Home > Celebrity > Exclusive Interviews > เคล็ดลับการเลี้ยงลูกของ ‘คุณหมอรวงข้าว’ กับความตั้งใจปลูกฝังวินัยและความคิดบวกให้ลูกแฝดแต่วัยเยาว์

ถ้าพูดถึงอาชีพแพทย์ ไม่ว่าจะสายไหนก็แสดงถึงความยุ่ง และการทำงาน ตารางเวลาที่ไม่เป็นเวลาแทบจะทั้งสิ้น สำหรับคุณหมอคนสวยอย่าง ‘แพทย์หญิงคัมภีราภรณ์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อหมอรวงข้าว’ แห่ง Lovely Eye & Skin Clinic ก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงเก่งผู้สนุกสนานกับการทำงานในห้องผ่าตัดตั้งแต่ยามเช้าจรดหัวค่ำ ทว่าวันหนึ่งเมื่อตัดสินใจแน่วแน่ที่จะสร้างเด็กคุณภาพให้กับสังคม เธอจึงวางแผนตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดในเวลาที่เหมาะเจาะราวสวรรค์สรรค์เสก ทั้งยังเจียดเวลาศึกษาโหราศาสตร์เพื่อออกแบบชื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้อย่างไพเราะ ร้อยเรียง และเปี่ยมด้วยความหมาย ทั้งคุณกฤษฎาพัฒน์ ผู้เป็นสามี น้องณภ-ณฏฐธนพ แฝดผู้พี่ และน้องภพจ์-ภพจ์ธรรม แฝดผู้น้อง 

น้องณภ-ณฏฐธนพ การุญญ์ (แฝดผู้พี่) และน้องภพจ์-ภพจ์ธรรม การุญญ์ (แฝดผู้น้อง)

ความสตรองของคุณแม่ลูกแฝด

คุณหมอรวงข้าว แห่ง Lovely Eye & Skin Clinic เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวเริ่มแรกเมื่อเธอและสามีตัดสินใจมีลูก หลังพบว่าชีวิตสำเร็จตามเป้าหมายทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลบิดามารดา ธุรกิจความงาม และความสุขในชีวิตสมรส “หมออยากมีลูกเมื่อตอนอายุ 35 ค่ะ เลยใช้วิธี IVF ฝากไข่ไว้ก่อนแล้วค่อยผสม พอตรวจโครโมโซมดันได้ตัวอ่อนเพศชาย 2 ตัว เลยใช้ทั้งคู่ เพราะหมออยากทำรอบเดียว เนื่องจากมีคิวงานยาวต่อเนื่อง ปรากฏว่าฝังตัวสำเร็จทั้งสอง เขาจึงเหมือนเป็นพี่น้องที่ได้มาเกิดพร้อมกันค่ะ

“ช่วงไตรมาสแรก หมอนั่งรถเข็นและสามีเข็นให้ตลอด (ยิ้ม) บันไดก็ไม่ขึ้นค่ะ เพราะลูกมีโอกาสหลุด หมอต้องหยุดทุกกิจกรรมหนัก ยกเว้นทำงาน เพราะปกติหมอนั่งผ่าตัดอยู่แล้ว ส่วนอาหารการกิน อาศัยงดแป้งที่เป็นกลูเตน กับน้ำนมที่มีแลคโตสค่ะ เพราะพอท้อง ร่างกายเขาเกิดต่อต้านขึ้นมา หมอเลยปวดท้อง คลื่นไส้ ใครมีอาการนี้ ลองเปลี่ยนอาหารดูค่ะ” 

แม้จะดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แต่หนึ่งเดือนก่อนกำหนดคลอด คุณหมอก็ต้องพบกับวิกฤติที่ไม่คาดคิด “ท้องเสียจนเกิดภาวะเลือดออกค่ะ ตกใจมาก แพทย์ต้องสั่งยาที่ป้องกันไม่ไห้มดลูกบีบตัว เพราะตอนนั้นท้องหมอขยายใหญ่มาก กลับมาบ้านเลยต้องนอนอยู่บนเตียงนิ่งๆ เหมือนสองสัปดาห์แรกที่ฝังตัวอ่อน ทานข้าวบนเตียง แปรงฟันก็บนเตียงค่ะ” 

ความเหมือนอันแตกต่าง

“เพื่อนเตือนแล้วค่ะว่าเลี้ยงลูกแฝดน่ะเหนื่อยมาก ซึ่งพอคลอดก็เหนื่อยสองเท่าจริงๆ ค่ะ อย่างคนหนึ่งร้อง อีกคนจะร้องตามทันที เขาง่วงพร้อมกัน ตื่นพร้อมกัน หิวพร้อมกัน หรือการให้นม ช่วงแรกๆ ให้เข้าเต้าพร้อมกันสองข้าง แต่หลังจากหนึ่งเดือน หมอต้องกลับมาทำงานจึงใช้วิธีปั๊มนมให้ดื่มทุกวันตลอดหนึ่งปี ส่วนตอนกลางคืนสามีจะช่วยดูแลค่ะ เพราะตอนกลางวันหมอต้องใช้สมาธิสูงในการผ่าตัด ไม่สามารถอดหลับอดนอนได้” เธอเล่าก่อนเสริมเคล็ดลับว่า “หมอเองเคยเข้าใจผิดว่าต้องซื้อของ 2 ชิ้นที่เหมือนกันให้ลูกแฝด จากที่ได้ซื้อของเหมือนกัน 2 ชิ้น หมอพบว่าถ้าเขาอยากได้ของอีกคน เขาก็จะแย่งอยู่ดี ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อของให้เหมือนกันเป๊ะ ใช้วิธีค่อยๆ สอนเขาแทน ถ้าแย่งของกันค่ะ 

