อินฟลูเอนเซอร์ด้านความงามระดับตัวแม่ของเมืองไทย ‘แพร์รี่พาย’ กับเสน่ห์ผ้าไทยที่เธอเพิ่งค้นพบ
เอ่ยชื่อ “แพร์รี่ พาย” (แพร์รี่พาย) หรือ ‘อมตา จิตตะเสนีย์’ เธอคืออินฟลูเอนเซอร์ด้านความงามระดับตัวแม่ของเมืองไทย อินสตาแกรมของเธอมีคนติดตามหลักล้าน ช่างเป็นฝันของใครหลายคนที่อยากประสบความสำเร็จเช่นเธอ แต่ใครจะรู้ว่าผู้หญิงคนเดียวกันนี้ เมื่อกว่าสองปีที่ผ่านมา เธอประสบอาถรรพ์ 7 year itch กับแวดวงเครื่องสำอาง ความรู้สึกโหวงเหวงเกิดขึ้นในใจพร้อมกับการถามหาเป้าหมายชีวิตอย่างถี่ซ้ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (แพร์รี่พาย)
แล้ว ‘ผ้าไทย’ผืนหนึ่งก็พาเธอไปตามหาคำตอบให้กับเจ้าคำถามคาใจนั้น
คุณแพรค่อยๆ เริ่มต้นการสนทนาด้วยการบอกเล่าถึงทุกข์ในอดีต “ชีวิตช่วงนั้นเครียดมาก รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีประโยชน์ แต่ก็ยังทำงานไปด้วย มีแค่ตัวเองที่รู้ว่าเราไม่ได้สุขจริงๆ ต่างจากตอนนี้ที่สุขได้ทุกวัน” เธอยิ้มนิดๆ ที่มุมปากพลางทอดจังหวะการเล่านิดนึง “ครั้งนั้นแพรไปเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกี่ยวกับความสำคัญของการแต่งหน้าให้ดูน่าเชื่อถือและมีความมั่นใจในตัวเอง พูดจบอาจารย์ให้ผ้าไทยเป็นของขวัญ และบอกว่าที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไทยนะ พอดีว่างก็เลยชวนเพื่อนไปดูด้วยกัน”
สองสาวเมืองกรุงมุ่งหน้าสู่ ต.ชนบท ท่ามกลางทุ่งนาเต็มสองข้างทาง ผ่านบ้านที่กำลังสาวไหมอยู่ คุยไปคุยมาเจ้าของบ้านจึงชวนเข้าบ้านไปชมคอลเลกชั่นผ้าทอของตัวเอง คุณแพรเห็นแล้วตะลึงในความสวยของผ้าทอสีเทาย้อมจากเปลือกไม้ผืนนั้น แต่พอได้ยินว่าผ้าทอ 4 เมตรราคา 3 หมื่นบาท เธอจึงต่อรองด้วยการแต่งหน้าให้ สาวชาวบ้านรุ่นราวคราวแม่ที่วันๆ อยู่แต่กับกี่ทอผ้าได้แต่งแต้มสีสันบนใบหน้า ทำเอาเจ้าตัวตื่นเต้นดีใจน้ำตาไหล และอยากอวดความงามให้เพื่อนบ้านเห็น จึงถือโอกาสพาสาวกรุงตะลอนทัวร์ทั่วหมู่บ้าน

“เห็นบ้านนี้ปลูกหม่อน บ้านนั้นสาวไหม บ้านโน้นเอาไหมมาทอ เดินไปเจอกล้วยก็เด็ดส่งให้กิน หิวน้ำก็แวะซื้อน้ำให้กินฟรีๆ ตกเย็นก็ตำส้มตำเลี้ยง แล้วยังให้คนปีนเก็บมะพร้าวสดๆ มาเฉาะให้กินอีก … ทั้งๆ ที่เราเป็นคนแปลกหน้า เจอกันครั้งแรก” น้ำเสียงและแววตาของเธอบ่งบอกความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยม “แต่ผ้าไหมสีเทาผืนนั้นพาแพรไปสัมผัสน้ำใสใจจริงของคน” จากคนที่กำลังทุกข์ สับสนในชีวิต ได้เจอน้ำใจจากคนใจดี มีความเมตตาเอ็นดูมอบให้จากใจจริง ทำให้คุณแพรรู้สึกตื่นเต้นกับชีวิตเหมือนได้พบโลกใบใหม่
