Home > Celebrity > Exclusive Interviews > บ้านสุขเวศม์ และบ้านมะขามโทน หัวหินในความทรงจำของ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี

ปีพ.ศ. 2452 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสำรวจเส้นทางก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ต่อเนื่องจากสถานีบ้านชะอำที่เพชรบุรี ระหว่างการสำรวจนี้เอง วันหนึ่งมิสเตอร์กิตตินส์ (Henry Gittins) วิศวกรชาวอังกฤษ เลขานุการกรมรถไฟหลวง และผู้อำนวยการสร้างทางรถไฟสายใต้ ชวนทีมงานเดินลัดป่าละเมาะไปทางตะวันออก และทันทีที่โผล่พ้นป่าทุกคนถึงกับยืนตะลึง เมื่อเห็นหาดทรายและหมู่หินเรียงราย พร้อมทั้งน้ำทะเลใสสะอาดเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของคณะทำงานเป็นอย่างมาก

ภายหลังมิสเตอร์กิตตินส์นำเรื่องนี้ไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงและเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมทรงทราบ มีพระวินิจฉัยว่า ‘อากาศในตำบลนี้แห้งและเย็นสบายผิดกว่าที่อื่น เป็นที่สำหรับคนป่วยไปพักรักษาตัวแลคนธรรมดาไปพักตากอากาศ’ จึงทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้ไปซื้อที่ดินชายทะเลหัวหิน สำหรับสร้างบ้านพักตากอากาศ

บ้านสุขเวศม์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร ต้นราชสกุลกฤดากร) เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สร้างพระตำหนักหลังใหญ่ขึ้นทางด้านใต้ของกลุ่มหินริมหาด และได้ประทานชื่อตำหนักว่า ‘แสนสำราญสุขเวศม์’ และทรงขนานนามชายหาดหน้าตำหนักและชายหาดถัดไปทางใต้เสียใหม่ว่า ‘หัวหิน’ ต่อมาชื่อหัวหินก็ครอบคลุมไปทั้งตำบล และอำเภอหัวหินในปัจจุบัน

ต่อมากรมพระนเรศฯ ทรงปลูกอีกหลังหนึ่งแยกเป็น ‘แสนสำราญ’ และ ‘สุขเวศม์’ เพื่อใช้รับเสด็จเจ้านาย พร้อมทั้งทรงสร้างเรือนขนาดเล็กใต้ถุนสูงขึ้นอีกหลายหลัง ซึ่งต่อมาคือ ‘บังกะโลสุขเวศม์’ และ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือคุณหญิงต้น ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ก็เป็นผู้หนึ่งที่เดินทางมาพักผ่อนที่สุขเวศม์เป็นประจำทุกเดือนเมษายนเรื่อยมาตั้งแต่จำความได้ เมื่อคุณหญิงต้นมีอายุได้ขวบเศษ คุณชายยงสวาสดิ์จึงพาไปพักที่หัวหินด้วย และกลายเป็นธรรมเนียมว่าเดือนเมษายนของทุกปีเธอจะไปอยู่ที่บ้านสุขเวศม์กับคุณย่า

“ทุกซัมเมอร์ต้นจะไปอยู่หัวหินกับคุณย่าและแม่ (ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา) ส่วนพ่อจะมาทุกเสาร์อาทิตย์ เพราะวันธรรมดาพ่อต้องทำงาน ซึ่งสมัยนั้นแทบทุกบ้านสามารถเดินถึงกันได้และทุกคนจะรู้จักกันหมด ข้างบ้านเราก็คือบ้านน้อย ซึ่งเป็นบ้านของท่านย่า (หม่อมเจ้าหญิงผจงจิต กฤดากร) ซึ่งเป็นน้องของท่านปู่ (หม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร) ที่ทำร้านโขมพัสตร์ ถัดไปเป็นบ้านสมประสงค์ บ้านสมปรารถนา

“ต้นยังจำได้ไม่ลืมว่า สายๆ คุณย่าท่าน (ม.ล.บัว กิติยากร) จะขับรถเองเป็นรถเบนซ์สี่ประตูสีดำมาหาคุณย่าอยู่เสมอๆ ท่านจะผูกผ้าโพกผม ยิ่งทำให้ดูเก๋มากในสายตาเด็กๆ อย่างต้น เพราะสมัยนั้นผู้หญิงขับรถเองมีน้อยนะคะ กิจกรรมของผู้ใหญ่นอกจากมาเยี่ยมเยียนกันแล้ว บ่ายๆ ก็เล่นไพ่ตองที่ใต้ถุนตำหนักปลุกเกษมในวังไกลกังวลที่คุณท่านพำนักอยู่ ช่วงเย็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวงจะเสด็จฯ ลงเสวยที่ศาลาเริง พวกผู้ใหญ่ก็จะไปเข้าเฝ้าฯ

“สมัยคุณย่ายังอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะเสด็จฯ มาเสวยพระสุธารสทุกปี ตอนบ่ายพระองค์ท่านจะทรงเรือใบมา ส่วนสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จฯ พร้อมกับทูลกระหม่อมฯ ทางรถยนต์ พอมาปีหลังๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเลิกเล่นเรือใบ ก็ทรงขับรถยนต์มา บ้านสุขเวศม์จึงเป็นสถานที่ในประวัติศาสตร์สำหรับครอบครัวเรา”

