คิดอย่าง ‘หมู อาซาว่า’ กับ 10 ปีในวงการที่ได้เรียนรู้ว่า ‘แรงบันดาลใจ’ และ ‘แพสชั่น’ เป็นแค่วาทกรรม!!
เมื่อแบรนด์ Asava กลายเป็นนามสกุลต่อท้าย ‘คุณหมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา’ มานานนับ 10 ปี จนกลายเป็นภาพจำอันติดตา หากคุณคิดว่าเส้นทางแฟชั่นของเขาเต็มไปด้วยกลีบกุหลาบและพรมแดง แปลว่าคุณอาจจะยังไม่รู้จักเขาเลยแม้แต่นิดเดียว HELLO! มีบทสัมภาษณ์มันๆ กับ 10 คำถามที่คุณจะเข้าใจตัวตนของเขาได้ทันที!
HELLO!: ความยากของการเป็น ‘หมู อาซาว่า’ คือ?
เราไม่รู้สึกว่ายาก แต่มันท้าทายมากกว่า งานที่ทำอยู่มันคือธรรมชาติ คือชีวิตของเรา ความยากจะมาในเชิงของชั่วโมงการทำงาน และวินัยในการใช้ชีวิต แต่สุดท้าย ถ้ามองว่ามันเป็นคุณสมบัติ เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีอะไรได้มาง่ายหรือไม่พยายาม ยิ่งเติบโต ทุกอย่างมันก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น ฉะนั้นเมื่อเรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็จะทำให้เราไม่ท้อ
H: อะไรคือความคิดที่เปลี่ยนไปจากเด็กจนถึงวันนี้?
ตอนที่เราเป็นเด็กแล้วฝัน เราจะเห็นแต่เฉพาะความสวยงามเบื้องหน้าเวที เมื่อก่อนเวลาเราอ่านหนังสือเราจะเห็นคำว่า ‘กุมบังเหียน’ แล้วรู้สึกเท่จังเลย ดูยิ่งใหญ่มาก เมื่อเราเข้ามารับบทบาทนั้น ก็รู้ว่ามันยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะภาระหน้าที่มันใหญ่ มีคนจำนวนมากที่เราต้องอยู่ร่วมกับเขาอย่างมีความสุข และเขาจำเป็นต้องมองเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่ทำ เป็นการใช้พลังที่มหาศาล ต้องถ่ายทอดความฝันของเราให้เป็นความฝันของเขา และช่วยกันสร้างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาร่วมกัน
H: รูปแบบการทำงานของคุณหมูคือ?
สุดท้ายแล้วอาชีพที่มันเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เราอาจจะต้องการวินัยมากกว่าอาชีพอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีใครมาบอกเราว่าถึงเวลาต้องทำแบบนั้น และเมื่อไหร่จะทำอะไร เพราะฉะนั้นอาชีพอย่างเราจำเป็นต้องมีวินัยมากกว่าคนอื่น ต้องมีการสร้างแรงจูงใจในการทำงานมากกว่าคนอื่น เพราะมันไม่มีเรื่องของการตอกบัตรหรือบังคับเวลา ตัวเราจำเป็นต้องมีนาฬิกาธรรมชาติที่ดี ที่จะบ่งบอกตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่ต้องทำอะไร
H: Turning point ของคุณหมูคือตอนไหน?
ตั้งแต่อายุ 15 เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เรียนรู้ มีหลายเหตุการในชีวิตที่ทำให้เราต้องตั้งสติ สะกิดให้เราได้คิด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความมั่นคงทางธุรกิจ เราเริ่มต้นมาจากบริษัทที่มีแค่ 20 คนทำเสื้อเดือนละ 20 ตัว จนเราเคยทำเสื้อเป็นหมื่นตัวต่อเดือน จากเราไม่เคยมีสต็อกเลย วันหนึ่งเรากลับมีผ้าเก็บไว้มูลค่า 40-50 ล้านบาท ก็เป็นภาระที่เราจำเป็นต้องตั้งสติว่าจะอยู่ต่ออย่างไรในอาชีพนี้ไปอีกนานๆ
H: ท้อบ่อยมั้ย?
พี่เป็นคนไม่เคยท้อ (หัวเราะ) เป็นคนไม่เคยท้อเลย! ข้อดีคือพี่เป็นคนอึดและดื้อ ดื้อต่อทุกสิ่ง พี่มีวิธีคิดของพี่เอง มีความฝันของพี่เอง รู้ว่าอยากทำอะไร เป็นอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร อยากให้คนรู้สึกกับพี่ยังไง ฉะนั้นพี่จะค่อนข้างต่อสู้ให้ได้มาจากสิ่งที่คิด ล้มแล้วไม่ค่อยเจ็บ ไม่เคยคิดถึงความล้มเหลวซึ่งมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ไม่ต้องเก็บมาคิด มองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเดินไปข้างหน้า ฝึกฝนตัวเองให้เดินเร็วและแข็งแกร่งขึ้น เหมือนเป็นซาดิสม์เบาๆ ทดลองว่าตัวเองจะเดินไปได้ไกลถึงไหน รู้สึกแค่ว่าถ้าจะไปถึงฝันต้องทำงานหนักกว่านี้
H: หาแรงบันดาลสร้างแต่ละคอลเลกชั่นมาจากไหน?
