ชีวิตคือการต่อสู้ เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่นอกจากการต่อสู้เพื่อความสุขของชีวิตก็ว่าหนักหนาแล้ว สิ่งที่ยากกว่านั้นก็คือการต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมะเร็ง และเป็นการต่อสู้ที่ต้องการกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ หากสามารถมองทุกอย่างเป็นแง่บวก แม้จะเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งก็ไม่อาจทำร้ายผู้ป่วยได้ ( การต่อสู้กับมะเร็ง ของ คุณแอ๋ม ศีรวีย์ ยุกตะทัต )

คุณแอ๋ม-ศีรวีย์ ยุกตะทัต…ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอคือลูกสาวอดีตนายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่ พลอากาศโทวินัย ยุกตะทัต และเคยเป็นแอร์โฮสเตสสุดเปรี้ยวที่เคยผ่านงานมาแล้วถึง 3 สายการบิน


คุณแอ๋มผ่านการแต่งงานมาแล้วสองครั้ง เธอมีลูกคนแรกคือคุณบอม (ณพวัชร คชาชีวะ เป็นนักดนตรีวง Retrospect) กับอดีตสามีคนแรก และลูกคนที่สอง คุณแอริน (สิรีภรณ์ ยุกตะทัต นักแสดงที่เรารู้จักดี) กับคนเล็ก คุณอินดี้ (นนทพันธ์ ยุกตะทัต ว่าที่นักบินของการบินไทย) กับสามีคนที่สองซึ่งเป็นอดีต AA การบินไทย ซึ่งเธอต้องรับหน้าที่เป็นหลังบ้าน AA ต้องย้ายตามสามีไปประจำประเทศต่างๆ และหลังจากหย่ากับอดีตสามีคนที่สองแล้ว คุณแอ๋มก็สวมบทบาทคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติที่มีค่าเทอมสูงลิ่วจนกระทั่งจบ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคุณแม่แอ๋มเป็นอย่างมาก
แต่การต่อสู้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวที่จบลงไป ก็คงเหมือนความสงบที่เกิดขึ้นก่อนพายุ เมื่อจู่ๆเธอต้องต่อสู้กับมะเร็งร้าย
คุณแอ๋มรอดพ้นจากมะเร็งมดลูกที่คุกคามไปถึงปอด จนต้องตัดปอดส่วนหนึ่งทิ้ง ต้องผ่านกระบวนการรักษาที่สร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส โดยมีลูกๆทั้งสามเป็นกำลังใจที่ช่วยให้เธอผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติของชีวิตในครั้งนี้มาได้
เธอเล่าว่า สัญญาณแรกของโรคเกิดขึ้นเมื่อสี่ปีก่อน
“เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก็ไปซื้อยา เภสัชกรก็ให้ยาสำหรับคนที่กลั้นไม่อยู่มาทาน แต่ก็ยังไม่หาย ต้องใส่ผ้าอนามัยบางๆเพื่อคอยซับ จากแผ่นบางก็เป็นแผ่นหนา จนกระทั่งต้องเปลี่ยนวันละ 4-5 แผ่น ก็ยังไม่ไปหาหมอ เพราะคิดว่ามันใสไม่มีเลือดปน น่าจะเป็นอาการของผู้หญิงวัยทอง จนวันหนึ่งเราสังเกตว่ามันไม่ใช่ปัสสาวะแล้ว แต่มีความเหนอะเหมือนน้ำเหลือง แล้วก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆด้วย ก็เลยไปเสิร์ชกูเกิลดู ปรากฏว่าน่าจะเป็นมะเร็ง

