Home > Celebrity > Exclusive Interviews > ‘ปวริศร์ โชติกเสถียร’ ถ่ายทอดความอบอุ่นของครอบครัวใหญ่ ‘โชติกเสถียร’ สายพระวิทยุทูรลิขิต 

แม้ในปัจจุบันลูกหลานและเครือญาติสกุล โชติกเสถียร จะมีไม่น้อยกว่า 500 คน แตกแขนงออกเป็นหลายสาย แต่ศูนย์รวมของทุกคน คือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน หรือ เล่าเถียน) ผู้เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล เช่นเดียวกับ คุณป้ำ – ปวริศร์ โชติกเสถียร ผู้เป็นลูกหลานตระกูลโชติกเสถียร ในสายของพระวิทยุทูรลิขิต (ฮั่ง โชติกเสถียร) เเละเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของ พล.ต.ปริญญา ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการกองวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ รศ. ปรารมภ์รัตน์ โชติกเสถียร อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

ปวริศร์ โชติกเสถียร
คุณป้ำ – ปวริศร์ โชติกเสถียร

READ MORE: เปิดประวัติ 6 ‘นามสกุลพระราชทาน’ จากล้นเกล้า ‘รัชกาลที่ 6’

หากนับลำดับสายสกุลในครอบครัว   บุตรชายคนโตของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) คือพระยาทิพย์โกษา(หมาโต) มีศักดิ์เป็นคุณเทียดของคุณป้ำ ส่วนคุณทวดคือพระวิทยุทูรลิขิต (ฮั่ง) ไล่เรียงลงมาถึงคุณปู่ คุณเหิม โชติกเสถียร และคุณพ่อ พล.ต.ปริญญา โชติกเสถียร คุณป้ำจึงอยู่ในลำดับชั้นที่ 6 

ปวริศร์ โชติกเสถียร
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) ต้นตระกูล โชติกเสถียร

ปัจจุบัน คุณป้ำ – ปวริศร์ โชติกเสถียร เป็น Project Manager ที่ True Digital Group และดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ต้องเรียกว่าสืบทอดสายเลือดกันมาอย่างแท้จริง เพราะเรื่องราวความสามารถของคุณทวดของคุณป้ำนั้นก็มีเส้นทางมาจาก วิศวกรรม เช่นเดียวกัน

ในวัยเด็กพระยาทิพย์โกษา (หมาโต) ซึ่งเป็นบิดาของคุณทวดฮั่ง ได้ฝากฝังลูกชายให้เป็น บุตรบุญธรรมของพระสุริยภักดี เด็กชายฮั่งจึงได้มีโอกาสเดินทางไปเรียนต่อที่ปีนังตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ ทำให้พูดภาษามลายูได้คล่อง พอๆกับภาษาอังกฤษ

และต่อมาได้ไปศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล ที่มหาวิทยาลัยแฮนโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี เมื่อเรียนจบกลับมา ได้เข้ารับราชการในกองช่างเหล็ก กรมทหารเรือฝ่ายบก เติบโตในหน้าที่การงาน จนได้รับพระราชทานยศเป็นนายนาวาเอก พระวิทยุทูรลิขิต เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุโทรเลข จึงได้ย้ายไปสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลข และเข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ 

ปวริศร์ โชติกเสถียร
ท่านผู้หญิงสุ่น โชติกเสถียร

“ความชอบด้านงานวิศวกรรมนั้นถ่ายทอดมาถึงรุ่นคุณพ่อและรุ่นผมด้วย คุณพ่อของผมจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์  ตั้งแต่เด็กผมจะเห็นคุณพ่อซ่อมแซมของใช้ในบ้านเอง บางครั้งผมก็จะเป็นลูกมือช่วยท่าน การได้ลงมือทำเองทำให้ได้ความรู้ เข้าใจการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ผมจึงเลือกศึกษาด้าน Mechatronics Engineering ซึ่งเป็นวิศวกรรมเครื่องกลและไฟฟ้าควบคู่กันไป โดยเรียนทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ที่ De Montfort University เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ” คุณป้ำกล่าว 

“ครอบครัว โชติกเสถียร มีลูกหลานหลายคนที่รับราชการ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ตัวผมเองถึงแม้จะทำงานบริษัทเอกชน แต่ก็ยังมีโอกาสที่ได้เข้าไปร่วมงานเป็นเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านโทรคมนาคมหรือ ICT (Information and Communication Technology)” 

คณะผู้รอรับเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป พ.ศ. 2440

คำสอนเเละความภาคภูมิใจของครอบครัวใหญ่ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านรุ่นสู่รุ่น เเละได้มาถึงรุ่นของ ‘คุณป้ำ’ ในที่สุด นั้นก็คือ

“การเป็นลูกหลานตระกูลโชติกเสถียรเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน ตั้งแต่เด็กพวกเราจะได้รับการปลูกฝัง ให้นึกถึงต้นตระกูลและบรรพบุรุษทุกท่าน คุณงามความดีที่ท่านได้ทำให้กับประเทศชาติ ลูกหลานอย่างรุ่นผมส่วนใหญ่จะทราบประวัติความเป็นมาของตระกูลเราแทบทุกคน เพียงแต่จะรู้ละเอียดมากหรือน้อยแตกต่างกัน ผมเองตอนเด็ก ๆ เป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ก็จะเข้าไปค้นหาข้อมูลเรื่องราวของบรรพบุรุษ

แต่ที่สำคัญ นอกเหนือจากการศึกษาเกี่ยวกับประวัติของตระกูล ผู้ใหญ่จะสอนให้เรามีความขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี คิดดีทำดี รักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลอย่าให้เสื่อมเสีย ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ อีกเรื่องที่ย้ำเสมอในหมู่ญาติคือ ให้รักและสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” 

เจ้าจอมน้อมในรัชกาลที่5 เป็นลูกของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี

“จากที่รวบรวมกันล่าสุดน่าจะมีจำนวนเครือญาติใน ตระกูลโชติกเสถียร มากกว่า 500 คน เพราะถึงแม้ว่าในประวัติศาสตร์จะระบุว่า พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) มีลูก 5 คน แต่อันที่จริงแล้วท่านมีลูก 11 คน นอกจากนี้ พระยาทิพย์โกษา (หมาโต) ยังเคยอยู่ในคณะข้าหลวงผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ได้ไปประจำการอยู่ที่ภูเก็ต ทำให้สายตระกูลขยายออกไปในจังหวัดนั้นด้วย

ปัจจุบันเราพยายามรวบรวมให้ญาติๆในตระกูลได้มาพบกัน เช่นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ครอบครัวเราจะทำพิธีไหว้บรรพบุรุษคือพระยาโชฎึกฯ ที่วัดมังกรกมลาวาส ซึ่งเป็นวัดที่ท่านริเริ่มให้ก่อสร้าง ส่วนในสายของผม คือสายพระวิทยุทูรลิขิต ก็จะนัดพี่น้องลูกหลานมาเจอกันเป็นประจำทุกปี สำหรับการรวมญาติทุกๆสายจะจัดประมาณทุก 3 ปี ให้ลูกหลานสายต่างๆได้มาพบปะสังสรรค์กัน ตอนนี้ก็กำลังเตรียมงานรวมญาติครั้งใหญ่ ซึ่งจะจัดประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นกิจกรรมที่ผมชอบมาก ได้กราบญาติผู้ใหญ่ที่เคารพหลายๆท่าน ได้พบพี่ๆน้องๆ หลานรุ่นเล็กๆ เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและสนุกสนานมากครับ” 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.