กล่าวกันว่า ‘ความสำเร็จ’ ไม่ใช่สิ่งที่เราบอกตัวเอง แต่เป็นโลกต่างหากที่จะเป็นฝ่ายบอกเรา เช่นเดียวกับความสำเร็จของ ‘ทฤษฎี ณ พัทลุง’ หนึ่งในนักประพันธ์เพลงและวาทยกร (Conductor) ระดับโลก แน่นอนว่า โลกใบนี้ไม่เคยมอบความสำเร็จให้กับใครโดยง่าย แต่ด้วยทัศนคติ ความทุ่มเท และมุ่งมั่น จึงทำให้เขาก้าวสู่จุดที่วาทยกรทั่วโลกใฝ่ฝัน บนความสำเร็จในแบบของตัวเอง ที่ไม่ย่ำอยู่บนรอยเท้าใคร และนี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครๆ หลายคน ‘The Victor’s Society’ โดยธนาคาร CIMB THAI จึงเชิญเขามาเพื่อแบ่งปันมุมมองที่แตกต่าง
‘วาทยกร’ หรือผู้อำนวยเพลง คำคำนี้อาจฟังดูแปลกหูสำหรับบุคคลทั่วไป แต่สำหรับทฤษฎีแล้วกลับเป็นความท้าทายที่ทำให้มุ่งมั่นที่จะก้าวสู่อาชีพนี้ เพราะการเป็นวาทยกรคือ การที่คุณไม่ได้เล่นเครื่องดนตรีด้วยตัวเองแต่เป็นการอำนวยให้เหล่านักดนตรีเล่นไปตามแนวทางและอารมณ์เพลงที่คุณตีความ
“สิ่งที่ผมยึดสูงสุดคือ ความจริงใจที่เรามีต่อดนตรี และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเข้าใจในดนตรีจริงๆ ในโน้ตทุกตัว” เพราะไม่เช่นนั้น เขาคงไม่สามารถส่งต่อพลังจากตัวเขาไปยังเหล่านักดนตรี เพื่อให้เหล่านักดนตรีสานต่อพลังของดนตรีไปยังผู้ฟังทั่วทั้งฮอลล์…ได้
“เราต้องเริ่มจากการเห็นค่าในสิ่งที่ทำก่อน ผมเป็นคอนดักเตอร์ที่มีนักดนตรีอยู่ข้างหน้า 50 คน เรากำลังสร้างเสียงดนตรีที่จะไปแตะความรู้สึกของคน ซึ่งมันพาวเวอร์ฟูลมาก สมมติคุณถือไวโอลินหรือกีตาร์ตัวนึงแล้วค่อยๆ เล่นไปๆ เล่นจนคนที่ฟังอยู่น้ำตาไหล หรือดูละครมิวสิคัลแล้วรู้สึกสนุก ฮึกเหิม มีพลังในชีวิต สิ่งเหล่านี้ผมมองว่า คือสิ่งที่มีค่า”
ดังนั้นการเป็นวาทยกรของเขาจึงไม่ใช่แค่เพียงการสวมทักซิโด แล้ววาดไม้บาตองไปมาในยามอำนวยเพลง แต่ทว่าหัวใจสำคัญคือ การส่งต่อพลังไปยังเหล่านักดนตรีเบื้องหน้า ให้ร่วมแรงร่วมใจ และมีหัวใจเดียวกันให้จงได้
“คุณต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า คุณรักดนตรีจริงๆ เหมือนกับทุกๆ คน คุณถึงจะสามารถดึงจิตวิญญานและนำเขาให้เล่นดนตรีได้อย่างมีความสุข มันเป็นความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นระหว่างคอนดักเตอร์กับนักดนตรี”
.