“เลยบอกแอก่อนคนแรกว่าแม่อาจจะเป็นมะเร็งนะ เขาก็ไม่อยากเชื่อ เพราะเขาเห็นเราแข็งแรงมาตลอด แม้จะไม่ได้ออกกำลังกายมากมาย ปกติจะตีกอล์ฟ แต่เราค่อนข้างแน่ใจเพราะคุณยายแอ๋มก็เป็นมะเร็งปากมดลูก ตอนที่แอ๋มยังเรียนอยู่คุณแม่ก็เป็นมะเร็งลำไส้แต่โชคดีรักษาทัน ต้องตัดลำไส้ทิ้ง เลยคิดว่าน่าจะเป็นกรรมพันธุ์ ก็ไปบอกอินดี้ เขาถึงได้บอกให้พี่แอพาแม่ไปหาหมอนะ แอก็บอกว่าจะหาหมอเก่งๆให้เลย ระหว่างที่นั่งรถไปเขาก็ยังบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก แม่มโนไปเอง”
คุณหมอให้เธอเข้าห้องตรวจ และให้ขึ้นขาหยั่ง แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร อารามตกใจคุณหมอจึงทำข้าวของล้มตกหล่น เพราะภาพที่เห็นคือก้อนเนื้อขนาดใหญ่กว่าลูกเทนนิส
“เปิดมาปั๊บมันก็โผล่ออกมาแล้ว แต่เราไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย แล้วหน้าท้องก็ไม่บวม ถึงได้มีน้ำเหลืองออกมา แล้วหมอก็ไม่พูดอะไร ออกจากห้องไปเลย เขาคงตกใจ พอออกจากห้องตรวจ เข้าไปในห้องหมอ เห็นสองคนนั่งกอดกันน้ำตาไหลพรากอยู่ที่พื้น จากที่แอนั่งหัวเราะมานะ”
คุณแอรินซึ่งนั่งฟังอยู่ข้างๆเสริมว่า “หมอเรียกลูกเข้าไปคุยว่า แม่จะมีชีวิตอยู่ไม่รู้อีกกี่วัน”
“เพราะมันเกือบถึงขั้นสุดท้าย ระยะ 3B แล้ว” คุณแม่แอ๋มบอกกับเรา “มันมี 3A กับ 3B ก็ถามหมอว่าอยู่ได้นานแค่ไหน เขาบอกว่าอยู่ที่สุขภาพของตัวเอง ณ วินาทีนั้นไม่ได้ตกใจ เพราะเตรียมใจมาก่อนแล้ว ยังคิดเลยว่าเราคงอยู่ได้อีกแค่ 2-3 ปีมั้ง หมอบอกว่าต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุด เริ่มแรกไปคลินิกนอกเวลาของรามาธิบดีก่อน แต่รถติดมากไปกลับ 4 ชั่วโมง ตรงนี้แหละที่จะตาย (หัวเราะ) เนื่องจากแผนกรังสีที่โรงพยาบาลภูมิพลปิดปรับปรุง ปรากฏว่าจากนั้นไม่นานทางโรงพยาบาลภูมิพลโทรมาบอกว่า แผนกรังสีวิทยาเพิ่งเปิดเมื่อสองสามวันนี้เอง มันเหมือนโชคช่วย ก็เลยรีบไปหาหมอ”
หมอบอกว่าผ่าไม่ได้ เพราะเชื่อมกับอวัยวะหลายอย่างมาก สุดท้ายหมอจึงตกลงว่าฉายแสง 40 ครั้งก็แล้วกัน จากนั้นจึงให้คีโม “แรกๆก็ไม่เป็นอะไร แต่ตอนหลังรู้สึกว่ามันพุพอง จากนั้นหมอบอกว่าให้ฝังแร่อีก 4 ครั้ง ทำให้นึกถึงคุณยายซึ่งเป็นมะเร็งที่เดียวกัน คุณยายก็เคยฝังแร่ แต่ไม่เคยเห็นคุณยายร้องไห้เลย ก็เลยไม่รู้สึกกลัว ครั้งแรกลูกๆไปให้กำลังใจพร้อมกันหมดเลยทั้งสามคน เขาวางยาสลบและฝังท่อเหล็กเข้าที่ก้อนเนื้อประมาณ 4-5 แท่ง จากนั้นย้ายเราไปอีกตึก ก็เลยต้องปลุกเราตื่น ระหว่างที่ทุกอย่างคาอยู่ในตัว