เคยคุยกับ ‘พี่ต้อม-เป็นเอก’ ว่า ‘แรงบันดาลใจ’ และ ‘แพสชั่น’ เป็นวาทกรรม เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดแล้วดูเท่ หรูหรา fashionable มาก แต่ในชีวิตจริงมันคือวินัยในการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ก็เหมือนทุกอย่างในชีวิตที่เราต้องฝึก คิดทุกวัน สร้างสรรค์ทุกวัน ลองมองสิ่งรอบตัวดูว่าจะเปลี่ยนเป็นงานได้ยังไง คนชอบหรือไม่ชอบเราบังคับเขาไม่ได้ สุดท้ายแล้วเราต้องตื่นขึ้นมาทำในสิ่งที่เราควรทำและต้องทำ ไม่ต้องเพอร์เฟ็คท์ ทำที่ทำได้ เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ แล้วจะเกิดกระบวนการเรียนรู้เองว่าอะไรที่ถูกหรือผิด และต้องต่อยอดความชำนาญไปในเชิงอื่นอีก แล้วก็กลับมาที่เดิมว่าต้องฝึกคิด สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นวินัยในการใช้ชีวิตทั้งสิ้น
H: เชื่อในเรื่องเทรนด์มั้ย?
พี่ไม่เชื่อ แต่พี่ดู พี่ไม่ใช่คนเทรนดี้ เสื้อผ้าของเราก็ไม่ได้วิ่งตามกระแส แต่มันก็คงเป็นเรื่องเขลาที่จะบอกว่าเราจะทำเสื้อตกเทรนด์ เพราะผู้บริโภคของเรา ก็เป็นผู้บริโภคข่าวสารที่มีเทรนด์ เป็นแกนในการนำเสนอ ฉะนั้นเราก็เอามาปรับให้เกี่ยวโยงกับจิตวิญญาณของแบรนด์ แต่สุดท้ายแล้วแบรนด์จะอยู่ได้เพราะมีจิตวิญญาณที่มั่นคง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสังคมไม่ได้ เราจะทำให้ไงให้ย่อยสลายเทรนด์เข้ากับตัวตนของเรา ทำให้น่าเชื่อ เราไม่ได้ฝืน ความจริงใจของแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคจะมองเห็นในที่สุด จะสัมผัสได้ถึงความไม่ฉาบฉวยของแบรนด์
H: แบรนด์แฟชั่นไทยในตอนนี้?
พี่เติบโตมาในยุคปลายกราฟของยุคขาขึ้น มันก็มียุคสมัยที่เฟื่องฟูกว่านี้ต้องยอมรับ ตอนนี้อาจจะหล่นลงมานิดยนึงแต่ก็ดีกว่าเมื่อ 10-20 ปีก่อน มีคุณภาพมากขึ้นทั้งความคิด คอนเซ็ปต์ และวิธีการตัดเย็บ เป็นสากลมากยิ่งขึ้น
H: ก้าวต่อไปของคุณหมูจะเป็นยังไง?
เรามองเห็นแล้วว่าการก้าวเดินไปอย่างมีคุณค่าอย่างมีความสุข ทั้งลูกค้า คนในองค์กร และคนรอบข้าง ตัวเราเองต้องศรัทธาในสิ่งที่เราทำ ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำงานเพื่อลูกค้า แต่กำลังส่งข้อความอะไรบางอย่างออกไป แม้จะไม่ได้ซื้อเสื้อของเราไปใส่ก็ตาม ให้เขารู้ทันทีว่า Asava อยากสื่อความหมายอะไร แปลว่าอะไร มันจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จะวิ่งเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักทิศทางไม่ได้แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่ทดลองสิ่งใหม่
H: คุณหมูเรียนรู้อะไรบ้างจาก 10 ปีที่ผ่านมา?
10 ปีที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการไม่ยึดติดกับแม่บทความสำเร็จของตัวเอง ไม่ยึดติดกับวิธีทำเสื้อที่ลูกค้าชอบ เราอาจจะต้องมองหากระบวนการทำงานแบบใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ ต่อยอดตัวเองตลอดเวลา ถ้าเราอยากจะยืนได้อย่างยาวๆ เราไม่อยากให้แบรนด์แก่ ตัวเองแก่ได้แต่แบรนด์ห้ามแก่ วิธีตวัดความคิดของเรา ซึ่งอาจจะอายุน้อยกว่าเรา การเปิดโลกของเรา เปิดหูเปิดตาม การยอมรับ ทิ้งอัตตา พร้อมที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