คุณแพรนำผ้าไหมสีเทาผืนนั้นไปตัดสูทใส่ไปงานแฟชั่นโชว์ของDiorที่ปารีส “มีแต่คนเดินเข้ามาชมว่าสูทคุณเท่มากสวยมาก นี่คือผ้าอะไรเหรอ” นั่นคือการจุดประกายให้เธอเขยิบใกล้ผ้าไทยขึ้นไปอีก
เธอกลับเมืองไทยด้วยหัวใจพองฟูว่า ‘ผ้าไทยเวิร์กแฮะ ใส่แล้วรู้สึกเท่ดี และก็แมตช์กับแอคเซสซอรีส์อย่างอื่นได้’ เหมือนจังหวะชีวิตจะลิขิตไว้ หลังจากนั้นคุณแพรมีโอกาสลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ โดยมีเจ้าถิ่นอย่าง ‘คุณแนน-ชิดชนก ชิดชอบ’ พาไปเจอป้าสำรวย “ป้าพาขึ้นภูเขา เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศในป่า ได้รู้จักการนำสีธรรมชาติมาย้อมผ้า ได้รู้จักผ้าภูอัคนีว่ามีสีส้ม สีชาไทย สีชมพูจากดินภูเขาไฟในจังหวัด ขาลงก็เก็บขยะติดมือลงมาทิ้ง และก็แวะเก็บหน่อไม้กับเห็ดมาทำอาหาร” ชีวิตที่เคยแวดล้อมด้วยสรรพวัตถุมาหลายปี เจอความเรียบง่ายของธรรมชาติเข้าไป ไม่เพียงทำให้คุณแพรอยากรู้และตื่นเต้นกับสิ่งใหม่รอบตัว หากเธอยังนำมาต่อยอดใช้ปรับทัศนคติและการมองโลกของตัวเองอีกด้วย
คุณแพรเรียนที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 15 ปี จบด้านการออกแบบการแสดงจาก Central Saint Martins เธอเปิดใจบอกเราตรงๆ ว่า “แพรอาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับผ้าไทยได้ไม่มาก เพราะนี่คือสิ่งใหม่ในชีวิตที่แพรกำลังศึกษาและเรียนรู้อยู่ แต่ผ้าไทยทำให้การเดินทางในชีวิตแพรดีขึ้นกว่าเดิม” อีกครั้งที่เธอพรั่งพรูความรู้สึกลึกๆ ในใจออกมา “เราไปเรียนเมืองนอกมานาน ไม่เคยสังเกตเห็นสิ่งเล็กน้อยรอบตัวที่เมืองไทยเลย ไม่ว่าจะขนบธรรมเนียม ประเพณี อาหาร สมุนไพร พืชท้องถิ่น หรือผ้าไทย ตอนนี้ชีวิตแพรสุขอีกแบบ อาจเพราะโตขึ้นได้เห็นอะไรมากขึ้นด้วย แพรมาถึงจุดที่ชีวิตไม่ใช่แค่ตัวเราอีกต่อไปแล้ว การได้นึกถึงคนอื่น ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น นี่คือความสุขในทุกวันนี้”
เราสัมผัสได้ถึงความนิ่งและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในตัวคุณแพร และสิ่งที่เห็นชัดเจนคือการแต่งกายที่เปลี่ยนไปของเธอ “แพรไม่รู้หรอกว่าผ้าไทยเอามาใส่ยังไง แต่รู้สไตล์ตัวเองว่าเป็นแบบไหน รู้ว่าแพรนุ่งผ้าถุงใส่ก้าวขึ้นบีทีเอสได้ไม่สะดวก ก็แค่ปรับให้การใส่ผ้าไทยเหมาะกับวิถีชีวิตตัวเอง แพรเริ่มต้นจากความโง่และบ้ามากที่เอาผ้าไหมสีเทาผืนนั้นมาตัดสูท