“พอฟื้นมาเท่านั้นแหละ รู้สึกเหมือนมีเหล็กแหลมๆ 4-5 อันแทงเราอยู่ เจ็บปวดทรมานมาก เหมือนโดนแทงแล้วคาอยู่อย่างนั้น จำได้ว่าร้องกรี๊ดออกมาเลย โอ๊ยๆ…เจ็บ…เจ็บเหลือเกิน ร้องอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ตึกหนึ่งจนถึงอีกตึกหนึ่ง คนเดินผ่านไปผ่านมาก็มองเราหมด เราก็คิดในใจว่าช่างเถอะ ไม่องไม่อายมันแล้ว เพราะว่ามันเจ็บ นี่คือตัวเรา เราอยากระบาย พอเข้าห้องฝังแร่เขาก็เอาสายระโยงระยางมาต่อที่ท่อ แล้วปิดประตูให้เราอยู่คนเดียว อากาศในนั้นหนาวจัดจนเราตัวสั่น ระหว่างที่เขาเดินแร่ก็ร้อง เพราะเจ็บปวดทรมานมาก ร้องเรียกพ่อจ๋าแม่จ๋า ช่วงที่เดินแร่ประมาณ 40 นาที เป็นอะไรที่เราจะขาดใจ”
ครั้งแรกผ่านไป ครั้งที่สองตามมา คุณแอ๋มเริ่มหนักใจกับการฝังแร่ที่สร้างความเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส
“พอจะถึงครั้งที่ 2 ทำใจอย่างหนักมากเลย ขอหมอว่าให้สลบไปตลอดเลยไม่ได้หรือ เพราะตอนเดินแร่ว่าเจ็บแล้วนะ ตอนดึงออกเจ็บยิ่งกว่า เพราะเขาดึงสดๆเลย ครั้งแรกใช้หมอ 2 คน เพราะเขายังไม่รู้ฤทธิ์ว่าเสียงเราขนาดไหน ต้องนับ 1 2 3 แล้วดึง แล้วไม่ใช่ดึงแบบทีเดียวออกเลยนะคะ ต้องดึงทีละนิด ดึงแต่ละทีเราก็ร้องกรี๊ด เสร็จไปหนึ่ง เอ้า…อันต่อไป ยังไม่หมดอีกหรือคะหมอ ยังค่ะ…อดทนหน่อย อีกนิดนะคะ ครั้งที่ 2 ลูกๆไม่มาเลยค่ะ เขารู้ว่าแม่เจ็บมาก สงสารแม่ เขารับไม่ได้ พอครั้งที่สาม หมอเห็นเราแข็งแรงพอ เพราะเราก็ขอคุณหมอว่าครั้งนี้คงทนไม่ไหวแล้วนะหมอ หมอบอกถ้าอย่างงั้นเบิ้ลยาเลยแล้วกัน เสร็จแล้วอาจจะเพลียหน่อยนะ เราก็บอกคุณหมอเดี๋ยวแอ๋มจะอดทน แต่ปรากฏว่าก็กรี๊ดเหมือนเดิม (หัวเราะ) แล้วเลือดออกอยู่ประมาณสองสามวัน เดินไม่ได้ ลุกไม่ได้ นอนโรงพยาบาลหนึ่งคืน หมอให้นอนสองคืน แต่เราเบื่อ แค่ไปโรงพยาบาลทุกวันก็เบื่อแล้ว”
ยกสอง
ภายหลังการรักษาผ่านไปราว 4-5 เดือน ปรากฏว่าก้อนเนื้อยุบลงจนไม่หลงเหลือร่องรอย คุณแอ๋มสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้ จากการตรวจเป็นประจำทุกเดือน ก็ค่อยๆทิ้งช่วงห่างเป็นทุกๆสามเดือน แล้วจากสามเดือนก็เป็นหกเดือน จนกระทั่งผ่านไปสองปี