ส่วนกิจวัตรประจำวันที่บ้านสุขเวศม์ของเด็กๆ อย่างคุณหญิงต้นนั้น จะเริ่มด้วยการลงเล่นน้ำทะเลตั้งแต่เช้าตรู่ “เช้าก็ลงน้ำ อยู่แต่ในทะเล เล่นเสร็จขึ้นมาทานกลางวัน แล้วก็ขี่จักรยานวนอยู่ในบ้าน เพราะบ้านใหญ่ที่เยอะ คุณย่ามีบ้านให้เช่าด้วย ชื่อคล้องจองกัน ใจชื่นรื่นอารมณ์ รับลมทะเลเจริญสุข ตกบ่ายขี่ม้า ก็เล่นซนเป็นทอมบอยอยู่อย่างนั้น แล้วพอต้นมารู้จักพี่น้อง(จีรานุช ภิรมย์ภักดี) ตอนสิบขวบ ทำให้มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ก็เล่นน้ำเล่นเรือด้วยกัน ต้นกับพี่น้องคอเดียวกันสกีน้ำเราก็หัดเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นหน่อยถึงเปลี่ยนมาขี่มอเตอร์ไซค์ สมัยนั้นซนอยากจะลอยได้แบบสิงห์ทะเลทราย ปรากฏว่าลอยแล้วตกลงมาตุ้บสลบ (หัวเราะ) ก็เล่นกันเฮฮา

“เล่นเสร็จจึงทานกลางวัน แล้วก็กลับลงไปเล่นต่อเมนูประจำคือก๋วยเตี๋ยวหาบ ไม่ก็ขนมจีน สมัยก่อนอยู่กันพร้อมหน้าคุณพ่อคุณแม่ของพี่นิดหน่อย พ่อแม่ต้นก็จะมาทานด้วยกันทุกมื้อ ผลัดกันทำอาหารเลี้ยงครอบครัวใหญ่ค่ะ ตกเย็นก็รับประทานอาหารกันที่บ้านหน้าหนาวก็สนุกทำฟองดูทีต้องตั้ง 5 – 6 หม้อ เราไม่ค่อยออกไปไหนค่ะ”

รูปแบบการใช้ชีวิตที่หัวหินของคุณหญิงต้นเป็นกิจวัตรอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งคุณย่าถึงแก่กรรมเมื่อราว 30 ปีก่อน จึงมีการแบ่งที่ดินมอบให้แก่บรรดาลูกหลาน จากนั้นคุณชายยงสวาสดิ์จึงซื้อคอนโดมิเนียมเป็นที่พำนัก

“ตอนหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวงประทับที่หัวหินเป็นระยะเวลายาว แม่ก็ต้องอยู่คนเดียว แต่บ้านใหญ่มากบนเนื้อที่เกือบ 20 ไร่ จึงพักที่คอนโดมิเนียมเพื่อความสะดวกสบายและปลอดภัย ส่วนบ้านเก่าก็รื้อไปจนเมื่อไม่นานมานี้จึงตกลงให้ทางแสนสิริเช่าระยะยาวเพื่อทำเป็นโรงแรม”

จากบ้านสุขเวศม์ซึ่งเป็นความทรงจำในวัยเด็กของคุณหญิงต้น เมื่อออกเรือนมามีครอบครัวเป็นของตนเองคุณจำนงค์ ภิรมย์ภักดีซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณนิดหน่อย (จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี) สามีของคุณหญิงต้น ได้มอบที่ดินในหัวหินให้แก่คุณนิดหน่อย เพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศของครอบครัว และให้ชื่อว่า ‘บ้านมะขามโทน’

“บ้านมะขามโทนสร้างมา 20 ปีแล้วค่ะ บนที่ดินที่คุณพ่อพี่นิดหน่อยมอบให้ เราจึงตัดสินใจสร้างบ้านตรงนี้ก็แล้วกัน และต้นบอกสถาปนิกว่าต้องการบ้านแบบที่มีอยู่ทั่วไปในหัวหินสมัยเรายังเด็ก โดยติดประตูบานเฟี้ยมเพื่อให้สามารถเปิดโล่งได้หมด

“กิจกรรมสมัยนี้เช้ามาก็ยังเล่นน้ำเหมือนเดิม เราจะเรียกกันเล่นๆ ว่า Makhamtone Ski School เด็กๆ จากบ้านที่รู้จักกันดีจะมาเล่นน้ำและหัดสกี คุณพ่อคุณแม่ของพี่นิดหน่อยก็ใจดีอนุญาต เด็กๆ จากทุกบ้านแถบนั้นก็จะมารวมตัวกันที่หาด เพื่อเล่นกีฬาทางน้ำ เล่นเสร็จแล้วก็ทานกล้วยแขกกันสนุกสนาน เด็กรุ่นพี่ก็จะสอนรุ่นน้อง เป็นอย่างนี้มาทุกรุ่น คณะของตุ๊ย (ทิพนันท์ ศรีเฟื่องฟุ้ง) ก็สอนเจน (กฤติญา มหาดำรงค์กุล) ตอนนี้มาสอนลูกเจนแล้ว (หัวเราะ)”

ทุกวันนี้แม้ว่าบ้านสุขเวศม์จะไม่มีอยู่แล้ว แต่จิตวิญญาณของหัวหินก็ยังคงอยู่ที่บ้านมะขามโทน และจะยังคงตราตรึงในความทรงจำของคนรุ่นหลังเรื่อยไป


ติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 15 ฉบับที่ 07  ประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม  2563

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com www.shop.burdathailand.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.