ทั้งที่ด้วยราคาและความสวยของเนื้อผ้าแล้ว ควรได้ใช้เนื้อผ้าได้เต็มที่กว่านั้น แต่ตอนนี้กลับรู้สึกว่าสูทตัวนั้นคุ้มค่ามาก แพรชอบถ่ายรูปและการเดินทางจะมีลิสต์จุดหมายปลายทางที่ถือเป็นเป้าหมายอย่างนึงในชีวิต การใช้ผ้าไทยของแพรจึงขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จะนำไปใส่ อย่างไปไร่ชาชิซึโอกะที่ญี่ปุ่นก็ใส่ผ้าสีเขียว ไปดูมินเนี่ยนที่ยูนิเวอร์แซลฯ ก็ใส่สีเหลือง ไปอินเดียก็ใส่เดรสผ้าไหมสีชมพู เวลาไปเมืองนอกแล้วใส่ผ้าไทย นอกจากภูมิใจแล้ว แพรไม่เคยเขินเลย เพราะทุกชุดที่ใส่ตัดเย็บในสไตล์เราจริงๆ
“ไม่อยากให้คนใส่ผ้าไทยเพราะเห็นคนอื่นใส่ แต่อยากให้รู้ถึงที่มาและเห็นคุณค่าของผ้าไทยก่อน เพราะผ้าไทยเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเองและทุกคนสวมใส่ได้จริงๆ แค่หาแนวทางที่ชอบและเหมาะกับสไตล์ตัวเองให้เจอ ถึงแพรจะตัดผ้าไทยเป็นชุด แต่เรารู้ว่าจะมิกซ์แอนด์แมตช์ยังไงให้กลับใส่ได้เรื่อยๆ ยิ่งได้ชมสารคดีในเน็ตฟลิกซ์เรื่อง The True Costได้รู้มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจฟาสต์แฟชั่น ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความฉาบฉวยของแฟชั่น แต่ผ้าไทยเป็นสิ่งที่ใส่ได้เรื่อยๆ

“ใครที่ยังหาสไตล์ตัวเองไม่เจอ แพรแนะนำให้กลับไปเปิดตู้เสื้อผ้าดู อย่างแพรจะเห็นว่ามีกระโปรงทรงพองๆ เยอะ เพราะเป็นคนมีพุง มีเอว และขาใหญ่ กระโปรงทรงนี้จะทำให้ดูขายาวขึ้นและปัญหาเหล่านั้นหมดไป การเริ่มต้นกับผ้าไทยไม่ใช่เรื่องยาก การแต่งตัวเป็นแค่เพียงเรื่องหนึ่ง แต่วัฒนธรรมต่างหากที่สำคัญ อยากให้ไปลองเดินงาน OTOPจากที่แพรเคยรู้สึกว่าเป็นอีเวนต์ของคนมีอายุ แต่เดี๋ยวนี้เหมือนได้กลับมารักรากเหง้าของตัวเอง การเป็นตัวเองไม่ใช่เรื่องน่าอายสักหน่อย มันคือสิ่งที่เจ๋งมากต่างหาก ทุกวันนี้แพรสนุกกับการเรียนรู้เรื่องสีจากธรรมชาติ ยิ่งศึกษายิ่งทึ่ง สีที่ชอบที่สุดตอนนี้คือโทนส้มนม ชมพูนมจากดินภูเขาไฟของบุรีรัมย์ แต่ยังมีสีจากธรรมชาติอีกมากมายรอให้แพรได้ไปรู้จัก นี่แค่ในภาคอีสาน ยังไม่ได้ไปภาคอื่นเลย
“อยากให้ทุกคนหันมาชื่นชมกับสิ่งเล็กน้อยใกล้ตัว เพราะนี่คือการปลดล็อกชีวิตตัวเอง ด้วยการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คำถามว่าเราเกิดมาเพื่ออะไรยังคงดังก้องอยู่ แต่แพรไม่โฟกัสที่คำตอบอีกแล้ว เพราะไม่สำคัญแล้วว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทางต่างหากที่สำคัญมากกว่าสำหรับแพร”