“หมอบอกพี่สบายแล้ว แต่ขอทำ CT สแกนอีกหน เพื่อให้แน่ใจว่ามีอะไรอีกไหม ปรากฏว่ามีก้อนเนื้อขนาดเซ็นต์กว่าไปจับที่ขั้วปอดกับขั้วหัวใจ หมอก็บอกขอเอ็กซเรย์ปอดอีกทีนะ ทีนี้ละเห็นชัดเลย หมอบอกเขากระเด็นมาไกลจัง จากข้างล่างขึ้นข้างบน แล้วไม่ใช่ก้อนเนื้อธรรมดา ซึ่งเขาขอเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ ก็ยังเจาะไม่ได้ หมอบอกว่าเจาะแล้วอาจจะหลับไปเลยก็ได้ ก็เรียกลูกทุกคนมาฟังว่าการผ่าตัดครั้งนี้มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ถ้าพลาดอาจจะเป็นเจ้าหญิงนิทรา หรือไม่ก็อัมพาตทั้งตัว” คุณแอ๋มพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ
“แต่แอรู้สึกว่ามันน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้” ลูกสาวคนกลางช่วยเสริม เธออยากได้ second opinion จากหมอท่านอื่น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ
คุณแอ๋มจึงติดต่อเพื่อนที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และนัดให้ไปพบหมอที่นั่น เธอเล่าว่าพอเปิดประตูเข้าไป ก็เจอคุณหมอฉันชาย คู่แฝดของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอด ซึ่งเธอคลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นลูกของเพื่อนคุณพ่อ
“เขาจำแอ๋มได้ ก็บอกว่าเดี๋ยวผมจัดการให้ไปหาคุณหมอวิชัย ซึ่งเป็นหมอหัวใจที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และจะเป็นคนผ่า ไปแอดมิทได้เลยอาทิตย์หน้า จัดห้องให้อย่างสะดวกสบาย ทำให้เรารู้สึกสบายใจ”
คุณหมอตัดปอดทิ้งส่วนหนึ่งพร้อมกับต่อมน้ำเหลือง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อมะเร็งลุกลาม
“เขาบอกว่าตัดไปกลีบหนึ่งไม่มีปัญหาหรอก และหมอก็ตัดต่อมน้ำเหลืองออกหมดเลย หมอบอกว่าถ้าเราดูแลร่างกายดี ไม่ออกกำลังกายหักโหม ไม่ยกของหนัก ปอดก็มีสิทธิ์งอกใหม่ได้ นอนพักฟื้นอยู่สิบวัน ระหว่างนั้นหมอต้องมาเฝ้าดูว่าของเสียที่ออกมาจากขุ่นจนกลายเป็นใสไม่มีอะไร ถึงได้ให้กลับบ้าน ก็รู้สึกโชคดีที่เราเจอหมอเฉพาะทางที่เก่งที่สุด ทีนี้ทางโรงพยาบาลภูมิพลก็ถามมาว่าเราได้รับผลตรวจก้อนเนื้อมาหรือเปล่า ก็บอกว่าเปล่า เลยไลน์ถามหมอฉันชาย”
ระหว่างรอคำตอบจากคุณหมอ คุณแอ๋มภาวนาว่าอย่าให้เป็นชนิดเดียวกับชนิดที่เกิดขึ้นครั้งแรกเลย เพราะหากเป็นชนิดเดียวกันเธอจะต้องไปให้คีโมต่อ แต่ครั้งนี้พระเจ้าไม่เข้าข้าง ก้อนเนื้อเป็นชนิดเดียวกัน และหมอบอกว่าคราวนี้จะต้องให้คีโม 6 ครั้ง แต่ว่าให้ทางเส้นเลือดไม่ได้ ต้องเจาะเส้นเลือดใหญ่ที่อก (Port)