ด้วยทัศนคติเช่นนี้ จึงทำให้วาทยกรอายุน้อยอย่างเขาสามารถอำนวยเพลงให้เหล่านักดนตรีที่สูงกว่าทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ จนเป็นวาทยกรไทยคนแรกที่ได้อำนวยเพลงใน Concertgebouw หอแสดงดนตรีคลาสสิกที่เนเธอร์แลนด์ และเป็นวาทยกรไทยคนเดียวที่ได้อำนวยเพลงให้กับวงออร์เคสตร้าแห่งชาติสกอตแลนด์ ณ Royal Scottish National Orchestra ในวัยเพียง 23 ปี ซึ่งถือเป็นวาทยกรที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ผลปรากฏว่า ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
จากความกระหายใคร่รู้ สู่การค้นพบตัวตนที่แท้จริง
“ผมเริ่มชอบดนตรีตอนอายุ 13 เพราะได้ฟังภรรยาของคุณอาเล่นเปียโน ทำให้อยากรู้ว่า ศาสตร์นี้เป็นอย่างไร คือเสียงที่ผ่านการสั่นสะเทือนของอากาศ แล้วมันสร้างให้เกิดอารมณ์ในใจได้ ก็เลยอยากค้นหา ที่ผ่านมาผมไม่เคยฟังเพลงแนวไหนเลยเริ่มต้นก็ฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจัง เหมือนเราเข้าไปอีกโลกหนึ่ง เปิดรับโดยไม่ได้คิดว่ายากหรือกลัว ดนตรีคลาสสิกเลยเหมือนเป็นพื้นฐานของผม”
เมื่อสนใจและตั้งใจจริงพัฒนาการด้านดนตรีของเขาจึงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งได้พบกับ ‘สมเถา สุจริตกุล’ วาทยกรระดับโลก ก็ยิ่งทำให้เขาถ่องแท้ถึงโลกแห่งดนตรี และค้นพบเส้นทางที่ชัดเจน
“การได้ทำงานกับอาจารย์ ทำให้ผมรู้ว่า คอนดักเตอร์เป็นงานที่หนักมาก ต้องใช้ทักษะหลายอย่าง ต้องซ้อมหนัก ในส่วนของโน้ตเพลงแม้เราจะไม่ได้เล่นเอง แต่ก็ต้องศึกษาก่อนจนเข้าใจลึกซึ้ง เหมือนอ่านหนังสือจนทะลุปรุโปร่ง ผมชอบการฝึกสมองแบบนี้ ทำให้พบว่านี่เป็นสิ่งที่อยากจะทำจริงๆ อาจารย์สมเถาก็ให้โอกาส
“ผมเป็นคอนดักเตอร์ครั้งแรกตอนอายุ 18 กับวง BSO (Bangkok Symphony Orchestra) ทุกคนจะเห็นผมตั้งตั้งแต่อายุ 15 เล่นเปียโน จนวันหนึ่งก้าวขึ้นมายืนอยู่ข้างหน้า จำได้ว่ากลัวมาก เป็นคอนดักเตอร์ครั้งแรกจะบอกว่า ไม่กลัวก็ไม่ได้ แต่เป็นความกลัวที่ผสมกับความอยากที่จะสร้างสรรค์อะไรสักอย่าง”
บนเวทีโลก อายุไม่ใช่สิ่งสำคัญ วัดกันที่ผลงาน
เมื่อได้รับโอกาสเขาก็คว้ามันไว้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะโอกาสครั้งสำคัญอย่าง ‘Rossini Opera Festival’ ที่อิตาลี วาทยกรหนุ่มไทยวัยเพียง 23 ปี ก็ท้าทายตัวเองด้วยการอำนวยเพลงให้กับวงออร์เคสตร้าแห่งชาติอิตาลี
“โลกของดนตรีคลาสสิกเขาโฟกัสกันที่เนื้องานจริงๆ ดนตรีคลาสสิกเขียนขึ้นมาเป็นร้อยปี แต่เราสามารถตีความได้หลากหลายแนวทาง การได้ไปอยู่จุดนั้นเราอาจจะโดนตั้งคำถามว่า เป็นคนไทย การยอมรับจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อทำได้ ผมก็น่าจะเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของคนที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง โดยไม่ต้องนับว่าเป็นคนไทยด้วยซ้ำ