น้องณภ-ณฏฐธนพ การุญญ์ (แฝดผู้พี่)

“ตอนนี้สองคนเขาเคยชินกับการที่ต้องอยู่ด้วยกันค่ะ ถ้าคนหนึ่งไม่อยู่ เขาจะมองหา หรือถ้าใครคนหนึ่งร้อง เขาจะเดินมาดูด้วยความเป็นห่วง บางครั้งถ้าน้องไม่ยอมดื่มนม พี่ก็เข้ามาถือขวดนมช่วยป้อนให้ค่ะ” คุณหมอเล่าเสียเห็นภาพชวนซึ้ง “พี่ณภคนโตจะมี    ความตั้งใจในการทำอะไรสูงมากเหมือนแม่ พยายามทำด้วยตัวเอง ไม่อยากให้พ่อแม่ช่วย ส่วนน้องภพจ์คนเล็ก ทำอะไรทีจะพินิจพิเคราะห์ เหมือนได้ความละเอียดจากแม่ไปค่ะ” เธอยิ้มพลางวิเคราะห์

น้องภพจ์-ภพจ์ธรรม การุญญ์ (แฝดผู้น้อง)

รากฐานแห่งสัจธรรม

หากถามถึงการวางแผนอนาคตให้ลูก คุณหมอเผยว่า “อยากให้ลูกรู้จักสังคมและรูปแบบของชีวิตที่หลากหลาย ไม่อยากให้ลูกเห็นว่าสังคมที่เขาอยู่คือโลกทั้งใบ หมออยากให้เขารู้จักดิ้นรน จึงไม่ได้คิดว่าจะหยิบยื่นให้ทุกสิ่ง ลูกผู้ชายต้องมีความมุ่งมั่นและอุตสาหะในการลงมือทำอะไรเอง สิ่งนี้จะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วไม่บรรลุเป้าหมายก็ไม่ต้องผิดหวัง หมอจะปลูกฝังให้เขาเข้าใจในสัจธรรมว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นตามที่เราปรารถนาตลอด ส่วนเรื่องการศึกษา หมออยากให้ลูกเรียนอินเตอร์ฯ ในช่วงแรกของชีวิตนะคะ เพราะอายุน้อยๆ เหมาะกับการปลูกฝังเรื่องภาษา โตขึ้นค่อยเลือกเรียนตามแนวทางที่ลูกอยากเป็น เช่น ถ้าอยากเป็นหมอก็ต้องเข้าโรงเรียนที่เน้นวิชาการ หมอไม่ได้คาดหวังว่าต้องลูกๆ ต้องเรียนให้สูงที่สุด เอาแค่พอใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตก็เพียงพอแล้วค่ะ”  

คุณค่าของแม่คน

“พอมีลูกแล้วรู้เลยค่ะว่าพ่อแม่ของหมอเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน” คุณหมอปรารภ “อย่างเมื่อก่อนท่านเตือนด้วยความเป็นห่วง แต่เรากลับเถียง กลับรำคาญ ตอนนี้หมอเข้าใจแล้ว และกลายเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น มีเมตตาขึ้น ไม่ใช่เมตตาเฉพาะลูกของเรานะคะ เพราะเดี๋ยวนี้เวลาเห็นเด็กๆ ก็รู้สึกว่าทุกคนน่ารักไปหมด ที่สำคัญหมอ    ได้สัมผัสกับความสุขในรูปแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ถึงจะเหนื่อยแต่การมีลูกทำให้ชีวิตหมอมีความสุขมากขึ้นสุดๆ มองตาลูกทีไรมันอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก แม้ตอนนี้เขายังสื่อสารไม่ได้ แต่นัยน์ตาของลูกทั้งสองสามารถ   ส่งความรู้สึกถึงหมอได้โดยที่ไม่ต้องมีคำพูดใดๆ เลยค่ะ

“ตอนตั้งครรภ์ ปัญหาสุขภาพมันเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากคนแข็งแรงที่แทบไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ช่วงเดือนท้ายๆ ที่ท้องขยายสุดขีด ตัวบวมและหนักมากเดินแทบไม่ไหว นอนราบไม่ได้ มีอาการของกรดไหลย้อนจนเสียงแหบ การเป็นแม่คนจึงเป็นการให้ชีวิต และเป็นผู้ที่เสียสละอย่างถึงที่สุดค่ะ การเป็นแม่คือสิ่งประเสริฐ เพราะยากมากที่คนเราจะเกิดเป็นมนุษย์ และเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ ในอนาคตคงรู้สึกภาคภูมิใจ ถ้าหมอสามารถสร้างคนสองคนให้เป็นคนดีที่สังคมต้องการได้ ถือเป็นเส้นทางที่ท้าทายมาก หมอจึงพยายามเรียนรู้และอาศัยประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประชากรที่มีคุณภาพให้กับสังคมค่ะ” 

ติดตามเรื่องราวบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟทั้งหมดนี้ได้ใน

นิตยสาร HELLO! ปีที่ 15 ฉบับที่ 02  ประจำวันพฤหัสบดีที่ 06 กุมภาพันธ์ 2563

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com www.shop.burdathailand.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.