่ออาการวิกฤตต้องมีการส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่น

ดีเจบุดด้า และคุณอุ้ม เล่าต่อว่า แม้ว่าคุณหมอรักษาอย่างเต็มที่แล้วแต่คุณพ่อยังอาการแย่ลงเรื่อย ๆ จนคุณหมอแนะนำให้ย้ายไปโรงพยาบาลที่ขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งกว่าจะประสานจนได้เตียงในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นต้องใช้เวลานานกว่า 6-7 วัน เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลต้องรับผู้ป่วยโรคโควิด – 19 เป็นจำนวนมาก ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์และพื้นที่ในการรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ นับเป็นช่วงเวลาที่ทรมานใจมาก ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหน และระหว่างนั้นอาการคุณพ่อแย่ลงมาก ๆ
“เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามาร่วมในโครงการเตียงต่อชีวิต เพราะจากประสบการณ์ที่แย่มากในการหาเตียง และได้มาในวันที่สายเกินไป ทำให้เราทั้งเสียดายและเสียใจ เราสูญคนที่เรารัก ยังร้องไห้และทำใจไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงอยากช่วยประชาสัมพันธ์โครงการเตียงต่อชีวิตให้คนรับรู้มากที่สุด เนื่องจากเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อทุกคน สามารถต่อชีวิตให้กับคน ๆ หนึ่ง ซึ่งมีครอบครัว มีคนที่รัก เราอยากให้ทุกชีวิตได้รับการรักษาที่ทันท่วงที”
คุณบุดด้าและคุณอุ้มเผย

ด้าน คุณเวย์ ไทยเทเนี่ยม ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการและนำช่างตัดผมจากร้าน ‘เนเวอร์เซย์คัตซ์’ (Neversaycutz) มาเป็นอาสาสมัครตัดผมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เผยว่า ช่วง 14 วันที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ค่อนข้างเครียดเพราะเป็นห่วงภรรยากลัวว่าจะติดเชื้อไปด้วย และรับรู้ตลอดว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นทุกวัน เตียงในโรงพยาบาลต่าง ๆ เริ่มไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย รู้สึกเป็นห่วงทั้งประชาชนและครอบครัว เป็นประสบการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใคร

ขณะที่ คุณดาว – ณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์ เจ้าของร้านอาหารและเบเกอรี่ ‘คอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว’ นอกจากร่วมบริจาคเงินและระดมทุนในโครงการเตียงต่อชีวิตแล้ว ยังนำขนมมาแจกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ภายใต้โครงการ ‘ป้อนเค้กปันบุญ’ ซึ่งสนับสนุนหน่วยงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขมาตลอดหลายปี กล่าวว่า รู้สึกประทับใจอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลวชิรพยาบาลทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ทุกคนต่างต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะทุกชีวิตล้วนมีค่า

คุณปุ๊ม – ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล บอกว่า โรงพยาบาลวิชรพยาบาลก่อตั้งมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 110 ปีได้ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการเพื่อรับใช้สังคม จากที่คุณหมอได้กล่าวถึงทำให้เราทราบว่าสถานการณ์ควิด – 19 จะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ในฐานะบุคคลธรรมดาเราสามารถบริจาคทุนทรัพย์เพื่อซื้อครภัณฑ์ทางการแพทย์ในโครงการเตียงต่อชีวิต ซึ่งจะมีส่วนช่วยผู้ป่วยโรคโควิด – 19 ในขณะนี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาต่อสู้กับวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

คุณบาส – นิติ สว่างวัฒนไพบูลย์ ร่วมให้กำลังใจชาวไทยและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่กำลังต่อสู้ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ พร้อมเชิญชวนให้พลเมืองร่วมปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด – 19 และทำให้สังคมไทยกลับมาสดใสอีกครั้ง

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคเงินเพื่อสร้างห้องความดันลบและจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ภายใต้โครงการ ‘เตียงต่อชีวิต’ สามารถบริจาคด้วยตัวเองได้ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี เงินบริจาคคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เลขที่บัญชี 012-031980-2 และสแกน QR Code ของ E-Donation ส่วนอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากร อาทิ ชุด PPE, แอลกอฮอลล์, หน้ากาก N95 สามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลฯ สามารถส่งใบเสร็จได้ทางไลน์ไอดี @vajiranp เพื่อแจ้งความประสงค์ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของยอดบริจาค สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 0-2244-3030 และทางไลน์ @vajiranp