“หัวใจของการเป็นวาทยกรไม่ใช่สิ่งที่เรียนในห้องเรียน แต่คือ การจัดการและควบคุมสถานการณ์ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เช่น นักดนตรีเหนื่อย อารมณ์ไม่ดี หรือเพิ่งได้โน้ตแล้วยังเล่นไม่คล่อง อากาศ สภาพแวดล้อม การแสดงสดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกอย่างมีผลหมด แค่อากาศเปลี่ยนเชื่อไหมว่า สามารถเปลี่ยนบรรยากาศของการแสดงได้เลย ดังนั้นคอนดักเตอร์ที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ได้พูดอะไรออกมาแต่ต้องสามารถควบคุมและแก้ไขทุกอย่างได้หมด”
แน่นอนว่า เป้าหมายที่อยู่สูง ย่อมท้าทายให้เราก้าวได้ไกลกว่า
“เวลาทำอะไร ผมอยากจะไปให้ถึงที่สุด ไกลที่สุด ในระดับที่สูงที่สุด ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียง แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่เราชอบ”
ไม่ใช่แค่เล่นตามตัวโน้ต แต่ต้องเล่นด้วยหัวใจและจิตวิญญาน
หลังสะสมประสบการณ์บนเวทีระดับโลก เขาก็กลับมาเปิดบันทึกหน้าใหม่ให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ‘เรยา เดอะมิวสิคัล’ ‘ป๊อดออร์เคสตร้า’ ร่วมกับป๊อด-ธนชัย อุชชิน และ ‘บอดี้สแลม’ ซึ่งเขานำออร์เคสตร้าแบบดนตรีคลาสสิกเข้ามาผสมผสานกับความเป็นร็อก เป็นความร่วมสมัยที่ลงตัว และน่าตื่นเต้น
“เหมือนได้เปิดโลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นร็อกหรือคลาสสิก ถ้าทำให้เราได้สัมผัสกับดนตรี ได้อินกับตรงนั้น ออร์เคสตร้าเป็นอะไรที่มีสีสัน เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ นี่คืออนาคต ออร์เคสตร้าจะเล่นอย่างไรก็ได้ ถ้านักดนตรีมีจิตวิญญาณ เป็นนักไวโอลินก็สามารถเล่นออกมาเป็นร็อกได้
“ล่าสุดผมมาช่วยอาจารย์สมเถาดูแลวงสยามซิมโฟนี่ออร์เคสตร้า ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วไปแข่งชนะ ได้รางวัลที่ 1 จากออสเตรีย น้องๆ เก่งขึ้นเรื่อยๆ ได้เห็นความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาเหมือนผมมุ่งมั่นอยู่กับตัวเอง แต่การได้ทำงานกับวงเยาวชน ทำให้ผมอยากถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดที่มี
“อยากสร้างสรรค์และผลักดันวงการนี้ให้เติบโตและแข็งแรง ผมมองเห็นพลังที่อยู่ในตัวของนักดนตรีรุ่นใหม่ อย่าลืมว่า ที่เราเล่นดนตรีกัน มันคือพลังงาน คือความรู้สึกที่อยู่ในใจของเรา ไม่ใช่แค่เอาออร์เคสตร้ามาเล่นร็อก แต่นี่คือ พลังงานของเด็กรุ่นใหม่
“การเป็นคอนดักเตอร์ก็เหมือนกัน ต้องเริ่มจากการเป็นนักดนตรีที่ดี ผ่านการฝึกฝน และเรียนรู้เทคนิคจนเล่นดนตรีได้คล่องแคล่ว สื่อสารและถ่ายทอดอารมณ์ออกมา ทุกวันนี้เรามัวตื่นเต้นกับการเล่นดนตรีได้เร็ว แข่งขันกันเรื่องเทคนิค แต่สำหรับผม…ไม่ใช่แค่การฝึกฝนหรือซ้อมหนัก แต่ต้องเล่นด้วยหัวใจ เล่นด้วยจิตวิญญาณ ให้คนดูสัมผัสถึงคุณค่าของสิ่งนี้ให้ได้”
จากบทบาทของ ‘วาทยกร’ ผู้ส่งต่อพลังไปยังนักดนตรีจากวงออร์เคสต้า วันนี้เขากำลังจะส่งต่อ ไม่ใช่แค่เพื่ออำนวยเพลง แต่เพื่ออำนวยความสำเร็จให้กับวงการดนตรีของไทยในอนาคต
คุณต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า คุณรักดนตรีจริงๆ เหมือนกับทุกๆ คน คุณถึงจะสามารถดึงจิตวิญญานและนำเขาให้เล่นดนตรีได้อย่างมีความสุข มันเป็นความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นระหว่างคอนดักเตอร์กับนักดนตรี
…………………………………………………………………
ติดตามเรื่องราวของ The Victor ได้ที่
Be The Victor by CIMB THAI Bank