“แอ๋มไม่ยอมเจาะ เพราะมีน้องเพื่อนเจาะแล้วฝังไว้เลย จะได้ไม่ต้องเจาะอีก แต่มันติดเชื้อได้ ก็เลยเลือกให้ทางเส้นเลือด แต่เนื่องจากเส้นเลือดเราทั้งเปราะแล้วก็ตีบ ก็ต้องให้หมอศัลยกรรมมาหาเส้นให้ ต้องคว้านเส้นเลือดเจ็บเสียยิ่งกว่าผ่าตัด ต้องหาหมอนใบหนึ่ง กับผ้าอีกผืนหนึ่งมากัด พร้อมกับหลับตาไม่ให้เห็น เขาก็คว้านๆๆๆๆจนกว่าจะได้ บางทีมันได้ตรงที่เราเจ็บนั่นแหละ แล้วเวลาให้คีโมก็จะเจ็บคาอยู่อย่างนั้นทีละหยดๆจนครบ 9 ชั่วโมง หยดหนึ่งเจ็บจนน้ำตาไหล แต่ไม่ถึงขนาดทนไม่ไหว ทว่ามันแสบ หมอฉีดยาให้หลับ ก็หลับไปแค่วูบหนึ่ง แล้วเขาไม่ได้ให้คีโมชนิดเดียวกันตลอดนะคะ เพราะแรงไป จะให้ทั้งหมด 8 ขวดแต่ว่าสลับกัน เพราะเดี๋ยวตับพัง ไตพัง”

การผ่าตัดปอดและการให้คีโมทิ้งระยะห่างกันเพียงสองอาทิตย์เท่านั้น ร่างกายจึงอ่อนแอยากจะรับมือกับคีโมไหว แต่คุณแอ๋มก็พยายามอดทน
“แอ๋มมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแล้วหาย เขาก็มาให้กำลังใจ ปรากฏว่าตอนหลังเพื่อนคนนี้มะเร็งกลับมาเหมือนกัน และให้คีโมจนกระทั่งเสียชีวิต พยาบาลถามพี่คะ ปากเริ่มเป็นแผลหรือยัง เราจำได้ว่าเพื่อนคนนี้ก่อนเสียก็ปากเป็นแผลพุพองหมดเลย ต้องให้อาหารทางจมูก พอพยาบาลถามปากเราเริ่มเป็นแผลนิดหนึ่ง ทำให้นึกถึงเพื่อน คิดในใจว่าถ้าไม่ไหวจริงๆจะหนี หมอนัดเจาะportก็ไม่เจาะ
“พอให้คีโมได้ 3 ครั้งก็เลิกเลย แต่เราก็ไม่ประมาท พอดีรู้จักคุณหมอนิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์พอดี ก็ไปทำ PET สแกนอย่างละเอียดเลย เพื่อความสบายใจว่าไม่มีอะไร ก่อนจะหนีคีโม หมอหลายท่านก็บอกว่าแอ๋มทำไปตอนนี้ก็ไม่เห็นผลหรอก เพราะว่าเราเพิ่งผ่าตัด แต่สแกนไว้แหละดี และต้องทำเป็นประจำทุกปี หมอที่จุฬาฯก็บอกว่าอยู่ได้อีก 10 ปี ก็ยังคุยกับหมอเล่นๆเลยว่า ขอ 20 ปีได้ไหม ลูกยังไม่แต่งงานเลย อยากเห็นหลาน” คุณแอ๋มพูดพลางยิ้มกว้างให้ลูกสาวคนเดียวของเธอที่มาให้กำลังใจ

ผู้หญิงใจเพชรคนนี้พูดถึงสิ่งที่เกิดกับชีวิตอย่างผู้ที่ผ่านโลกมาอย่างรู้เท่าทัน เราได้แต่เอาใจช่วยว่าเธอคงจะได้อุ้มหลานในเร็ววัน “ แอ๋มรอวันที่แอ๋มจะได้หมดห่วงในชีวิตจริงๆเสียที โดยมีกำลังใจที่ดีที่สุดนั่นคือลูก สายเลือดที่เราพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อเขามาทั้งชีวิต พร้อมกันนี้แอ๋มขอส่งแรงใจให้ทุกท่านที่กำลังเผชิญกับโรคร้ายนี้ด้วยนะคะ”
ติดตามเรื่องราวแบบเจาะลึกได้ใน HELLO! ฉบับวันที่ 19 ก.ค. 2561 วางแผงแล้ววันนี้! หรือติดตามฉบับดิจิตัลได้ที่ www.ookbee.com/Shop/Magazine/HELLO